ไทยสร้างไทย ลงพื้นที่ช่วย “นรุตม์ชัย”หาเสียง บอก ไทยไม่ครบ 32 กาเบอร์ 32 จะช่วยแก้ปัญหา 

“แคนดิเดตนายกฯไทยสร้างไทย” ลงพื้นที่ช่วย “นรุตม์ชัย”หาเสียง “สุพันธุ์” จี้ ขณะนี้ประเทศไม่ครบ 32 พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 32 จะช่วยแก้ปัญหา ชี้ รอยสักไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดให้เกิดการเลือกปฎิบัติได้ “นรุตม์ชัย” เดินหน้าผลักดันการสักเป็นซอฟต์พาวเวอร์ สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ ชู เป็นผู้สมัครคนเดียวที่เคลื่อนเรื่องนี้ 

นายนรุตม์ชัย บุนนาค ผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา บางคอแหลม กทม. พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 6 เมษายน ที่ผ่านมา นายสุพันธุ์ มงคลสุธี พร้อมด้วย น.ต.ศิธา ทิวารี แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคไทยสร้างไทย ได้ลงพื้นที่วัดจรรยาวาส และตลาดบ้านใหม่เขตบางคอแหลม เพื่อปราศรัยช่วยตนเองในฐานะผู้สมัคร ส.ส.เขตยานนาวา บางคอแหลม กทม. พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 11 ร่วมทั้งมีดร.ธวัชชัย ปิยนนทยา ผู้สมัคร ส.ส.เขตปทุมวัน-ราชเทวี-สาธร เบอร์ 8 และแกนนำพรรคไทยสร้างไทย ร่วมด้วย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความคึกคัก มีพี่น้องประชาชนเข้าร่วมจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่ ยังได้ให้การตอบรับนโยบายของพรรคไทยสร้างไทย เพราะมองว่า สามารถขับเคลื่อนได้จริง และเห็นผลเป็นรูปธรรม

ทั้งนี้ นายสุพันธุ์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ ได้รับทราบปัญหาของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ ที่มีผลกระทบด้านปากท้องโดยตรงของประชาชน เพราะทุกวันนี้ มีปัญหาทั้งหนี้ครัวเรือน และหนี้สาธารณะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากตนมองว่า รัฐบาล ใช้งบประมาณไม่ถูกจุด ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหาสะสม เช่น ที่ตนได้รับเสียงสะท้อน มีประชาชน ต้องยอมกู้หนี้นอกระบบ ที่มีดอกเบี้ยแพงถึงร้อยละ 20% เพื่อเติมสภาพคล่องทางการเงิน ให้สามารถประกอบอาชีพต่อได้ โดยพรรคไทยสร้างไทย เข้าใจปัญหา จึงออกนโยบายกองทุนเครดิตประชาชนเพื่อคนตัวเล็ก ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้ 5,000-50,000 บาท โดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน รวมถึงยังมีนโยบายพักใช้กฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการทำมาหากิน ให้กับพี่น้องประชน นอกจากนี้ ตนมองว่า ขณะนี้ ประเทศไทย ไม่ครบ 32 ดังนั้น พรรคไทยสร้างไทย เบอร์ 32 จะเข้ามาช่วยแก้ปัญหา ตาม 32 นโยบาย 

นายสุพันธุ์ กล่าวอีกว่า ส่วนเรื่องที่นายนรุตม์ชัย ออกมาผลักดันเรื่องรอยสักเป็นซอฟต์พาวเวอร์ เพราะที่ผ่านมา ได้รับเสียงสะท้อนว่า คนที่สักมักถูกเลือกปฎิบัติ ทั้งที่จริงคนที่มีรอยสัก ก็เป็นผู้ที่มีความสามารถจำนวนมาก เช่น นายนรุตม์ชัย ถึงแม้จะมีรอยสัก แต่ก็เป็นคนที่มีความรู้ความสามารถ เรียนก็เก่ง จบกฎหมายมาจากเมืองนอก ซึ่งสะท้อนว่า รอยสักไม่สามารถเป็นตัวชี้วัดให้เกิดการเลือกปฏิบัติได้ 

ขณะที่ นายนรุตม์ชัย กล่าวว่า เรื่องแนวคิดผลักดันเรื่องรอยสักเป็นซอฟต์พาวเวอร์นั้น เนื่องจากปัจจุบันมีการเปิดรับค่อนข้างมากแล้ว เพราะโลกปัจจุบันได้เปิดกว้างแล้ว ตนจึงอยากเป็นตัวแทน ในการทำความเข้าใจกับผู้ที่ยังไม่เข้าใจ จนผู้ที่ชื่นชอบรอยสักถูกเลือกปฎิบัติ รวมถึงวงการสัก ก็ถูกแช่แข็ง ไม่ได้ถูกส่งเสริมไปต่างประเทศ ซึ่งตนเป็นผู้สมัครคนเดียวที่ผลักดันเรื่องนี้ เพราะเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงตนเป็นนักกฎหมาย จึงเห็นแนวทางที่จะช่วยส่งสริมสร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ โดยจากการที่ตนออกมานำเสนอเรื่องนี้ และเป็นผู้ที่ชื่นชอบรอยสัก ก็สามารถทำให้พี่น้องประชาชนในเขตยานนาวา-บางคอแหลม สามารถจดจำตนได้ 

“ผมเป็นผู้สมัคร ส.ส. ที่มีรอยสักเต็มตัว เพราะชอบศิลปะ ซึ่งสักมาตั้งแต่อายุ 18 ปี โดยที่ผ่านมา ก็เคยถูกดูถูกเหยียดหยามจากสังคมที่ไม่ได้เข้าใจ แต่วันนี้พิสูจน์แล้วว่า แม้จะมีรอยสักก็เรียนจบ และทำงานช่วยพี่น้องประชาชนได้ ผมจึงอยากเป็นตัวแทนของคนที่มีรอยสักว่า การมีรอยสักไม่เกี่ยวกับการเป็นคนดีหรือไม่ดี แต่ในทางกลับกัน การสักเป็นศิลปะของไทย ที่สามารถผลักดันให้เป็นจุดขายไปต่างประเทศได้ โดยถ้าผมได้รับความไว้วางใจจากพี่น้องประชาชน จะเข้าไปผลักดันเรื่องนี้ให้เป็นนโยบายอย่างแน่นอน” นายนรุตม์ชัย กล่าว

นายนรุตม์ชัย กล่าวอีกว่า ตนได้เติบโตมาพร้อมกับปู่ มารุต บุนนาค อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยได้เห็นปู่ทำงานลงพื้นที่ตลอดเวลา จนเป็นแรงบันดาลใจให้ตัวเองไปเรียนกฎหมาย เพื่อเอาความรู้มาช่วยเหลือคน และมีเป้าหมายที่จะช่วยเหลือคนไทยให้มากขึ้น จึงเป็นเหตุผลให้เข้ามาทำงานการเมือง และยึดคำพูดของปู่ที่บอกว่า “ถ้ายังดูแลคนในเขตไม่ได้ ก็ดูแลคนทั้งประเทศไม่ได้” ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ทำงานลงพื้นที่หาเสียงอย่างต่อเนื่อง ส่วนที่เลือกพรรคไทยสร้างไทย เพราะเห็นว่านโยบายของคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ มีความเชื่อมโยง ดูแลประชาชนตั้งแต่เกิดจนแก่ และพรรคนี้ทำแล้วค่อยพูด เช่น นโยบายบำนาญประชาชน พรรคยังไม่มี ส.ส. ในสภา แต่ยื่นร่างกฎหมายเข้าไปในสภาแล้ว รอเพียงแค่ให้มี ส.ส. เข้าไปผลักดันกฎหมายให้สำเร็จ ไม่เหมือนอย่างบางพรรคการเมือง ที่เป็นรัฐบาลแล้วไม่ทำตามที่หาเสียง โดยอ้างสารพัดเหตุผล

แสดงความเห็น