นายกชาย-พิพัฒน์ มวยถูกคู่ เดชอิศม์ ลุ้นเสียบ “มท.2”

นับถอยหลังเตรียมใกล้อำลาปีเก่า 2564 เข้าสู่ปี 2565 หากนับจากนี้ไปถึงเดือนมีนาคมปีหน้า ก็เท่ากับสภาฯชุดปัจจุบันอยู่มาครบสามปี ก็เหลืออีกแค่หนึ่งปี สภาฯก็หมดวาระต้องเลือกตั้งกันใหม่ อันนี้คือกรณีสภาฯอยู่ครบเทอมสี่ปี แต่วงการการเมืองยังมองว่า อาจเกิดเหตุผันแปรทำให้สภาฯอยู่ไม่ครบเทอมเกิดการยุบสภาฯที่อาจเกิดขึ้นก่อนอภิปรายไม่ไว้วางใจกลางปีหน้า 

ขณะที่การเดินหน้าแก้ไขกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญสองฉบับคือพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.และพ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ก็ใกล้งวดเข้ามาทุกที  ตามคิวดูแล้ว ที่ประชุมรัฐสภาน่าจะพิจารณาในวาระแรกได้ในช่วงกลางเดือนม.ค.ปีหน้าและทุกอย่างน่าจะแล้วเสร็จในช่วงเปิดประชุมสภาฯสมัยหน้า  

ด้วยเหตุนี้ หลายพรรคการเมืองทั้งพรรคการเมืองปัจจุบันและพรรคตั้งใหม่ ที่เปิดตัวแล้วและกำลังรอเปิดตัวจึงเคลื่อนไหวกันอย่างคึกคักเพื่อ “ปรับทัพ-จัดทัพ” เตรียมพร้อมทำศึกเลือกตั้ง ไม่ว่าจะกรณีสภาฯอยู่ครบเทอมหรือมีการยุบสภาฯเกิดขึ้นปีหน้า โดยมีจังหวะคั่นกลางคือเลือกตั้งซ่อม “ชุมพร-สงขลา” ให้บางพรรคเช่น ประชาธิปัตย์ พลังประชารัฐ พรรคกล้า ได้อุ่นเครื่องไปก่อนถึงคิวลงสนามใหญ่เลือกตั้งทั่วประเทศ 

การจัดทัพดังกล่าว หากโฟกัสเอาเฉพาะ “สองพรรคร่วมรัฐบาล”ในเวลานี้ คือ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” จะพบความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่ใช่น้อย โดยเฉพาะกับการจัดทัพของทั้งภูมิใจไทย(ภท.)และประชาธิปัตย์(ปชป.)ในการเตรียมการเลือกตั้งใน “พื้นที่ภาคใต้” ซึ่งหลังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพิ่มจำนวนส.ส.เขตจากเดิม 350 คนเป็น 400 คน ทำให้ภาคใต้จากที่เลือกตั้งปี 2562 มีส.ส.เขต 50 คน ก็จะเพิ่มขึ้นเป็น 57 คน 

ซึ่งเดิมการแข่งขันในภาคใต้ตอนเลือกตั้งปี2562 ก็ดุเดือดเข้มข้นอยู่แล้ว เพราะเป็นการเลือกตั้งที่ทำให้วาทกรรม-คำพูดระดับตำนาน

“ภาคใต้ประชาธิปัตย์ส่งเสาชิงช้าลงก็ชนะ”

สิ้นสลายไปทันที หลังปชป.ถูกพรรคพลังประชารัฐ(พปชร.)และภท.เบียดแย่งเก้าอี้ส.ส.เขตไปได้รวม 21 เก้าอี้ แยกเป็นพปชร. 13 เก้าอี้และภท. 8 เก้าอี้ จนปชป.ได้ส.ส.ภาคใต้แค่ 23 คน จากนั้นปชป.ก็ยังมาแพ้เลือกตั้งซ่อมที่นครศรีธรรมราชให้พปชร.เสียไปอีก 1 เก้าอี้ 

ส่วน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยะลา-ปัตตานี-นราธิวาส ที่มีส.ส.เขต 11 คน พรรคปชป.ได้มาแค่คนเดียวคือ อันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี ที่เลือกตั้งรอบหน้า ย้ายออกจากปชป.แน่นอนและข่าวว่าจะไปอยู่กับพรรคประชาชาติ 

มันเลยทำให้ปชป.กลายเป็นพรรคกลางๆ เสียความเป็นพรรคขนาดใหญ่ไปทันที หลังล้มเหลวในการเลือกตั้งที่ภาคใต้และกรุงเทพมหานคร 

ยิ่งการเลือกตั้งรอบหน้า หลายพรรคก็พร้อมจะเข้ามาแชร์เก้าอี้ในภาคใต้มากกว่าเลือกตั้งปี 2562 อีก ไม่ว่าจะเป็นพรรคใหม่อย่าง “พรรคเพื่ออนาคตไทย” ของอดีตสี่กุมาร พปชร. ที่ได้ นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ อดีตส.ส.พัทลุงแปดสมัย ปชป. ไปเป็นแม่ทัพใหญ่ให้กับพรรคดังกล่าว หรือ “พรรคกล้า” ของกรณ์ จาติกวณิช ก็ชัดเจนว่า ให้ความสำคัญกับพื้นที่เลือกตั้งภาคใต้มากเป็นอันดับหนึ่ง มากกว่ากทม.เสียอีก

ส่วนคู่แข่งเดิม ก็ยิ่งแข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ อย่าง “พปชร.” ที่เป็นพรรคแกนนำรัฐบาล ก็ตั้งเป้าเลือกตั้งรอบหน้า ภาคใต้ต้องการกวาดให้ได้อย่างน้อยระดับ 30 ที่นั่ง จากที่มีอยู่ตอนนี้ 14 ที่นั่ง หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัว เห็นได้จากที่ระยะหลัง  ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาพรรคฯลงมาลุยที่ภาคใต้ด้วยตัวเอง  

สถานการณ์ทั้งหมด จึงเป็นตัวเร่ง-แรงบีบให้ ปชป.ต้องปรับทัพยกใหญ่เพื่อเตรียมพร้อมทำศึกในภาคใต้ทั้งการรักษาเก้าอี้เดิมของส.ส.เขตปชป.ที่มีอยู่แล้ว และต้องชนะได้เก้าอี้ส.ส.เขตเพิ่มขึ้นให้ได้ เพราะหากทำไม่ได้ โอกาสที่ปชป.จะกลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง ยากจะสำเร็จ  

ด้วยเหตุนี้ การที่ “นายกชาย-เดชอิศม์ ขาวทอง ส.ส.สงขลา ปชป.สมัยแรก-อดีตนายกฯอบจ.สงขลาสองสมัย” ได้รับเลือกให้ขึ้นเป็นรองหัวหน้าพรรคปชป.ในการประชุมใหญ่พรรคปชป.เมื่อวันเสาร์ที่ 18 ธ.ค.  โดยเอาชนะ ชินวรณ์ บุณยเกียรติ อดีตรมว.ศึกษาธิการ ที่เป็นส.ส.นครศรีธรรมราชมาแล้ว 9 สมัย จึงไม่ใช่เรื่องปกติธรรมดาแน่นอน กับการที่เสียงส่วนใหญ่ในพรรคปชป.เลือกจะหนุน “นายกชาย” มาเป็นแม่ทัพใหญ่คุมภาคใต้ ทั้งที่นายกชายเป็นส.ส.แค่สมัยแรก 

จุดนี้แสดงให้เห็นแล้วว่า นายกชาย ไม่ธรรมดาแน่นอน กับบุคลิกชื่อเสียงสไตล์ “ใจใหญ่-มีแต่พวก” ที่ซื้อใจคนในพรรคปชป.ได้ว่าเขาจะมาเป็นผู้กอบกู้ปชป.ในภาคใต้ ให้กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง 

ซึ่งบททดสอบแรกและเป็นบททดสอบสำคัญของนายกชาย ก็คือศึกเลือกตั้งที่ชุมพรและสงขลา บอกได้เลยว่า “ปชป.แพ้ไม่ได้” เพราะหากแพ้ นายกชายได้เสียหน้าแน่นอน ยิ่งที่สงขลา ปชป.ส่ง “น้ำหอม สุภาพร กำเนิดผล รองนายก อบจ.สงขลา และภรรยาของนายกชาย เดชอิศม์” ลงเลือกตั้ง ทำให้ ศึกนี้ นายกชาย สู้สุดตัว 

ท่ามกลางกระแสข่าวว่า เส้นทางการเมืองของนายกชาย คงไม่ใช่แค่ รองหัวหน้าพรรคปชป.เท่านั้น เพราะข่าวว่า หลายกลุ่มในปชป. กำลังตระเตรียมทำโรดแมปให้นายกชาย ได้ลุ้นเก้าอี้ “เลขาธิการพรรคปชป.คนใหม่” เพื่อมารับไม้ต่อจาก เฉลิมชัย ศรีอ่อน หากเฉลิมชัย ต้องการลงจากเลขาธิการพรรคปชป.  เพราะเฉลิมชัย ก็คือคนที่ดัน นายกชาย ขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรรคปชป. 

ที่สำคัญข่าวลือออกมาหนาหูว่า หากสุดท้าย ถ้า “นิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย” ต้องหลุดจากเก้าอี้ รมช.มหาดไทย หรือมท. 2 จากผลคดีความเรื่องการไม่เบิกจ่ายเงินค่าจัดซื้อรถเอนกประสงค์สมัยเป็นนายกฯอบจ.สงขลา เช่นมีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลฎีกาฯ แล้วศาลรับคำฟ้องจนนิพนธ์ต้องหยุดปฏิบัติหน้าที่ จนมีการปรับครม. ก็ให้จับตากันให้ดี ทั้งเฉลิมชัย-นิพนธ์ ที่เป็นทีมเดียวกันในปชป.  ก็อาจจะดัน นายกชาย ขึ้นมาเสียบเป็นมท.2 แทนก็ได้ 

ภายใต้เงื่อนไขคือต้องไปตกลงกันภายในพรรคให้ได้ หากเดชอิศม์  จะข้ามอาวุโสคนอื่นในปชป.มาเป็นรมต.ทั้งที่เป็นส.ส.แค่สมัยแรก คนในพรรคจะยอมหรือไม่ หากยอม ก็มีโอกาสสูงที่ เดชอิศม์จะเติบโตอย่างรวดเร็วในปชป.ชนิดหลายคนนึกไม่ถึง  

และเมื่อเหลียวมองไปที่ “ภูมิใจไทย” ก็น่าสนใจเช่นกัน กับการที่การประชุมใหญ่ของพรรคที่นครราชสีมาเมื่อวันอาทิตย์ที่ 19 ธ.ค.ที่ผ่านมา ที่ดัน “พิพัฒน์ รัชกิจประการ -รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา” ขึ้นมาเป็นรองหัวหน้าพรคภท.ดูแลพื้นที่ภาคใต้เต็มตัว หลังที่ผ่านมา พิพัฒน์ ก็คือ ขุนพลหลักคู่กับภรรยา คือ นางนาที  ในการดูแลพื้นที่ภาคใต้ให้กับภท.มาตลอดหลายปี โดยมีผลงานคือ ทำให้ภท.ได้ส.ส.เขตภาคใต้ 8 คน ในการเลือกตั้งปี 2562 จนได้โควตารัฐมนตรีท่องเที่ยวฯ  

ยิ่งตอนนี้ พิพัฒน์ มีตำแหน่งเป็นรมว.ท่องเที่ยวฯ อีกทั้งภท.ก็เป็นพรรคหลักในรัฐบาลดูแลทั้งก.สาธารณสุข-คมนาคม-ท่องเที่ยวฯและมีคนของพรรคเป็นรมช.อีกหลายกระทรวง เช่น มหาดไทย-เกษตรและสหกรณ์  ผนวกกับ พิพัฒน์และนางนาที ก็มีฐานะร่ำรวยมาก มีฐานธุรกิจที่สำคัญคือ กิจการพีทีจี เอ็นเนอยีฯหรือปั้มน้ำมันพีทีทั่วประเทศ เรียกได้ว่ามีความพร้อมมากกว่าตอนเลือกตั้งปี 2562 เสียอีก 

การดัน พิพัฒน์ ออกมาเป็นรองหัวหน้าพรรคภาคใต้เต็มตัว  คล้อยหลัง นายกชาย เพียงวันเดียว จึงเป็นการเคลื่อนไหวที่น่าจับตายิ่ง เพราะยังไง หลายจังหวัดในภาคใต้ ปชป.ก็สู้กับภท.อย่างดุเดือดอยู่แล้ว 

นายกชายVSพิพัฒน์ 

จึงเป็นคู่มวย คู่ต่อสู้ทางการเมืองในสนามเลือกตั้งภาคใต้ ที่สูสี เข้มข้นอย่างมาก 

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว พิพัฒน์ ที่เป็นคนหาดใหญ่ สงขลา เช่นเดียวกับนายกชาย โดยเติบโตมาจากการเป็นเด็กขายของชำในตลาดกิมหยง หาดใหญ่  และเรียนที่โรงเรียนแสงทองวิทยา สงขลา จนจบมัธยมปลาย แล้วก็โลดแล่นทางการค้า ธุรกิจ และการเมืองจนร่ำรวยมหาศาล ก่อนจะเข้าสู่การเมืองอย่างทุกวันนี้ โดยธุรกิจน้ำมันพีที ก็เติบโตมาจากภาคใต้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ พิพัฒน์ จึงคร่ำหวอด มีลูกเก๋าส์ในสนามเลือกตั้งภาคใต้พอสมควร เรียกได้ว่า รู้ไส้รู้พุง ปชป.เป็นอย่างดี 

และที่หลายคนอาจไม่รู้ก็คือ นายกชาย กับพิพัฒน์ ที่เป็นคนสงขลาด้วยกัน จริงๆ แล้ว รู้จักคุ้นเคยกันมาหลายสิบปี เรียกได้ว่า เป็นเพื่อนกันเลย เห็นได้จากที่พิพัฒน์บอกกับคนในภท.ว่า “นายกชายกับผม เป็นเพื่อนรักกัน กิน เที่ยว ทำงานด้วยกัน มาหลายสิบปี ตั้งแต่เราสองคนยังหนุ่มๆ จนตอนนี้ ก็ยังติดต่อคบหากันตลอด แต่ในทางการเมืองเมื่ออยู่กันคนละพรรคก็ต้องแข่งขันกัน” 

นายกชาย-เดชอิศม์ ขุนพลภาคใต้ปชป. และพิพัฒน์ แกนนำหลักภท.ในภาคใต้ จึงเป็นสองคีย์แมนสำคัญของสองพรรครัฐบาล ที่เป็นเพื่อนกันแต่มาวันนี้ต้องลุยสู้กันเต็มตัว ในฐานะรองหัวหน้าพรรคภาคใต้ของทั้งสองพรรค มันจึงเป็นเรื่องที่คอการเมืองให้ความสนใจอย่างมาก ไม่ใช่แค่คนใต้ 

แสดงความเห็น