ปฏิ “ลวง”สีกากี ร่าง พ.ร.บ.ตำรวจฯ รอมาห้าปี สุดท้าย ไปไม่สุด   

คิวการประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณา “ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ” ของที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 9-10 มิ.ย.นี้แนวโน้มเป็นไปได้สูงแล้วที่รัฐสภา จะพิจารณาไม่แล้วเสร็จในช่วงสองวันดังกล่าว

เพราะนอกจากเนื้อหาที่มีมากถึง 172 มาตรา โดยที่กรรมาธิการโดยเฉพาะเสียงข้างน้อยมีการขอสงวนความเห็นในหลายมาตรา เรียกได้ว่าแทบจะทุกมาตรา ผนวกกับ ก็มีสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ได้เป็นกรรมาธิการ ได้ยื่นขอสงวนความเห็นเพื่อแปรญัตติอีกจำนวนไม่น้อย  

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้มีแนวโน้มการพิจารณาวาระสองและวาระสามเพื่อลงมติ จะต้องยื้อไปพิจารณาต่อในการประชุมรัฐสภาสัปดาห์ถัดไป 16-17 มิ.ย.

ส่วนการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.และร่างพ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่จะพิจารณาวาระสอง  ก็จะขยับไปเป็น 23-24 มิ.ย. หรืออาจเร็วขึ้นไปกว่านั้น คือ 17 มิ.ย. หากพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติเสร็จช่วง 16 มิ.ย. 

สำหรับการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ของรัฐสภา ที่มีวิรัช รัตนเศรษฐ จากพลังประชารัฐ เป็นประธาน แต่ต่อมา วิรัช ถูกศาลฎีกาฯ สั่งให้หยุดพักการปฏิบัติหน้าที่จากคดีทุจริตการจัดสรรงบประมาณก่อสร้างสนามฟุตซอลโรงเรียนในจังหวัดนครราชสีมา ทำให้ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม-อดีตรองผบ.ตร. เลยขึ้นมาคุมบังเหียนคุมการยกร่างทั้งหมด ซึ่งใช้เวลาในการพิจารณาร่วม 1 ปี 5 เดือน ถือเป็นการพิจารณาร่างกฎหมายที่ใช้เวลานานมากฉบับหนึ่ง ที่สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเป็นการยกร่างกฎหมายขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับไม่ใช่การแก้ไขเพิ่มเติม เพียงแต่ก็ยึดตัวพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฯ ฉบับที่ใช้ปัจจุบันไว้เป็นหลักด้วย 

สำหรับสาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ต้องยอมรับว่า เนื้อหาส่วนใหญ่ เป็นเรื่องเกี่ยวกับ “วงการสีกากี” ล้วนๆ คือเป็นเรื่องการบริหารงานภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่มีข้าราชการตำรวจร่วมสองแสนกว่าคนทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดวางระบบการบริหารงานภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ -กองบัญชาการต่างๆ แต่ที่หลายคนสนใจก็คือเรื่อง การวางกฎเกณฑ์ที่มีความชัดเจนมากขึ้นในเรื่อง “การแต่งตั้งโยกย้าย” เพื่อสกัดการวิ่งเต้น-การซื้อขายเก้าอี้ -พวกถือตั๋วพิเศษในการขอข้ามหัวคนอื่นเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่ดีกว่าและสูงกว่า

ที่พบว่า เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ มีการวางหลักเกณฑ์-กฎเหล็กไว้หลายเรื่อง เพื่อทำให้ การแต่งตั้งโยกย้ายมีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนขึ้น เช่น หลักอาวุโส-การอยู่ในตำแหน่งปัจจุบันก่อนพิจารณาเลื่อนขั้น ที่เขียนหลักไว้เพื่อป้องกันการใช้ข้ออ้างเรื่อง “ความเหมาะสม” มาพาสชั้นตำรวจบางคนที่เป็นเด็กนาย-คนของนักการเมืองและพวกถือตั๋ววีไอพี  แล้วผู้บังคับบัญชาหรือแม้แต่กรรมการข้าราชการตำรวจหรือ ก.ตร. ที่ได้ “โผคุณขอมา” แล้วมาแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจก็ลงมติเห็นชอบ รายชื่อที่ส่งโผมาให้ จนทำให้มีการข้ามหัว อาวุโส หรือพาสชั้นแบบไม่เหมาะสม ค้านสายตาตำรวจทั่วประเทศ  โดยอ้างว่า ต้องข้ามอาวุโสเพราะมีความเหมาะสม ที่เป็นเหตุผลซึ่งมักอ้างกันมาตลอด 

ซึ่งในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก็มีการวางหลักไว้ในเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย ที่ดีกว่าระบบปัจจุบันบ้างเล็กน้อย เช่น การให้กรรมการก.ตร. มีสัดส่วนที่ฝ่ายการเมืองจะไปล็อบบี้ได้ ให้เหลือน้อยลงโดยเฉพาะพวกข้าราชการประจำระดับสูง ปลัดกระทรวง ที่ยังไง ก็ไม่กล้าขัดคำสั่งนายกฯหรือโผคุณขอมาอยู่มา แล้วไปเพิ่มสัดส่วนของก.ตร.ที่มาจากผู้บริหารระดับสูงในสำนักงานตำรวจแห่งชาติให้มากขึ้นรวมถึงเพิ่มสัดส่วนอดีตข้าราชการตำรวจที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของตำรวจทั่วประเทศ 

โดยอดีตตำรวจที่จะได้รับเลือกเป็นก.ตร. ก็ต้องเป็นคนที่ตำรวจด้วยกันเองเห็นว่า สามารถเป็นหลักประกันได้ว่าหากเข้ามาเป็นก.ตร.แล้วจะมีความเป็นธรรม มีความเที่ยงตรงในการเห็นชอบบัญชีแต่งตั้งโยกย้าย หากชื่อไหนเห็นว่า ไม่เหมาะสม ไม่สมควรจะเลื่อนขั้น ก็พร้อมจะทัดทานอย่างถึงที่สุด รวมถึงในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ยังมีการวางหลักเกณฑ์เรื่องระยะเวลาการครองตำแหน่งในการพิจารณาเลื่อนขั้น แต่งตั้งโยกย้าย ที่ชัดเจน โดยนำมาไว้ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ แทนที่จะไว้เป็นกฎก.ตร. แบบที่ใช้อยู่ตอนนี้ แม้พบว่าจะเขียนไว้ในบทเฉพาะกาล ก็ตาม 

ส่วนในภาพใหญ่ นอกเหนือจากเรื่องการวางระบบโครงสร้างการแต่งตั้งโยกย้าย การบริหารงานภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก็มีการเขียนให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดใหม่สองชุด ที่ไม่เคยมีมาก่อนจนถึงปัจจุบัน นั่นก็คือ “คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ” (กร.ตร.) ที่กรรมาธิการบอกว่า จะเป็นกรรมการซึ่งสร้างหลักความเป็นธรรมให้กับประชาชนในการติดตามตรวจสอบการทำงานตลอดจนความประพฤติของตำรวจ ไม่ให้ออกนอกลู่นอกรอย โดยการทำงานของกรรมการจะมีความเป็นอิสระ เพราะประกอบด้วย กรรมการที่มาจากหน่วยงานภายนอก และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก เข้ามาทำหน้าที่พิจารณาตัดสินเรื่องร้องเรียนตำรวจ ที่จะทำหน้าที่แทนที่สำนักงานจเรตำรวจที่จะเป็นเพียงหน่วยงานภายใน ซึ่งยังไง ก็อาจเกิดกรณี “ช่วยเหลือกันเอง” ได้ 

ทำให้ ประชาชนมีหลักประกันได้ว่า หากพบตำรวจที่ไม่ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา ก็สามารถร้องเรียนกับกรรมการชุดนี้ได้โดยตรง และผลการชี้ขาดของกรรมการให้ถือเป็นที่สุด ผู้บังคับบัญชา ไม่สามารถช่วยเหลือได้ เช่นหากกรรมการมีมติว่า ตำรวจที่ถูกร้องเรียนทุจริต ประพฤติมิชอบ ให้ลงโทษโดยให้ออกจากราชการ เมื่อส่งเรื่องไปที่ผู้บังคับบัญชา-กองบัญชาการต้นสังกัด ต้องดำเนินการทันที จะมาช่วยเหลือ ลดโทษให้ไม่ได้ และจะมาตั้งกรรมการสอบใหม่ไม่ได้ ยกเว้นมีหลักฐานใหม่  เปรียบไปก็เหมือนกับเป็น ป.ป.ช.ภาคตำรวจดีๆนั่นเอง 

นอกจากนี้ ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก็ยังให้มีคณะกรรมการใหม่ขึ้นมาอีกหนึ่งคณะเพื่อเพิ่มความเป็นธรรมให้กับตำรวจ นั่นก็คือ “คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตํารวจ” หรือ ก.พ.ค.ตร. ที่มีผู้แทนหน่วยงานภายนอกและผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆ เข้ามาเป็นกรรมการ โดยกรรมการดังกล่าว จะทำหน้าที่แตกต่างจากก.ตร. คือ หากมีตำรวจรายใดเห็นว่า ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน ถูกผู้บังคับบัญชากลั่นแกล้ง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย ก็สามารถร้องไปที่ก.พ.ค.ตร.ได้ โดยก.พ.ค.ตร. จากนั้น กรรมการก็จะนำเรื่องมาพิจารณาและตรวจสอบ ที่ทำหน้าที่คล้ายๆ ศาลปกครองชั้นต้น และเมื่อผลคำตัดสินออกมาแล้ว เช่น บอกว่า การแต่งตั้งโยกย้ายทำโดยถูกต้องแล้ว แต่ผู้ร้องยังไม่พอใจคำตัดสิน ก็สามารถใช้สิทธิ์อุทธรณ์ไปยังศาลปกครองสูงสุดได้ 

จึงเท่ากับว่า ก.พ.ค. ตร. ก็เหมือนกับศาลปกครองกลาง ดีๆนั่นเอง เพราะปกติหากจะร้องศาลปกครอง กว่าจะไปถึงศาลปกครองสูงสุดได้ ต้องให้ศาลปกครองกลางตัดสินก่อน จึงทำให้ ก.พ.ค.ตร. จึงเป็นหลักประกันการทำงานของตำรวจได้เป็นอย่างดีว่าหลังจากนี้ จะได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งโยกย้าย เพราะหากมีการไปร้องเรียนแล้วก.พ.ค.ตร.ตัดสินออกมาว่า การแต่งตั้งโยกย้ายของคนที่ถูกร้องเรียนทำโดยมิชอบ ผู้บังคับบัญชาและก.ตร. ก็จะเสียหาย ถือว่าปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เสี่ยงจะโดนเอาผิดได้ จึงถือเป็นเรื่องดีที่จะทำให้ ตำรวจมีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น 

ในภาพรวมๆ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ก็ถือว่ามีจุดแข็ง เรื่องใหม่ๆ พอสมควร ที่จะทำให้การบริหารงานภายในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีหลักประกันเรื่องความโปร่งใสและความเป็นธรรมมากขึ้นในการแต่งตั้งโยกย้าย การบริหารงานภายใน ขณะเดียวกัน ประชาชน ก็มีหลักประกันมากขึ้นในการจะไปร้องเรียนว่าถูกปฏิบัติจากตำรวจอย่างไม่เป็นธรรม ก็สามารถร้องเรียนกับกรรมการร้องเรียนตำรวจฯ ที่มีความเป็นอิสระมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่ใช้ระบบ 

อย่างไรก็ตาม ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ฯฉบับที่รัฐสภาจะพิจารณา ก็พบว่ามีข้อด้อย ตรงที่ไม่แตะเรื่องหัวใจสำคัญของงานปฏิรูปตำรวจคือเรื่อง “ระบบงานสอบสวนคดีอาญา” ที่ถือเป็นเรื่องสำคัญของระบบงานยุติธรรม

เพราะในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่ส่งมาจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติและตามร่างของกรรมาธิการฯ ที่เขียนออกมา ไม่พูดถึงเรื่อง “แท่งงานสอบสวน” เพื่อให้แยกออกมาโดยตรง เช่นการให้มี กองบัญชาการงานสอบสวน หรือการให้สายงานสอบสวน เกิดขึ้นในโครงสร้างระดับสถานี-โรงพัก-กองบัญชาการแต่อย่างใด  

โดยมีข่าวว่า บิ๊กตำรวจในสำนักงานตำรวจแห่งชาติรวมถึงเสียงข้างมากในกรรมาธิการฯ ส่วนใหญ่ ไม่ค่อยเห็นด้วยกับการให้มีการเขียนเรื่อง แท่งงานสอบสวนแยกขึ้นมาโดยเฉพาะในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติฉบับนี้ ยิ่งกับความเห็นของบิ๊กสีกากีใน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่เป็นเจ้าภาพใหญ่ในร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติในฐานะหน่วยปฏิบัติด้วยแล้ว มีข่าวว่าได้คัดค้านเรื่องนี้อย่างมาก จึงทำให้ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่สังคมรอคอยมายาวนาน อย่างน้อยๆ ก็ร่วมห้าปี หลังรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2560 ประกาศใช้ แล้วมีการเขียนเรื่องให้มีการปฏิรูปตำรวจ และงานสอบสวนไว้ในด้วย สุดท้าย เรื่องยกเครื่องระบบงานสอบสวน จึงไม่เกิดขึ้นตามร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ 

ส่วนครั้นจะรอให้มีการผลักดัน “ร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา” ที่กรรมการยกร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจชุดมีชัย ฤชุพันธุ์ เคยยกร่างไว้แต่ถูกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คัดค้าน จนทำให้ ครม.ไม่ยอมส่งร่างดังกล่าวให้รัฐสภาพิจารณา

ประเมินแล้ว คงยากที่ครม.จะส่งร่างสอบสวนคดีอาญาไปให้รัฐสภา และถึงส่งไปหลังจากนี้ ก็คงไม่ทัน กับช่วงเวลาที่เหลืออยู่ของสภาฯ ชุดปัจจุบันที่เหลืออีกแค่ประมาณเก้าเดือน ยิ่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ คัดค้านหัวชนฝา ไม่เอาด้วยกับการแยกงานสอบสวนออกมา โดยเฉพาะการให้ “อัยการเข้าไปมีส่วนร่วมสอบสวนคดีอาญา” ในคดีสำคัญ ที่ตำรวจต้านสุดตัว จึงทำให้ การผลักดันร่างพ.ร.บ.สอบสวนคดีอาญา ให้ออกมาเป็นกฎหมาย น่าจะใช้เวลาอีกนานพอสมควรและเผลอๆ อาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ 

ด้วยเหตุนี้ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ ที่รอคอยกันมาหลายปี แม้จะมีข้อดี จุดเด่น หลายเรื่อง แต่เมื่อไม่แตะ-ไม่มีการเขียนถึงเรื่องงานสอบสวน การปฏิรูปงานสอบสวนคดีอาญา มันก็เลยทำให้ การปฏิรูปสีกากี ผ่านร่างพ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ รอบนี้ มันเลยเยี่ยวไม่สุด ได้แค่ครึ่งๆ กลางๆ ของความพยายามปฏิรูปตำรวจ ที่พบว่าหลายคนก็บ่นผิดหวังกันไม่น้อย จนส่งเสียงกันว่า ที่รอคอยกันมา สุดท้ายก็ได้แค่นี้ 

แสดงความเห็น