“บิ๊กตู่” ปรับลุค เลิกขาลอย อนาคต “ธรรมนัส” เสือเลือกถ้ำ

เป็นอีกหนึ่ง data สำคัญทางการเมืองที่ “บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี” คงต้องนำไปคิดพิจารณา กับการตัดสินใจอนาคตทางการเมืองในอนาคต 

หลังมีการเผยแพร่ผลสำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่เปิดเผยออกมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ก.ย.ที่ผ่านมา ที่สำรวจเรื่อง “นายกรัฐมนตรีกระชับอำนาจ” โดยสำรวจช่วง 13-16 ก.ย.จากกลุ่มตัวอย่าง 1,317 หน่วยตัวอย่าง 

โดยผลสำรวจดังกล่าว พบว่า เมื่อถามถึงการเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐของ พล.อ.ประยุทธ์ แทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 56.11 ระบุว่าไม่ควรเข้าไปยุ่งกับพรรคพลังประชารัฐเลย รองลงมา ร้อยละ 21.56 ระบุว่าไม่ต้องเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ แต่ต้องคุมพรรคได้และเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อ พล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวกับการตั้งพรรคของตนเองเพื่อเตรียมการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.24 ระบุว่าไม่เห็นด้วยเลย ส่วนเสียงที่เห็นด้วย มีแค่ ร้อยละ 19.97 

ก็เป็นอีกหนึ่งชุดข้อมูลที่ พลเอกประยุทธ์ คงนำไปใช้ประกอบการพิจารณาตัดสินใจทางการเมืองหลังจากนี้ ในช่วงที่อายุของรัฐบาลที่สอดรับกับอายุของสภาฯ ที่จะครบสี่ปี ในเดือนมีนาคม 2566 เท่ากับว่า ถึงไม่ยุบสภาฯ เสียก่อน อายุรัฐบาลก็เหลืออีกแค่ปีกว่าเท่านั้น ก็ต้องมีการเลือกตั้งแล้ว แต่สุ้มเสียงคนการเมืองแม้แต่ แกนนำพลังประชารัฐ ดูจะเชื่อว่า รัฐบาลไม่น่าจะอยู่ครบเทอม น่าจะมีการยุบสภาฯเกิดขึ้นก่อน 

ยิ่งมีการตั้งข้อสังเกตว่า ระยะหลัง พลเอกประยุทธ์ ลงพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 12 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยสมุทรปราการ ถือเป็นฐานเสียงใหญ่ของพลังประชารัฐในภาคกลาง เพราะได้ส.ส.มาเกือบยกจังหวัด ซึ่งพบว่า กลุ่ม อัศวเหม ที่คุมพื้นที่ปากน้ำ ก็ไม่ได้แสดงท่าทีจะย้ายออกจากพลังประชารัฐแต่อย่างใด หรือการลงพื้นที่ ชัยนาท เมื่อวันที่ 15 ก.ย โดยชัยนาท ก็คือ อีกหนึ่งจังหวัดที่พลังประชารัฐได้ส.ส.ยกจังหวัด ภายใต้การคุมทีมของ อนุชา นาคาศัย อดีตเลขาธิการพลังประชารัฐ หรือการไปชลบุรี เมื่อ17 ก.ย. ฐานที่มั่นหลักของ สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และไป สุโขทัย 22 ก.ย. ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของพลังประชารัฐในภาคเหนือตอนบน ของสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม 

ที่สำคัญพบว่าในการลงพื้นที่ พลเอกประยุทธ์กำชับให้ข้าราชการในพื้นที่ นำข้อคิดเห็น แนวนโยบายการบริหารจังหวัด ไปขับเคลื่อนในพื้นที่ด้วย ทั้งที่จากเดิมที่ พลเอกประยุทธ์ รักษาระยะห่างจากส.ส.-นักการเมืองค่อนข้างมาก  แต่ระยะหลัง พลเอกประยุทธ์กลับมีท่าทีเปลี่ยนไปมาก เหมือนกับต้องการปิดจุดอ่อนทางการเมืองในช่วงที่ผ่านมา ที่เป็น

“นายกฯขาลอย”

คือมีอำนาจเต็มในฝ่ายบริหาร แต่ไม่มีฐานการเมืองรองรับในสภาฯ ทำให้เสี่ยงต่อการตกเก้าอี้ได้ โดยเฉพาะหากถูกยื่นซักฟอก ที่บิ๊กตู่เห็นจุดอ่อนของตัวเองในเรื่องนี้แล้ว จากศึกซักฟอกรอบล่าสุด เลยพยายามแก้ไขอย่างที่เห็น ด้วยการปรับตัวเข้าหานักการเมือง-ส.ส.มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน ในการเป็นนายกฯสองรอบ 

นอกจากนี้ การที่พลเอกประยุทธ์ ลงพื้นที่ต่อเนื่องแบบนี้ ยิ่งทำให้ ถูกตีความทางการเมืองไปโดยปริยาย ว่า หรือนี้ คือสัญญาณการเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้า แม้ต่อให้ พลเอกประยุทธ์จะสื่อสารออกมาหลายรอบว่า รัฐบาลจะอยู่ครบเทอม ก็ตามที เพราะของแบบนี้ การเมืองเป็นเรื่องไม่แน่นอน หากสถานการณ์ไปถึงจุดหนึ่ง มีจุดเปลี่ยนเกิดขึ้น การยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่ มีผลดีต่อพลเอกประยุทธ์และเครือข่าย 3 ป.มากกว่า ก็เชื่อว่า พลเอกประยุทธ์คงตัดสินใจยุบสภาฯ ดีกว่าจะดันทุรังลากยาวหวังอยู่ให้ครบเทอม จนกลายเป็นว่า การลากยาว ยิ่งทำให้ คะแนนนิยมตกต่ำจนสายเกินแก้ 

อนาคตทางการเมืองของ พลเอกประยุทธ์ หลังจากนี้ ก็มีแค่สองทางเลือกเท่านั้น 

หนึ่ง เล่นการเมืองต่อ และเป็นแคนดิเดท นายกรัฐมนตรี หรือคนที่พลังประชารัฐ จะชูเป็นนายกฯในการเลือกตั้งรอบหน้า 

สอง พลเอกประยุทธ์ วางมือทางการเมือง เพราะอย่างน้อย หากลากยาวไปได้ถึง ก่อนเปิดสภาฯ กลางปีหน้า แล้วยุบสภาฯ ก็เท่ากับ พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯมาแล้วแปดปีเต็ม แต่หากลากต่อไปอีกสักระยะ เช่นถึงปลายปีหน้า ก็เท่ากับเกินแปดปี ถือว่าเป็นนายกฯนานกว่าพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ อดีตประธานองคมนตรีเสียอีก การตัดสินใจของพลเอกประยุทธ์ ใน “ทางสองแพร่ง” ไม่ว่าออกสูตรไหน ล้วนมีผลต่อองคาพยพพรรคพลังประชารัฐทั้งสิ้น 

เช่น หากตัดสินใจเล่นการเมืองต่อ หวังจะกลับมาเป็นนายกฯ ต่อหลังเลือกตั้งรอบหน้า พลเอกประยุทธ์ ก็ต้องคิดแล้วว่า จะทำตัวเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ตอนนั้นเป็นทั้งหัวหน้าคสช.และนายกฯ แล้วรอให้ พลังประชารัฐ ส่งเทียบเชิญไปเป็นแคนดิเดทนายกฯ ตอนใกล้ๆ จะส่งชื่อให้กกต. แต่ในยุคปัจจุบัน พลเอกประยุทธ์ ไม่สามารถทำแบบนั้นได้อีกแล้ว เพราะสถานการณ์เปลี่ยนไปจากเดิมมาก โดยเฉพาะคะแนนนิยมของพลเอกประยุทธ์ ไม่แรงเหมือนเมื่อตอนปี 2562 อีกแล้ว 

อีกทั้งหลายกลุ่มการเมืองในพลังประชารัฐ คงไม่ยอม ให้บิ๊กตู่ เล่นบทดึงเกม รอแล้วรอเล่า ไม่ยอมบอกเสียทีว่าจะเล่นการเมืองต่อหรือไม่ เพราะกลุ่มการเมืองในพลังประชารัฐ ก็มองออกว่า หากพลเอกประยุทธ์ ไม่เล่นการเมืองต่อ พลังประชารัฐ ก็ “ขาดหัว”ในการชูคนเป็นผู้นำ-แคนดิเดทนายกรัฐมนตรี เพราะพลเอกประยุทธ์ คือจุดขายสำคัญของพลังประชารัฐในการเลือกตั้ง เพราะ ส.ส.หลายคน ได้เข้าสภาฯ ก็เพราะ “กระแสหนุนลุงตู่” เช่น กรุงเทพมหานครที่มีส.ส.เขต 12 คน ทั้งหมดล้วนเข้าสภาฯได้เพราะกระแสพลเอกประยุทธ์ทั้งสิ้น ถึงต่อให้ วันนี้ กระแสลุงตู่ จะตกลงไป แต่ก็ยังถือว่าขายได้อยู่ ยิ่งเมื่อเหลียวมอง คนในพลังประชารัฐ ยามนี้ ก็ยิ่งเห็นชัด ว่า หาคนที่พลังประชารัฐจะชูขึ้นมาเป็นแคนดิเดทนายกฯ ไม่เจอเลยสักคน 

ดังนั้น หากเลือกตั้งรอบหน้า พลเอกประยุทธ์ วางมือ  พลังประชารัฐ สะเทือนแน่ หลายกลุ่มในพลังประชารัฐ อาจคิดแยกวง ก็ได้ 

เพราะขนาดตอนนี้ ก็ยังเริ่มมีกระแสข่าว “พรรคไทยสร้างไทย” ของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กำลังตามจีบ ส.ส.กทม.บางคนที่คุ้นเคยกันดี เพราะเคยอยู่เพื่อไทยกับเจ๊หน่อยมาก่อนสมัยส.ส.กทม.พลังประชารัฐที่เริ่มมีกระแสข่าว เคยเป็นนักการเมืองท้องถิ่นของเพื่อไทย หลังมีข่าวส.ส.กทม.พลังประชารัฐ เริ่มคิดหนัก หากรอบหน้า บิ๊กตู่ ไม่เล่นการเมืองต่อ กลุ่มส.ส.กทม.พลังประชารัฐ อาจลำบาก เพราะไม่มีจุดขายไปหาเสียง 

ขณะเดียวกัน มองอีกด้าน หากพลเอกประยุทธ์ ยังเล่นการเมืองต่อ และจะเป็นแคนดิเดทนายกฯของพลังประชารัฐ ย่อมทำให้ “กลุ่มธรรมนัส พรหมเผ่า” ต้องคิดหนักเช่นกัน ว่าจะอยู่พลังประชารัฐต่อไปหรือไม่ เพราะหากพลเอกประยุทธ์ ยังเล่นการเมืองต่อ และอาจถึงขั้นเข้ามามีบทบาทในพลังประชารัฐมากขึ้น มันก็ย่อมทำให้ ธรรมนัส ที่ถูกบิ๊กตู่ ปลดออกจากครม. ย่อมอยู่ในพลังประชารัฐแบบอึดอัดใจกับการอยู่เป็นเลขาธิการพรรค เป็นขุนพลหลักให้พลังประชารัฐสู้ศึกเลือกตั้ง โดยที่มีความไม่ลงรอยอยู่กับพลเอกประยุทธ์อยู่ ถ้าเป็นแบบนั้น เท่ากับ ธรรมนัส ก็ต้องสู้แบบ 

“เหนื่อยฟรี-ควักเงินฟรี”

เพราะหากยังเคลียร์ใจกับพลเอกประยุทธ์ไม่ได้ มันก็ไม่มีหลักประกันว่า สู้ไปแล้ว หลังเลือกตั้ง จะได้กลับมาเป็น “รัฐมนตรี” หรือไม่ 

แล้วแบบนี้ ธรรมนัส จะยอมเหนื่อยฟรีไปเพื่ออะไร สู้ออกไปอยู่กับพรรคการเมืองอื่นเช่นกลับไปอยู่กับพรรคเพื่อไทยอีกครั้ง หรือไปตั้งพรรคใหม่ แม้รู้ดีว่า หากใช้บัตรสองใบ โอกาสที่พรรคตั้งใหม่ จะแจ้งเกิดได้ โดยเฉพาะในช่วงเวลาอีกไม่ถึงสองปี มันยากมาก แต่ ธรรมนัส ก็อาจต้องยอม ดีกว่าจะอยู่เป็นเลขาธิการพลังประชารัฐ แบบไม่มีอนาคต แถมเหนื่อยฟรี สู้ให้คนอื่น แล้วตัวเองไม่ได้อะไรตอบแทน ดังนั้น ที่ธรรมนัส บอกว่า จะอยู่กับพลังประชารัฐต่อ มันก็แค่คำพูดในตอนนี้ ถึงเวลาจริงๆ เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ธรรมนัส ย่อมเปลี่ยนใจและหารังใหม่อยู่แน่นอน 

สถานะและเส้นทางของ “กลุ่มธรรมนัส” จะมีทิศทางอย่างไร มีการมองกันว่า เบื้องต้นต้องรอดูการประชุมสัมมนาใหญ่พรรคพลังประชารัฐ ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ ที่ข่าวว่า อาจจะจัดกันที่หาดชะอำ หากช่วงดังกล่าว บิ๊กตู่ สร้างเซอร์ไพรส์ ไปร่วมงานด้วย แล้วมีการสานสัมพันธ์ที่ดีกับกลุ่มธรรมนัส ก็อาจทำให้ ธรรมนัส มั่นใจในการอยู่พลังประชารัฐต่อไป หรือแม้พลเอกประยุทธ์ไม่ไป แต่ในงานสัมมนาดังกล่าว  ถ้า ธรรมนัส ยังแสดงท่าที อยู่กับพลังประชารัฐ ต่อไป ไม่มีอะไรค้างคาในใจ มันก็น่าจะทำให้เห็นทิศทางบางอย่างได้ 

หลังหลายคนเชื่อว่ายามนี้  “บิ๊กตู่-ธรรมนัส” เหมือนเสือสองตัว ที่อยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้ แต่เสืออย่างธรรมนัส ก็ยังเป็นขุนพลหลัก ข้างกายของ พลเอกประวิตร ที่ยังต้องอาศัย มือทำงานอย่าง ธรรมนัส คอยกรุยทาง ให้พลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้งรอบหน้าเพื่อให้ 3 ป.ยังอยู่ในอำนาจได้ต่อไปอีกยาวๆ 

แสดงความเห็น