มติ 5 ต่อ 4 “บิ๊กตู่” อาจร่วง พปชร.ลำบาก หากไร้แผนสำรอง   

ฉากทัศน์การเมืองไทยต่อจากนี้ไป ทุกบริบทของความเคลื่อนไหวจะถูกรวมศูนย์ไว้ที่

“คดีแปดปีพลเอกประยุทธ์”

เป็นหลัก เพราะชะตากรรมการเมืองของบิ๊กตู่ ยามนี้ ต้องถือว่า 

“ลูกผีลูกคน”

สุ่มเสี่ยงสูง จะตกจากเก้าอี้นายกฯ !

หลังศาลรัฐธรรมนูญ รับคำร้องคดีแปดปีพลเอกประยุทธ์ไว้วินิจฉัยพร้อมกับ มีมติเสียงข้างมาก 5 ต่อ 4 สั่งให้ พลเอกประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่ามีคำวินิจฉัย 

อันหมายถึงว่า ตุลาการเสียงข้างมากห้าเสียงที่ประกอบด้วย ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ , นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ , นภดล เทพพิทักษ์ , วิรุฬห์ แสงเทียน และจิรนิติ หะวานนท์ ที่ใช้หลักตามรัฐธรรมนูญมาตรา  82 วรรคสอง ที่ระบุว่า 

“เมื่อศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณาหากปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้องให้ศาลมีคําสั่งให้ผู้ถูกร้องหยุดปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคําวินิจฉัย”            

นั่นหมายถึง ตุลาการเสียงข้างมากเห็นว่า คำร้องคดีนี้ พลเอกประยุทธ์ “ปรากฏเหตุอันควรสงสัยว่าผู้ถูกร้องมีกรณีตามที่ถูกร้อง คือเป็นนายกฯไม่ได้หลัง 24 สิงหาคม 2565” จึงให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน 

แต่ขอบอกไว้ สุดท้าย ก็ไม่ได้หมายถึงว่า ทั้งห้าเสียง ตอนลงมติ จะลงมติว่า ให้พลเอกประยุทธ์หลุดจากตำแหน่งนายกฯเสมอไป เพราะไม่แน่ ถึงตอนลงมติที่ได้พิจารณาองค์ประกอบทั้งหมดของการสู้คดีจนครบหมดแล้ว ทั้งห้าเสียง ก็อาจแปรเปลี่ยนมาลงมติให้พลเอกประยุทธ์ ได้เป็นนายกฯต่อก็ได้ เพราะการลงมติให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้มีผลผูกพันมาถึงตอนลงมติตัดสินคดี

เช่นเดียวกับ ตุลาการเสียงข้างน้อยสี่เสียง ที่ลงมติไม่ให้พลเอกประยุทธ์หยุดปฏิบัติหน้าที่คือ วรวิทย์ กังศศิเทียม ประธานศาลรัฐธรรมนูญ , ปัญญา อุดชาชน , อุดม สิทธิวิรัชธรรม และ บรรจงศักดิ์ วงศ์ปราชญ์ ก็ยังสามารถมาลงมติ ให้พลเอกประยุทธ์หลุดจากนายกฯได้เช่นกัน 

ของแบบนี้ ต้องลุ้นกันแบบยกต่อยก รูปเกม ผลตัดสินคดี บอกเลยว่าจับทางยาก ที่เห็นตอนนี้ ถึงยกสุดท้าย ผลออกมาอาจไม่เป็นอย่างที่คาดการณ์ 

แต่แน่นอนว่า ในทางการเมืองและในทางจิตวิทยา การที่พลเอกประยุทธ์ ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ด้วยมติฉิวเฉียด 5 ต่อ 4 มันก็เป็น “ลางไม่ดี” พอสมควรสำหรับพลเอกประยุทธ์และแฟนคลับลุงตู่ แต่กระนั้น 

เมื่อสงครามยังไม่จบ อย่าเพิ่งคิดว่า พลเอกประยุทธ์ ไม่รอด

เพราะยังมีเส้นทางให้สู้คดีได้อยู่ เช่นการส่งข้อโต้แย้งชี้แจงข้อกล่าวหา ของพลเอกประยุทธ์ในฐานะผู้ถูกร้อง ที่ก็เปิดช่องให้ ทีมที่ปรึกษากฎหมายทั้งของส่วนตัวและจากทำเนียบรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ ยังสามารถจะพลิกเกมได้หากสามารถเขียนข้อโต้แย้งต่างๆ ได้อย่างดี 

ซึ่งประเด็นสำคัญ คงไม่พ้น การต้องโต้แย้งว่า บันทึกการประชุมของกรธ.ในตอนยกร่างมาตรา 158 เรื่องเป็นนายกฯได้ไม่เกินแปดปี ที่ฝ่ายค้านใช้เป็นหลักฐานสำคัญในการหวังสอยพลเอกประยุทธ์ กับคำพูดของมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.และสุพจน์ ไข่มุกด์ อดีตกรธ. ที่ให้นับย้อนหลังการเป็นนายกฯก่อนประกาศใช้รธน.ฉบับปี 2560 

ทางทีมกฎหมายของพลเอกประยุทธ์ต้องแย้งให้ได้ว่า บันทึกการประชุมดังกล่าว ไม่ให้นับรวมการเป็นนายกฯก่อนปี 2560 ของพลเอกประยุทธ์อย่างไร เช่น อาจโต้แย้งว่า ไม่ใช่มติของที่ประชุมกรธ. หรือเป็นแค่ความเห็นส่วนตัว ของกรธ.บางส่วนที่เจ้าหน้าที่ฝ่ายเลขาฯ จดบันทึกไว้แต่จริงๆ แล้วยังมีกรธ.อีกหลายคน ที่แสดงความเห็นว่า ไม่ให้นับย้อนหลัง แต่ให้นับหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญหรือนับหลังจากเลือกตั้งครั้งแรก โดยมีเอกสารหรือพยานอ้างอิงได้ รวมถึงแม้แต่อ้างชื่อพยานในที่ประชุม เพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญ ทำหนังสือสอบถามอย่างเป็นทางการ

บนเป้าหมายคือ เพื่อหักล้างบันทึกการประชุมดังกล่าว ถ้าทำได้แบบนี้ ก็มีโอกาสที่ ฝ่ายพลเอกประยุทธ์จะพลิกสถานการณ์ได้ เป็นต้น 

แฟนคลับกองเชียร์ลุงตู่ ที่ตอนนี้อาจใจไม่ค่อยดี หลังอาจไม่ได้เห็น พลเอกประยุทธ์บ่อยครั้งขึ้นหลังจากนี้ เพราะแม้พลเอกประยุทธ์ยังมีสถานะเป็นรมว.กลาโหม ได้อยู่ แต่เชื่อว่า พลเอกประยุทธ์ ก็คงเลี่ยงที่จะให้สัมภาษณ์หรือปรากฏตัวบ่อยครั้งแบบตอนเป็นนายกฯ แต่ก็คงรอกันอีกไม่นาน เพราะยังไง คดีนี้ ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินจบเร็วแน่นอน 

และอีกหนึ่งกลุ่มที่กำลังคิดหนักก็คือ พวกบิ๊กๆการเมืองและส.ส.พลังประชารัฐ ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า หลายคน ใจคอไม่ดีตามไปด้วย หากบิ๊กตู่ ไม่รอด

โดยเฉพาะพวกส.ส.เขต ที่เข้ามาได้เพราะกระแสลุงตู่ โดยเฉพาะพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคใต้ แม้บางพื้นที่ เช่นกทม. ตอนนี้ กระแสพลเอกประยุทธ์ไม่แรงเหมือนตอนปี 2562 แต่เมื่อพลังประชารัฐ ไม่มีจุดขายในนามพรรค เพราะจะไปชูพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ตอนหาเสียงก็คงไม่ได้ แต่หากพลเอกประยุทธ์ยังลงได้ต่อ โดยชูผลงานรัฐบาลที่โดนใจประชาชนเช่น โครงการคนละครึ่ง -การก่อสร้างระบบคมนาคมต่างๆ  ยังไง ก็ยังทำให้พอมีจุดขายได้บ้าง ไม่อย่างนั้น กทม.ระส่ำแน่ เผลอๆ อาจสูญพันธุ์เลยยังได้ 

ก็เหมือนกับภาคใต้เช่นกัน หากพลังประชารัฐ ไม่มีพลเอกประยุทธ์เป็นจุดขาย ก็ลำบาก เพราะส่วนใหญ่คนใต้ยังชื่นชอบพลเอกประยุทธ์อยู่ แต่หากไม่มีพลเอกประยุทธ์ ส.ส.ภาคใต้พลังประชารัฐ ที่เคยได้ 13 คน ก็โคม่าแน่นอน เพราะตอนนี้คู่แข่งไม่ได้มีแค่ ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย แต่ยังมีทั้ง พรรครวมไทยสร้างชาติ -สร้างอนาคตไทย-ไทยสร้างไทย มาคอยตัดคะแนนอีก 

ทำให้เป็นไปได้ที่พวกส.ส.เขต-ว่าที่ผู้สมัครส.ส.เขต กทม.และภาคใต้ของพลังประชารัฐรวมถึงอีกหลายจังหวัด ที่ได้เข้ามาเป็นส.ส.เพราะกระแสพลเอกประยุทธ์ อาจต้องคิดหนักแล้วว่า จะอยู่พลังประชารัฐต่อไป หรือจะย้ายพรรค 

รวมถึงแม้แต่แกนนำพลังประชารัฐกลุ่มต่างๆ ก็ต้องเริ่มคิดหนักเช่นกันว่า เมื่อพลังประชารัฐ ที่ตอนนี้กระแสก็ไม่ดี แถมหากพลเอกประยุทธ์ไม่รอด หรือแม้แต่ว่ารอด แต่ศาลรธน.วินิจฉัยให้นับอายุการเป็นนายกฯหลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อเมษายน 2560 ก็เท่ากับว่า พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯมาแล้วห้าปี หากเลือกตั้งปีหน้า 2566 ก็เท่ากับเหลือเวลาเป็นนายกฯแค่สองปี

ถ้าออกมาแบบนี้ ไม่เป็นผลดีแน่นอน เพราะจะทำให้เสียเปรียบพรรคอื่นตอนหาเสียง ที่พรรคอื่นชูแคนดิเดตนายกฯพรรคตัวเองได้ว่า เป็นนายกฯสี่ปี แต่พลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯได้แค่สองปี ที่อาจทำให้การตัดสินใจของประชาชน มองว่าควรเลือกนายกฯที่ทำงานได้สี่ปีจะดีกว่าเพื่อให้งานต่อเนื่อง มากกว่า ที่จะเป็นพลเอกประยุทธ์ที่เหลือแค่สองปี 

ทำให้ถึงตอนนี้ พลังประชารัฐ คงอยู่นิ่งไม่ได้ ภายนอกแม้บอกว่า ขอรอดูผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่จะออกมา แต่เชื่อได้ว่า ระดับแกนนำพรรค ต้องเริ่มคิดเรื่อง “แผนสำรอง” ไว้บ้างแล้ว ทั้งกรณี หากพลเอกประยุทธ์ หลุดจากนายกฯ จะทำอย่างไร จะให้พลเอกประวิตร ในฐานะนายกฯรักษาการยุบสภาฯ หรือจะให้ มีการเลือกนายกฯคนใหม่ในช่วง 8 เดือนที่เหลืออยู่ของสภาฯ เพื่อให้มีนายกฯตัวจริง มารับหน้าเสื่อตอนไทยเป็นเจ้าภาพประชุมเอเปกเดือนพ.ย. ปีนี้ 

แผนสำรองของพลังประชารัฐ -บิ๊กป้อมและกลุ่มต่างๆ ในพลังประชารัฐ หากพลเอกประยุทธ์ไม่รอด เชื่อว่า มีแน่ เผลอๆ ทิ้งไพ่ออกมา ตะลึงกันทั้งประเทศ 

แสดงความเห็น