“เศรษฐพงค์” เผย “ECSTAR” ต่อยอดร่วม มทร. อีสาน หนุนกิจการอวกาศให้เป็นรูปธรรม 

“เศรษฐพงค์” เผย “ECSTAR” ต่อยอดร่วมกับ สถาบันวิจัย ISAGT และ ICCSD มทร. อีสาน “ศตคุณ” คณบดี เห็นพ้องหนุนกิจการอวกาศให้เป็นรูปธรรม เร่งศึกษาปัญหาสภาวะอากาศแก้ปัญหา Climate change 

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ และประธานคณะกรรมการศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) สถาบันการบินและอวกาศ (AASA) วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากเมื่อครั้งที่ตนเองทำงานในฐานะคณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) ซึ่งได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน(มทร.อีสาน) ดำเนินโครงการจัดตั้งสถาบันวิจัยเพื่อการบูรณาการเทคโนโลยีอวกาศ อากาศและภาคพื้นดิน (ISAGT) และสถาบันวิจัยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (ICCSD) เพื่อให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และกิจการอวกาศในประเทศไทยอย่างเป็นรูปธรรม และเพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง ตนเองได้ประสานไปยัง มทร อีสาน เพื่อขับเคลื่อนสถาบันวิจัยทั้งสองให้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ต่อไป

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ทั้งนี้ช่วงที่ผ่านมาตนได้ประสานโดยตรงกับ ผศ.ดร.ศตคุณ เดชพันธ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี มทร.อีสาน โดยท่านคณบดีฯเห็นว่าสิ่งที่เราได้เริ่มต้นมา จะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้นหากมีการสานต่อภารกิจอย่างต่อเนื่อง และจะเชิญ พ.อ.ผศ.ดร.ทวิวัชร วีระแกล้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านกิจการอวกาศ และมีเครือข่ายระดับนานาชาติ มีความรู้ในด้านการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กเข้ามาเป็นที่ปรึกษาของ ISAGT และ ICCSD เพื่อวางแนวทางด้านโครงการด้านอวกาศและประยุกต์ใช้งานได้อย่างเป็นรูปธรรม

ด้าน ผศ.ดร.ศตคุณ กล่าวว่า การศึกษาการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ และเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคม ถือเป็นประโยชน์ประเทศ เพราะจะเป็นการสร้างการเรียนรู้ให้กับนักศึกษาเพื่อต่อยอดสู่การทำงาน ยกระดับความรู้ด้านเทคโนโลยีไปพัฒนาประเทศได้ และยังจะเป็นการสร้างบุคลากรที่มีความสามารถในการทำงาน เพื่อรองรับเศรษฐกิจด้านอวกาศในอนาคต รวมถึงการช่วยเหลือสังคม ซึ่งช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยต้องประสบกับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 ปัญหาไฟป่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ(Climate change) ดังนั้น ด้วยทรัพยากร บุคลากร การทำงานในลักษณะบูรณาการของสถาบันต่างๆข้างต้น เชื่อว่าเราจะมีแนวทางแก้ปัญหาระยะยาวให้กับเรื่องนี้ได้ และ พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ได้หารือกับตนเองแล้ว เห็นว่า สจล และ มทร อีสาน ควรริเริ่มการวิจัยและพัฒนาร่วมกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติตนจึงเห็นว่า พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ ควรจะมาช่วยบริหารสถาบัน ISAGT ในตำแหน่งผู้อำนวยการ เพื่อประสานความร่วมมือกับ ECSTAR เพื่อร่วมมือกัน วางแนวทางการดำเนินงานต่างๆ ให้เป็นรูปธรรมชัดเจน เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติมากที่สุด

แสดงความเห็น