“เศรษฐพงค์” นั่งประธานอนุกมธ.อวกาศ ดึงกูรูร่วมวางโรดแม็ปพัฒนา “TECH PARK”

“เศรษฐพงค์” นั่งประธานอนุกมธ.อวกาศ ดึงกูรูร่วมวางโรดแม็ปพัฒนา “TECH PARK” สอดรับโครงการ EEC เตรียมพร้อมหนุนกิจการอวกาศ พัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ในการประชุม กมธ.ดีอีเอส เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง โดยมีตนเป็นประธาน พร้อมได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิด้านต่างๆเข้าร่วมในคณะอนุกรรมาธิการฯชุดนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านดาวเทียม ด้านเทคโนโลยี 5G/6G และผู้เชี่ยวชาญด้าน Data Center อาทิ นายมนตรี วิบูลยรัตน์ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง นายประพัฒน์ รัฐเลิศกานต์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แพลนเน็ต คอมมิวนิเคชั่น เอเชีย จำกัด (มหาชน) ที่มีความเชี่ยวชาญ ด้านการออกแบบและวางแผนการพัฒนาโครงการศูนย์นวัตกรรมดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูง ร.ท.เจษฎา ศิวรักษ์ หัวหน้าฝ่ายรัฐกิจและธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 5G/6G เป็นต้น พร้อมทั้งได้เชิญ นายชาญวิทย์ มุนิกานนท์ ประธานบริหารสถาบันการบินเอเซีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการบิน มาเป็นที่ปรึกษาของคณะอนุกรรมาธิการฯ อีกด้วย

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า คณะอนุกมธ.ชุดนี้ จะมีภารกิจสำคัญในการระดมความรู้ ความคิดจากผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ นำเสนอเป็นโรดแม็ป (Roadmap) เพื่อพัฒนาพื้นที่ให้เกิดเป็น TECH PARK ซึ่งจะสอดคล้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC) โดยจะต้องมีการนำเสนอ Roadmap การสร้างเมืองที่ให้เกิดนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความมั่นคง เพื่อให้สามารถดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลกเข้ามาลงทุนตั้งศูนย์ R&D และศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์ ที่มากกว่าเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั่วไปที่เคยมีการพูดถึงกันมากว่า 10 ปีแล้ว

นอกจากนี้ ยังเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อผลักดันการพัฒนาระบบนิเวศน์ของอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยให้มีศักยภาพมากยิ่งขึ้น อาทิ การสร้างอุปกรณ์และแอปพลิคชันที่เกี่ยวเนื่องกับภาครับส่งและโครงข่ายภาคพื้นดินอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ beyond 5G ที่เชื่อมต่อด้วยโครงข่ายดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO) การออกแบบพื้นที่เพื่อให้เกิดการคิดค้นและการพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมแห่งอนาคต (Future network)จากบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์และเครือข่ายชั้นนำระดับโลก การวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต ไม่ว่าจะเป็น EV หรือระบบขับเคลื่อนด้วยตัวเอง (Self-driving vehicle) เป็นต้น

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ภายในTech Park จะต้องให้บริการระบบโทรเวชกรรม (Telemedicine) อย่างสมบูรณ์แบบ มีระบบ Data Center ที่ทันสมัยที่สุด มีเทคโนโลยีจัดการอากาศและน้ำสะอาดที่ทันสมัย ซึ่งการทำงานของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ จะก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อประเทศไทยที่จะต้องก้าวไปสู่การแข่งขันในโลกแห่งปัญญาประดิษฐ์ ไปจนถึงกิจการอวกาศที่กำลังจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยผลลัพธ์ของคณะอนุกรรมาธิการชุดนี้ จะสามารถนำไปใช้เพื่อวางแผนให้เกิดการสร้างพื้นที่ของ EEC ได้อย่างเป็นรูปธรรม

แสดงความเห็น