“เศรษฐพงค์” ชี้ Metaverse Economy ระบบเศรษฐกิจดิจิทัลใหม่ของโลก ต้องเร่งปรับตัวให้ทัน

บทความโดย : พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) 

โลกในยุคปัจจุบันมีความแตกต่างไปจากอดีตมาก เนื่องจากความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ในส่วนสังคมนั้น ครอบครัวส่วนใหญ่มีขนาดเล็กลง และประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ท่ามกลางห้วงเวลาแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5 ที่มีการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI, IoT, blockchain และ virtual reality (VR) เป็นเครื่องมือในการสร้างสรรค์นวัตกรรม การค้า รูปแบบธุรกิจ และโอกาสใหม่ๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องใช้สติปัญญาของมนุษย์ ควบคู่ไปกับความชาญฉลาดของปัญญาประดิษฐ์ อย่างไม่ต้องสงสัย 

การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 5 นั้น ผู้คนจะให้ความสำคัญกับเรื่องความสมดุลย์ของคุณภาพชีวิต เวลา ความสุข หรือแม้แต่การใช้ทรัพยากรโลกที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม AI จะไม่ได้มาทำงานแทนมนุษย์ แต่ AI จะเป็นเครื่องมือสำหรับการทำงานเพื่อให้ประสบความสำเร็จ โดยที่เทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และรวดเร็วมากกว่าแต่ก่อนมาก เหมือนอย่างเช่นความรู้ ที่ในปัจจุบันจะมีการเปลี่ยนแปลงทุก ๆ 73 วัน แต่คาดว่าอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ความรู้จะเปลี่ยนแปลงไปในทุก ๆ 12 ชั่วโมง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเราได้เห็นความก้าวหน้าอย่างมากในเทคโนโลยี Physical reality, digital reality และ virtual reality เกิดการผสมผลานและหลอมรวมระหว่างโลกทางกายภาพและโลกเสมือน หรือ Metaverse นั่นเอง

หากผู้คนต้องใช้เวลาในการทำงานส่วนใหญ่ในโลกเสมือนจริง กับโลกแห่งความเป็นจริง ไปทำงาน ช้อปปิ้ง ดูหนัง เล่นเกม เรียนรู้ เดินทาง ออกเดท และมีการสัมผัสประสบการณ์ร่วมกัน คงจะดีไม่น้อยหากมีเทคโนโลยีที่สามารถสร้างความต่อเนื่อง ความกลมกลืมระหว่างโลกในความจริงกับโลกเสมือน และครอบคลุมกับทุกสิ่งและทุกคน Metaverse ปรากฏขึ้นครั้งแรกในนิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Snow Crash ของ Neal Stephenson ในปี 1992 ที่ได้ชื่อว่าเป็นที่รู้จักกันดีที่สุด แม้ว่าแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับ metaverse นี้จะมีมานานแล้ว ตั้งแต่ในยุค 80 ในสื่อหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นนวนิยายไปจนถึงวิดีโอเกม แม้ว่า Metaverse ในนวนิยายนั้นนับว่ามีความล้ำสมัยมากเกินไปและดูเกินจริงในขณะนั้น แต่ด้วยการพัฒนาอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง จึงทำให้เส้นทางสู่ Metaverse ดูเหมือนจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นในที่สุด จนทำให้เกิดทางเลือก ที่เราทำในทศวรรษหน้า อาจส่งผลกระทบต่ออนาคตของสังคมและเทคโนโลยีในลักษณะที่เทียบได้กับการถือกำเนิดเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตหรือสมาร์ทโฟนในอดีต

Metaverse สามารถเข้าถึงได้บนอุปกรณ์ที่มีอยู่ แต่การพัฒนาของเทคโนโลยี virtual reality (VR) และ augmented reality (AR) จะทำให้เกิดประโยชน์เพิ่มมากขึ้น เนื่องจากการเชื่อมต่อจะมีความราบรื่นมากยิ่งขึ้น และมีศักยภาพในการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมองมนุษย์กับคอมพิวเตอร์ แต่ยังมีข้อจำกัดในเรื่องข้อกำหนดด้านการจัดเก็บ เครือข่าย และการคำนวณ ซึ่งนับได้ว่ามีความสำคัญมากในปัจจุบัน ส่วนในเรื่องของความปลอดภัย (security) ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่ง เช่นเดียวกับเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) และทรัพย์สินทางปัญญา (intellectual property) แต่การพัฒนาของ Web 3.0 อาจช่วยแก้ปัญหาความท้าทายเหล่านี้ได้ ซึ่งในเชิงเทคนิคแล้ว ถือได้ว่าเป็นการสร้างสรรค์เครื่องมือสำหรับเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและกระจายศูนย์ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยสามารถใช้เครื่องมือเหล่านี้เพื่อสร้างเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วมมากขึ้น (Sharing economy) ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถเปลี่ยนจากผู้บริโภคธรรมดาไปสู่ผู้จัดส่งสินค้าและบริการในโลกยุคโลกาภิวัตน์ได้อย่างแท้จริง โดยปราศจากข้อจำกัดทางด้านพรมแดนระหว่างประเทศและความเสียเปรียบทางภูมิศาสตร์ 

Metaverse ไม่ใช่เป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจดิจิทัลเท่านั้น แต่ยังเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจในโลกแห่งความเป็นจริงด้วย โดยมี Non-fungible tokens (NFT) และเงินสกุลดิจิทัลเป็นพื้นฐานในเครือข่ายบล็อกเชน ซึ่งบล็อกเชนจะมีลักษณะเฉพาะคือการประมวลผลแบบกระจายศูนย์ มีการจัดเก็บและส่งผ่านข้อมูลแบบไม่ต้องอาศัยตัวกลาง และใช้ Smart contracts เป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมและกลไกในการเข้ารหัสที่เหมาะสม ซึ่ง Non-fungible tokens (NFT) ก็คือ token ที่นำเทคโนโลยี Blockchain มาใช้ NFT คือสินทรัพย์ดิจิทัลที่มีลักษณะเฉพาะตัว ไม่สามารถทำซ้ำ หรือทดแทนกันได้ ดังนั้น NFT จึงเป็นนวัตกรรมที่จะบ่งชี้ว่าเราสามารถเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลนั้นได้แต่เพียงผู้เดียว มีสิทธิในการครอบครองสินทรัพย์นั้น โดย NFT มักอยู่ในแวดวงของรูปภาพศิลปะ (หรือที่เรียกว่า Crypto Art)

การเกิดขึ้นของ Metaverse ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวม ดังนั้นจึงต้องมีการเตรียมความพร้อมสำหรับโลกยุคใหม่นี้ เช่น การมุ่งเน้นจิตใจของมนุษย์มากกว่ามันสมองของมนุษย์ นอกจากนี้เราต้องมีการเรียนรู้เกี่ยวกับปัญญาประดิษฐ์และเทคโนโลยี เพราะ 70% ของเศรษฐกิจทั่วโลก กำลังจะเติบโตด้วยปัญญาประดิษฐ์ ดังนั้นทุกอย่างจะถูก disrupt ด้วยปัญญาประดิษฐ์ ในขณะเดียวกันต้องมีการคิดนอกกรอบ การใช้สื่อสังคมในการสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ หรือแม้แต่การสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่โดยใช้ AI หรือเทคโนโลยีเพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จ เนื่องจากมีการศึกษาวิจัยพบว่าองค์กรที่มีการนำเทคโนโลยีมาใช้ จะประสบความสำเร็จมากกว่าองค์กรที่ไม่มีการใช้เทคโนโลยีเลย 

Metaverse เป็นการหลอมรวมระหว่างระบบเศรษฐกิจใหม่ที่อยู่บนโลกดิจิทัล กับเศรษฐกิจในโลกแห่งความเป็นจริง จึงเปรียบเสมือนว่า Metaverse เป็น New Digital Economy ที่สามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจมากมาย และในขณะเดียวกัน Metaverse ยังทำให้ธุรกิจในรูปแบบเดิมและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ถูก disrupt อย่างรวดเร็วและรุนแรง เกิดเป็นระบบเศรษฐกิจ สังคม และวิถีการดำเนินชีวิตแบบใหม่ ในแบบที่ไม่เคยปรากฏขึ้นมาก่อน ซึ่งหมายความว่าสุดท้ายแล้วจะเกิดการหลอมรวมโครงสร้างของสังคม ดังนั้นเราต้องพยายามทำให้ Metaverse เป็นแรงผลักดันให้เกิดความเสมอภาคและความเท่าเทียมกันในระดับสากล การเกิดขึ้นมาของ Metaverse จะสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่บนโลก และจะยิ่งทรงพลังและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เมื่อถูกหลอมรวม บูรณาการ ผสาน และการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีอื่น ๆ  

แสดงความเห็น