“เศรษฐพงค์” หวั่น “แฮกเกอร์” เจาะข้อมูลรัฐสภา แนะ อัพเกรดระบบ “Cyber Security”

“เศรษฐพงค์” หวั่น “แฮกเกอร์” เจาะข้อมูลรัฐสภากระทบความมั่นคง แนะ อัพเกรดระบบ “Cyber Security” เล็ง นำเข้า กมธ.ดีอีเอสพิจารณา ก่อนเสนอปธ.สภาฯ เตรียมพร้อมระบบป้องกันสถาบันหลักด้านนิติบัญญัติ 

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวถึงการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์(Cyber Security) ของรัฐสภาว่า ช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวการแฮกเข้าเว็ปไซต์หรือฐานข้อมูลของหน่วยงานราชการมากขึ้น เช่น กรณีเจาะฐานข้อมูลผู้ป่วยของโรงพยาบาล การแฮกเว็ปไซต์ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งข้อมูลต่างๆในเว็ปไซต์มีความสำคัญบางส่วนเป็นความลับมีผลต่อความมั่นคงที่หน่วยงานราชการจะต้องรักษาความปลอดภัยให้ดีที่สุด ซึ่งหน่วยงานรัฐสภาก็เช่นกัน เป็นหน่วยงานสำคัญของประเทศมีข้อมูลที่สำคัญและเป็นความลับมากมายที่ต้องรักษาอย่างดีที่สุด ตนเห็นว่าถึงเวลารัฐสภาควรมีการยกระดับให้ความสำคัญของเรื่อง Cyber Security รวมถึงระบบการเก็บข้อมูล Data Recovery ที่จะช่วยในเรื่องการป้องกันและกู้ข้อมูลคืนมา รัฐสภาถือเป็นสถาบันหลักของประเทศในด้านนิติบัญญัติที่จะต้องมีความมั่นคงปลอดภัยสูงสุดแห่งหนึ่ง จึงน่าจะเป็นองค์กรรัฐตัวอย่างที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Cyber Security และ Data Recovery และควรมีการทำ Penetration test เป็นประจำอย่างน้อยทุกปี ทั้งนี้เปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อให้รู้ว่าความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของหน่วยงานตอนนี้มีอะไรที่มีความเสี่ยงบ้าง ควรจะมีการปรับปรุงให้ดีขึ้นอย่างไร

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ตนเองในฐานะเป็นสมาชิกรัฐสภา รวมถึงเป็นรองประธานกรรมาธิการ ดีอีเอส ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงในด้านเทคโนโลยี ด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ จะได้นำเรื่องนี้เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการ ดีอีเอส ที่มี น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย เป็นประธานกรรมาธิการฯ เพื่อที่จะได้นำข้อมูลด้านต่างๆ มาร่วมกันพิจารณาให้รอบด้าน ก่อนที่จะนำเสนอต่อท่านประธานสภาฯ นายชวน หลีกภัย ต่อไป เพื่อให้เร่งในการเตรียมพร้อมทั้งระบบป้องกัน และระบบในการแก้ไขปัญหากรณีเกิดเหตุ ถึงเวลาแล้วที่รัฐสภาจะต้องให้ความสำคัญในเรื่อง Cyber Security และ Data Recovery อย่างจริงจัง เพื่อให้เราสามารถวางแผนบริหารจัดการรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่ได้รับความเสียหายหรือเสียหายน้อยที่สุด 

“วันนี้ระบบการทำงานต่างๆ ของรัฐสภาโดยเฉพาะระบบความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต้องมีการอัพเกรดและอัพเดตให้เท่าทันโลกอนาคตเพื่อรองรับเทคโนโลยีใหม่ๆ หรือภัยคุกคามใหม่ๆ หากเราลงมือทำตั้งแต่ตอนนี้จะช่วยให้การดำเนินงานของรัฐสภาเป็นไปด้วยความมั่นคงปลอดภัย” รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าว

แสดงความเห็น