ซักฟอกเดือด จับตาผลลงมติ จะมีไหม “แทงข้างหลัง” กันเอง!

หลังฝ่ายค้านโหมโรงปั่นกระแสมาพักใหญ่กับศึกซักฟอก-เปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ในที่สุด 31 ส.ค.-3 ก.ย. ก็มาถึงแล้วกับคิวการเมืองนัดสำคัญ ศึกซักฟอกบิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและอีก 5 รัฐมนตรีที่ฝ่ายค้านรอชำแหละ  

ย้ำอีกรอบ เวทีซักฟอกงวดนี้ มีรัฐมนตรีที่ถูกยื่นซักฟอกดังนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม-อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี-รมว.สาธารณสุข-ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม-สุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน-ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเศรษฐกิจและเพื่อสังคมหรือดีอีเอส และเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ 

เบื้องต้นฝ่ายค้านเตรียมส.ส.ฝ่ายค้าน ลับดาบ เชือด นายกฯและห้ารัฐมนตรีไว้ประมาณ 26-28 คน โดยเป้าหลักคือ บิ๊กตู่-เสี่ยหนู บนการย้ำแผลเรื่องโควิด-วัคซีน-วิกฤตเศรษฐกิจจากผลพวงโควิด ขณะที่รัฐมนตรีคนอื่นๆ ก็มีบางคน อาจต้องเจอศึกหนัก หลังมีข่าวว่า ฝ่ายค้านบางคนก็มีหลักฐานเด็ดในมือ ไว้คอยลงแส้กลางสภาฯ โดยเฉพาะข้อมูลในเชิง “ข้อกล่าวหาการทุจริต-ใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ”

ซึ่งหากดูจาก “ญัตติขอเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ที่ฝ่ายค้านยื่นต่อประธานสภาฯ ก็พอจะเดาได้ว่า จะมีการอภิปรายประเด็นดังกล่าว กับ “ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม-เฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรฯ” สองแกนนำพรรคภูมิใจไทยและประชาธิปัตย์ 

จนมีเสียงร้องซี๊ดมาจากห้องประชุมส.ส.เพื่อไทย เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่มีการประชุมเตรียมพร้อมทำศึกซักฟอกกัน ณ ที่ทำการพรรค หลังคนในพรรคเพื่อไทย พอเห็นประเด็นคร่าวๆ ที่ฝ่ายค้านจะอภิปราย ศักดิ์สยาม-เฉลิมชัย ว่า หากฝ่ายค้านเรียบเรียงประเด็นดีๆ นำเสนอให้คนเข้าใจได้ง่าย ก็น่าจะเป็นศึกหนักสำหรับ ศักดิ์สยาม-เฉลิมชัย เช่นกัน 

ศึกซักฟอกรอบนี้  สิ่งที่ต้องติดตามกันนอกจาก ประเด็น-ข้อมูล-หลักฐาน ที่ฝ่ายค้านจะนำมาอภิปรายรัฐบาลแล้ว ยังต้องคอยดูว่า พลเอกประยุทธ์และอีกห้ารัฐมนตรี จะชี้แจง-ตอบโต้ข้อกล่าวหาของฝ่ายค้านได้ดีแค่ไหน จะแจงเคลียร์ทุกประเด็น หรือจะจนมุมกลางสภาฯ เพราะจำนนต่อข้อกล่าวหาของฝ่ายค้าน 

ความเข้มข้นของศึกซักฟอก จึงอยู่ตรงนี้ ซึ่งคนชี้ขาดว่า ใครแพ้-ใครชนะ ระหว่างฝ่ายค้าน กับรัฐบาล ก็คือประชาชน หาใช่ เสียงโหวตในสภาฯ 

เพราะด้วยระบบเสียงข้างมากในสภาฯ  รัฐบาล ที่มีเสียงส.ส.มากกว่าฝ่ายค้าน หากไม่มีการแตกแถว ยังไง ส.ส.รัฐบาลต้องโหวตไว้วางใจให้รัฐมนตรีในรัฐบาลด้วยกันอยู่แล้ว หรืออย่างมาก หากเห็นว่ารัฐมนตรีแจงไม่เคลียร์ โดยมารยาท ก็มักจะใช้วิธี “งดออกเสียง” เท่านั้น แต่หากถึงขั้นโหวตสวน “ไม่ไว้วางใจ” แบบนี้ก็เรื่องใหญ่ ยิ่งหากเป็นระดับพรรคร่วมรัฐบาลระดับพรรคใหญ่-พรรคกลาง ไม่ใช่พวกพรรคเล็กพรรคน้อย ถ้าทำกันแบบนั้น ทั้งที่มีข้อตกลงกันไว้ก่อนแล้วว่าให้โหวตไว้วางใจเพราะถือว่าเป็นรัฐบาลด้วยกันมา แต่กลับมีการทำผิดข้อตกลง-สัญญาใจ มันก็คือการ “แทงข้างหลังกัน” ที่ต้องมีการชำระสะสางตามมา

เหตุการณ์ลักษณะนี้ เคยมีให้เห็นกันมาแล้วหลายสมัย  เช่น ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ ส.ส.เพื่อแผ่นดิน ไปโหวตไม่ไว้วางใจ ชวรัตน์ ชาญวีรกูล รมว.มหาดไทยและหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เพราะคิดว่า อภิสิทธิ์ จะไม่กล้าปรับออก แต่สุดท้าย อภิสิทธิ์ก็ปรับพรรคเพื่อแผ่นดินออกจากรัฐบาลไป 

ซึ่งกับรัฐบาลยุคนี้ ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มี เพราะอย่างศึกซักฟอกรอบล่าสุดเมื่อเดือนก.พ.ที่ผ่านมา  ก็เกิดกรณี “6 ส.ส.กลุ่มดาวฤกษ์ พลังประชารัฐ” ที่นำโดย “มาดามเดียร์-วทันยา วงษ์โอภาสี” แหกโผ งดออกเสียง ศักดิ์สยาม-รมว.คมนาคม จนทำให้ ภูมิใจไทย กับพลังประชารัฐ เกิดระหองระแหง กันพักใหญ่  

มาถึงศึกซักฟอกรอบนี้ หลายคน เลยบอกให้จับตา ผลการออกเสียง 

“ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ”

ว่าจะมีอะไรเซอร์ไพรส์ จนเกิดอาฟเตอร์ช็อกการเมืองตามมาหรือไม่ เพราะตามธรรมชาติการเมือง การอภิปรายรัฐมนตรีหลายคน โดยเฉพาะหากเกินห้าคนขึ้นไป  ผลการออกเสียงที่ออกมา เกือบทุกครั้ง คะแนนจะไม่เท่ากันทั้งหมด อย่างศึกซักฟอกรอบที่แล้วเมื่อ ก.พ.2564 ที่ผ่านมา  พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้คะแนนไว้วางใจ 272 เสียง ที่น้อยกว่า อนุทิน และธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ เสียด้วยซ้ำ 

มาถึงศึกซักฟอกรอบนี้ ที่มาอยู่ในช่วงที่รัฐบาลกระแสนิยมมีปัญหาจากวิกฤตโควิด โดยเฉพาะ บิ๊กตู่ ที่ถือว่าอยู่ในช่วงขาลง มันก็เลยกระแสข่าวลือ ข่าวปล่อย ออกมาไม่เว้นแต่ละวัน เช่นกระแสข่าว “เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี” หลังศึกซักฟอก รวมถึงข่าวลือ “ดีลลับ เพื่อไทยกับพลังประชารัฐ” จนไม่มีการยื่นซักฟอก พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ- ธรรมนัส พรหมเผ่า และข่าวลือการจับมือกันแก้รัฐธรรมนูญของสองพรรค  เพื่อทำบันไดเตรียมตั้งรัฐบาลร่วมกันหลังพลเอกประยุทธ์วางมือ 

พบว่ายิ่งใกล้ถึงวันอภิปรายไว้วางใจ “ข่าวลือ-ข่าวปล่อย-ข่าวโยนหินถามทาง” ทำนอง ให้จับตาผลการลงมติ ออกเสียง ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ ที่อาจมีเซอร์ไพรส์ ก็ยิ่งลือกันหนักขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเรื่อง ให้จับตา หากสถานการณ์พลเอกประยุทธ์ในช่วงศึกซักฟอก ถ้ากระแสไม่ค่อยดี พลเอกประยุทธ์แจงฝ่ายค้านไม่เคลียร์ กระแสประชาชนไม่ตอบรับ ก็อาจมีการต่อรอง ภายในพรรคร่วมรัฐบาล ก่อนการโหวตลงมติเพื่อขอสัญญาใจจากนายกฯและพี่น้อง 3 ป. ในเรื่อง การเปลี่ยนตัวนายกฯ เปลี่ยนสูตรตั้งรัฐบาล หลังผ่านศึกซักฟอกไปสักระยะ เพื่อแลกกับการออกเสียงโหวตไว้วางใจ 

ขณะที่ข่าวลือบางกระแสก็ลือกันไปว่า อาจมีการเดินเกมต่อรอง ของแกนนำพรรครัฐบาลบางคน ที่ต้องการให้มีการปรับครม. หลังจบศึกซักฟอก เพื่อต้องการตำแหน่งรัฐมนตรีที่ใหญ่ขึ้น ด้วยการจะมีการเจรจาต่อรองให้ ส.ส.พรรคเล็กที่อยู่ฝ่ายรัฐบาล  งดออกเสียงไว้วางใจ รัฐมนตรีประมาณ 1-2 คน เพื่อทำให้รัฐมนตรีดังกล่าวได้คะแนนน้อย จนนำมาเป็นเหตุให้มีการเจรจาปรับครม. แลกกระทรวง ตามมา ซึ่งไพ่ใบนี้ พูดง่ายๆ ก็คือ หวังใช้พรรคเล็กทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังตอนนี้ พรรคเล็กในรัฐบาล ที่มีส .ส.ไม่เกินห้าคน แต่ทั้งหมดหากรวมเสียงกันแล้วก็มีร่วมๆ สิบกว่าเสียง  อยู่ในช่วงไม่สบอารมณ์ที่พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ ไปร่วมจับมือกับเพื่อไทยแก้รัฐธรรมนูญ ฟื้นบัตรสองใบ จนทำให้พรรคเล็ก รอวันสูญพันธุ์ พรรคเล็ก เลยอาจจจะแสดงอาการบางอย่างออกมาตอนโหวตลงมติ  โดยมีใครบางคนคอยหนุนหลังเพื่อหวังผลเรื่องการปรับครม. ตามมา 

อย่างไรก็ตาม ข่าวลือทำนองนี้ ในความเป็นจริงอาจไม่เกิดขึ้นก็ได้ เพราะต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์เวลานี้ กระแสนิยมของนายกฯและพรรคร่วมรัฐบาลไม่ค่อยดี ลำพังแค่พรรคร่วมรัฐบาลจับมือกันสู้กับโควิดและรับมือฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่จ้องล้มรัฐบาล ก็หนักหนาอยู่แล้ว หากจะคิดแทงข้างหลังกันเอง ในฝ่ายพรรคร่วมรัฐบาล สุดท้าย หากเดินเกมพลาด ประเมินสถานการณ์ผิด ก็เสี่ยงแพ้ทั้งกระดานได้ สู้จับมือกันไว้ รอให้สถานการณ์โควิดดีขึ้นกว่านี้ กระแสรัฐบาลกระเตื้องขึ้น แล้วค่อยมาคุยกัน ก็ยังไม่สาย 

สุดท้ายแล้ว เรื่องการออกเสียง ไว้วางใจ-ไม่ไว้วางใจ  ความชัดเจนของเรื่องนี้ จะชัดขึ้นในช่วงค่ำวันพฤหัสบดีที่ 2 ก.ย. ที่แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ต้องปิดห้องคุยกันแล้วว่า จะคุมเสียงโหวตส.ส.รัฐบาลอย่างไรให้ออกมาเป็นเอกภาพมากที่สุด เพื่อไม่ให้คะแนนโหวตไว้วางใจรัฐมนตรีแต่ละคน ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะ พลเอกประยุทธ์ ที่ต้องได้คะแนนไว้วางใจเยอะที่สุด เพื่อแสดงความแน่นปึ๊กของพรรคร่วมรัฐบาลในการสนับสนุนบิ๊กตู่ เป็นนายกฯต่อไป 

เพราะหากพลเอกประยุทธ์ ได้คะแนนน้อยที่สุด หรือน้อยกว่าที่ควรจะได้ มันจะยิ่งไปเข้าทางฝ่ายตรงข้าม ให้ขยายผลได้ว่า ขนาดส.ส.รัฐบาล ยังไม่เอา บิ๊กตู่แล้ว ถ้าแบบนั้น ไม่เป็นผลดีต่อรัฐบาลแน่ เว้นสียแต่จะมีใครบางคน คิดเปลี่ยนม้ากลางศึก ขึ้นมาจริงๆ !!!!

แสดงความเห็น