เศรษฐพงค์ ชี้ ระบบไอทีรัฐสภาต้องบูรณาการ Physical-Information เข้ากับยุค-ปลอดภัย

กมธ.ดีอีเอส แนะ เตรียมประยุกต์ใช้ Iot- AI ช่วยงาน พร้อมปรับปรุงโครงข่ายการสื่อสารให้มีประสิทธิภาพ รองรับการประชุมยุค New Normal 

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า ระบบไอทีในรัฐสภาในความเป็นจริงควรมองระบบรักษาความปลอดภัยของสภาในภาพรวมคือทั้งที่เป็น Physical และ Information โดยสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงในเรื่องของความปลอดภัยซึ่งในส่วนของ information คือ 1. ความลับ (Confidentiality) 2.ความสมบูรณ์(Integrity) 3.ความพร้อมในการใช้งาน(Availability) และ 4.ความเป็นเอกภาพ(Unity) รวมถึงความสำคัญและความท้าทายที่การทำงานของระบบความปลอดภัยของข้อมูลในรัฐสภาที่กำลังดำเนินการอยู่คือ BCP (Business Continuity Plan) หรือ DRP (Disaster Recovery Plan) และระบบข้อมูลของรัฐสภามีความสำคัญระดับประเทศจึงจำเป็นต้องมีแผนจัดเก็บข้อมูลสำรองในมาตรฐานที่ดีและปลอดภัยพร้อมดำเนินการได้ทันทีที่ระบบหลักล่มหรือเกิดปัญหา

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นที่ควรต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษคือ ความต่อเนื่องในการดำเนินโครงการติดตั้งระบบไอทีของรัฐสภา การบูรณาการของระบบในภาพรวมทั้ง Physical และ Information ถ้าไม่ได้มีการบูรณาการไว้ตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบระบบ ควรต้องจัดตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อศึกษาระบบทั้งสองเข้าด้วยกัน ส่วนระบบฐานข้อมูลของรัฐสภา ควรออกแบบให้มีการสอบทานและสามารถจัดการข้อมูลที่ไม่เหมาะสมได้ ซึ่งข้อมูลของรัฐสภาเป็นข้อมูลสำคัญและมีผลต่อระบบการบริหารประเทศ  ด้านระบบอำนวยความสะดวก เป็นอีกระบบที่ต้องผูกเข้ากับระบบไอทีในภาพรวม และถ้าจะให้ดีควรประยุกต์ใช้ระบบตรวจจับ ที่สามารถส่งข้อมูลต่าง ๆ เข้าระบบเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ได้ทันท่วงที และควรมีระบบความปลอดภัยที่สามารถตรวจติดตามบุคคลได้อย่างแม่นยำและรวดเร็ว ควรใช้ Cloud Based System เพื่อประหยัดและมีความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการ  

 “ในระยะอันใกล้ควรมีการประยุกต์ใช้ Iot และ AI  เข้ามาช่วยในการดำเนินงาน นอกจากนี้ เทคโนโลยี 5G เป็นสิ่งที่รัฐสภาควรให้ความสนใจและให้ความสำคัญในการนำมาประยุกต์ หรือปรับปรุงทั้งในเรื่องของ การติดต่อสื่อสาร การสร้างโครงข่ายเฉพาะ เพื่อการบริหารความปลอดภัย และเป็นช่องทางในการติดต่อเฉพาะกลุ่มได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัยสูง รวมทั้งระบบที่รองรับ New Normal ของการประชุมโดยเฉพาะการประชุม กมธ. ต่าง ๆ ที่มีหลายคณะ การดำเนินการให้สามารถมีการจัดประชุมร่วมกับการประชุมออนไลน์ และระบบ Teleconference ได้จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างมาก ซึ่งโครงสร้างพื้นฐาน ต้องเป็นการผสมผสานระหว่าง Wireline และ Wireless เพื่อความเหมาะสมทั้งในด้านการใช้งานและ Capacity ที่ต้องรองรับการใช้งาน โครงข่ายลักษณะนี้อาจเรียกว่า Fixed Mobile Network เช่น 5G-fixed Mobile Convergence” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น