รมว.ยุติธรรม ตั้งอนุกรรมการตรวจสอบเรื่องคนสูญหายทั่วประเทศ โดยมี ‘กรวัชร์’ มือสางคดีบิลลี่ เป็นประธาน
การประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯเป็นประธานการประชุม เพื่อพิจารณากระทู้ถามสด โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ตั้งกระทู้ถาม พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กรณีนายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ หรือต้าร์ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวไทยที่หายตัวไปจากที่พักในกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พร้อมระบุว่า ในวันที่ 4 มิถุนายน มีการลักพาตัว เป็นชายชุดดำพกอาวุธปืน 3 คนหน้าคอนโดซึ่งเป็นที่พักอาศัยของนายวันเฉลิม แม้จะเป็นผู้ลี้ภัย แต่นายวันเฉลิมก็เป็นคนไทย รัฐบาลมีหน้าที่คุ้มครองคนไทย แต่เมื่อมีสื่อมวลชนไปสอบถามกับรัฐบาล ทุกคนกลับตีมึน ไม่กระตือรือร้นที่จะทำหน้าที่ปกป้องชาวไทย
“เปรียบเสมือนลาแก่ที่นอนแน่นิ่งไม่รู้ร้อนรู้หนาว ต้องรอให้เอาแซ่มาฟาด เอาน้ำร้อนมาสาด ให้สังคมกดดัน ถึงจะสะดุ้งลุกขึ้นมาบอกกับสื่อมวลชนว่าประสานกับทางกัมพูชาแล้ว ฟังถึงตรงนี้ ก็เหมือนว่า รัฐบาลได้ทำหน้าที่แล้ว แต่สิ่งที่นำไปสู่คำถามคือ ก่อนที่จะมีกรณีของนายวันเฉลิม มีการอุ้มหาย นับตั้งแต่พล.อ.ประยุทธ์เข้าสู่อำนาจ 9 รายด้วยกัน ในจำนวนนี้ 7 ราย ไม่ทราบชะตากรรม ขณะที่ 2 ราย เรามารู้ เพราะธรรมชาตินำร่างของเขามาเกยฝั่ง และมีการอำพรางศพ ซึ่งไม่เคยได้ทราบความจริงว่าเกิดอะไรขึ้น เงียบหาย นำมาซึ่งความละอายใจของรัฐบาล” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ กล่าวว่า ตนจึงขอถามรัฐบาลว่า คดีการอุ้มหายในยุคของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ทั้ง 9 คดี มีรายละเอียดความคืบหน้าของแต่ละคดีเป็นอย่างไรบ้าง เพราะเหตุใดไม่รู้ผู้ก่อเหตุว่าคือใคร และชะตากรรมของผู้ถูกอุ้มหายนั้นเป็นอย่างไร และจะมีมาตรการดำเนินการในคดีนายวันเฉลิมอย่างไร เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยคดีที่ผ่านมา ตลอดจนฝ่ายความมั่นคง มองว่า นายวันเฉลิม มีสถานะบทบาทเกี่ยวข้องกับการเมืองไทยอย่างไร เหตุใดจึงมีข้อหาหมิ่นสถาบัน ม.112
จากนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้ตอบกระทู้แทน โดยระบุว่า กรณีของนายวันเฉลิมมีความเกี่ยวพันกับต่างประเทศ ซึ่งกัมพูชาได้แจ้งมาให้ทราบว่า กระทรวงต่างประเทศและรัฐบาลกัมพูชา ยังไม่ยืนยันในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะมาตอบเรื่องความสัมพันธ์กับต่างประเทศ แต่กระทรวงยุติธรรม ยืนยันว่า นายวันเฉลิมไม่เคยขอรับความช่วยเหลือจากส่วนงานของกระทรวงยุติธรรม ดังนั้น เรื่องดังกล่าวจึงต้องเดินหน้าไปตามกลไกกฎหมายและระเบียบที่กระทรวงยุติธรรมได้วางไว้
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า มีส่วนหนึ่งที่ตนคิดว่าน่าสนใจคือ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการกระทำให้บุคคลสูญหาย เป็นเรื่องที่กระทรวงยุติธรรมให้ความสนใจ และเชื่อว่า นายรังสิมันต์ก็ให้ความสนใจในกฎหมายฉบับนี้เช่นกัน หลังจากที่รัฐบาลได้ถวายสัตย์ปฏิญาณและแถลงนโยบาย ซึ่งตนได้รับรองกฎหมายฉบับนี้เข้าสู่ ครม. แต่ขั้นตอนของการดำเนินการกลับพบอุปสรรคที่ไม่สามารถทำให้กฎหมายดังกล่าวดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว นั่นคือ รัฐธรรมนูญมาตรา 77 ที่กำหนดหลักเกณฑ์และการจัดทำร่างกฎหมาย รวมถึงการประเมินผลสัมฤทธิ์ของร่างกฎหมาย ดังนั้น จึงต้องนำร่างกฎหมายกลับมาดำเนินการให้ครบทุกขั้นตอน ซึ่งอาจต้องทำประชาพิจารณ์อีกหลายครั้ง และได้นำร่างกฎหมายกลับเข้าสู่ ครม.อีกครั้งแล้วเมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา ดังนั้น ก็จะเห็นว่า รัฐบาลมีความตั้งใจจริงที่จะให้กฎหมายดังกล่าวได้ใช้ประโยชน์ และเห็นเจตนารมณ์ที่จะดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม
นายสมศักดิ์ ย้ำว่า ความคืบหน้าในคดีต่างๆนั้น นายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยจึงได้ออกคำสั่งพิเศษ เรื่องแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ กรณีถูกกระทำทรมานและทำให้สูญหาย โดยมีตนเองเป็นประธาน
“ล่าสุด ผมได้ตั้งคณะอนุกรรมการเรียบร้อยแล้ว มีคณะอนุกรรมการคัดกรองและคณะอนุกรรมการติดตามเรื่องราวร้องทุกข์ทั่วประเทศ โดยมี พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร ว่าที่อธิบดีดีเอสไอที่ท่านทั้งหลายรู้ในนามผู้ทำคดีของนายพอละจี รักจงเจริญ หรือ บิลลี่ แกนนำนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นประธาน ซึ่งถือเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือและตรงไปตรงมา ส่วนรายละเอียดอื่นๆเช่น เราได้รายงานไปยังยูเอ็นในปี 2560 เรามีปริมาณจำนวนคดีผู้สูญหายต่างๆ 87 ราย ขณะนี้เราได้ดำเนินการจัดการไปแล้วเหลือ 75 ราย” นายสมศักดิ์ กล่าว
ส่วนกรณีผู้สูญหาย 8 รายที่นายรังสิมันต์กล่าวถึงนั้น นายสมศักดิ์ ระบุว่า อยู่ระหว่างการติดตามในคณะอนุติดตามของดีเอสไอ ซึ่งดำเนินการอยู่ หากสมาชิกต้องการทราบรายละเอียด ตนยินดีจะช่วยประสานดูรายละเอียดที่ลึกกว่านี้ที่กระทรวงยุติธรรม
สำหรับกรณีบุคคลถูกอุ้มหายในต่างประเทศ นายสมศักดิ์ ระบุว่า เป็นกรณีที่ไม่ปกติ เพราะไม่มีใครสามารถทราบข่าวต่อกรณีที่เกิดเหตุ และไม่สามารถดำเนินการสืบสวนสอบสวนตามบนอำนาจอธิปไตยของประเทศอื่น สิ่งที่ทำได้คือ ต้องการร้องเรียนประสานงานโดยผ่านกระทรวงการต่างประเทศ