รอด-ไม่รอด คดีหุ้นสื่อ วิบากกรรม “ธนาธร” ก็ไม่จบ

ก่อนจะถึงวันพฤหัสบดีที่ 22 เม.ย. ที่เป็นวันนัดฟังคำสั่ง “ฟ้อง-ไม่ฟ้อง” ของอัยการ สำนักงานคดีอาญา 4 ที่อัยการได้นัด ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้าและอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ มาฟังคำสั่งของอัยการ ในคดีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.)มีมติดำเนินคดีอาญากับธนาธร กรณีมีเจตนาถือครองหุ้นสื่อลงสมัครรับเลือกตั้งส.ส. ก็ปรากฏกระแสข่าวทำนองว่าคดีดังกล่าว 

“อัยการสั่งไม่ฟ้อง-อัยการหักคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

ที่เคยวินิจฉัยว่าธนาธร มีความผิดตามคำร้องของกกต. คือถือครองหุ้นบริษัทวีลัค-มีเดียฯ ก่อนลงเลือกตั้ง ศาลรัฐธรรมนูญ จึงตัดสิทธิการเมือง ธนาธร ห้าปี และให้พ้นสภาพการเป็นส.ส. 

จนทำให้กกต.มีมติดำเนินคดีอาญากับธนาธร โดยไปแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสน.ทุ่งสองห้อง พื้นที่ของศาลรัฐธรรมนูญ และต่อมาพนักงานสอบสวนมีความเห็นสั่งฟ้องธนาธร จึงนำตัวนายธนาธรและสำนวนสอบสวนส่งมอบให้กับอัยการ

จนกระทั่งมีข่าวออกมาเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ช่วง 16 เม.ย. โดยสื่อบางสำนัก อ้างว่าอัยการมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องธนาธร เพราะเห็นว่า ธนาธร ไม่ได้มีเจตนาในการถือครองหุ้นสื่อดังกล่าว 

ที่หากเป็นตามข่าวดังกล่าว เท่ากับ อัยการมีความเห็นแย้ง-ขัดกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติให้ คำวินิจฉัยของศาลรธน.มีผลผูกพันกับทุกองค์กร 

อย่างไรก็ตาม กระแสข่าวดังกล่าว พบว่า ออกมาจากสื่อบางค่ายเท่านั้น ยังไม่มีการยืนยันข้อเท็จจริง อีกทั้งตัวทนายความของ ธนาธร ก็ออกตัวว่ายังไม่ทราบเรื่อง 

โดยเรื่องนี้ “กฤษฎางค์ นุตจรัส ทนายความศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะทนายความของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ให้สัมภาษณ์กรณีมีกระแสข่าวดังกล่าวว่า ยังไม่ทราบ โดยคดีนี้อัยการนัดฟังคำสั่งในวันที่ 22 เม.ย. 2564 หลังอัยการเลื่อนนัดมาจากวันที่ 19 ก.พ. 2564 คงต้องรอรับแจ้งจากอัยการ ว่าในวันที่ 22 เม.ย.นี้ จะสามารถมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องได้หรือไม่ ถ้าอัยการแจ้งว่าจะมีคำสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด ก็จะประสานนายธนาธรร่วมเดินทางไปรับฟังคำสั่ง แต่ถ้าอัยการแจ้งว่าจะขอเลื่อนนัดสั่งคดี ก็คงไม่ต้องประสานนายธนาธรให้เดินทางไป

อย่างไรก็ตาม ผ่านมาหลายวัน กระแสข่าวดังกล่าว ก็ยังไม่มีข้อสรุปหรือข้อเท็จจริงออกมามากขึ้น ว่า สุดท้ายแล้ว ธนาธร รอดพ้นคดีอาญาในคดีถือครองหุ้นสื่อจริงหรือไม่ ที่หากให้ชัวร์ ก็ต้องรอฟังอย่างเป็นทางการในวันพฤหัสบดีนี้ 22 เม.ย. ตามที่อัยการได้นัดธนาธรและทนายความมาฟังคำสั่งของอัยการ 

กระนั้น ข่าวดังกล่าวหากเป็นความจริงขึ้นมา คงทำให้เกิดข้อถกเถียงทางข้อกฎหมายตามมาไม่ใช่น้อย เพราะถ้าเป็นจริง เท่ากับ อัยการ มีความเห็นแย้งทั้งคำวินิจฉัยของศาลรธน.-คณะกรรมการการเลือกตั้งและพนักงานสอบสวน สน.ทุ่งสองห้อง 

โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 มาตรา 211 วรรคท้ายบัญญัติว่า “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ” 

ดังนั้น ถ้าอัยการ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง ธนาธร ก็คงทำให้เกิดข้อถกเถียงทางการเมืองและทางข้อกฎหมายตามมาพอสมควร คือลำพังแค่อัยการ เห็นแย้งกับกกต. ซึ่งพบว่าหลายคน ก็มาจากระดับอดีตผู้พิพากษาศาลฎีกา ที่ตัดสินคดีความอาญา-แพ่ง มานับไม่ถ้วน  ก็ทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของอัยการตามมาอย่างหนักอยู่แล้ว แต่หากอัยการสั่งไม่ฟ้อง ธนาธร เกิดเป็นจริงขึ้นมา เท่ากับ อัยการ เห็นแย้งกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ตัดสินว่า ธนาธร มีความผิดตามมติกกต.คือถือครองหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดียฯ ก่อนยื่นสมัครรับเลือกตั้งส.ส. 

ทั้งที่หากไปดูคำวินิจฉัยของศาลรธน. พบว่า ศาลรัฐธรรมนูญ มีการไต่สวนลงรายละเอียดในหลายประเด็นทั้งเรื่อง การเลิกประกอบการกิจการบริษัท-การโอนหุ้นของคนในครอบครัว แต่ศาลเห็นว่า ผู้เกี่ยวข้อง กลับไม่มีการส่งเอกสารที่เกี่ยวข้องเรื่องการโอนหุ้น ให้กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเร็ว-รวมถึงศาล ก็ไม่เชื่อคำให้การของธนาธรที่ว่า มีการโอนหุ้นให้มารดา ในช่วงก่อนวันลงเลือกตั้งจริง 

ซึ่งหากอัยการ สั่งไม่ฟ้อง ธนาธร แล้ว อัยการ ไม่สามารถ “หักล้าง” การไต่สวนของศาลรัฐธรรมนูญได้ โดยอ้างลอยๆ ว่า ธนาธร ไม่มีเจตนา ก็คงทำให้สังคมตั้งคำถามกับอัยการไม่น้อย เว้นเสียแต่มีพยานหลักฐาน ข้อมูลใหม่ อื่นๆที่มาหักล้าง คำตัดสินของศาลรธน.ได้ โดยเฉพาะเรื่อง “เจตนา” ที่อัยการ ต้องบอกกับสังคมให้ได้ว่า การที่จะสั่งไม่ฟ้อง ธนาธร เพราะมองว่า “ไม่มีเจตนา” อย่างที่สื่อบางสำนักรายงานข่าวดังกล่าว ทางอัยการ ใช้อะไรมาวัด ว่า ธนาธร ไม่มีเจตนา 

ซึ่งถ้าอัยการ หักล้างไม่ได้ ก็จะยิ่งทำให้ การทำงานของอัยการ ต้องเกิดเสียงวิจารณ์และการตั้งคำถามถึง “ดุลยพินิจในการสั่งคดี” ของอัยการ ที่ก็ต้องยอมรับว่าที่ผ่านมา ค่อนข้างมี ปัญหา-คำถาม เกิดขึ้นมากมายจากคนในสังคม โดยเฉพาะกับคดีดังๆ เช่นที่เคยสั่งไม่ฟ้อง  “คดีนายวรยุทธ อยู่วิทยา หรือ บอส กระทิงแดง” จนทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมาย กับกระบวนการยุติธรรม จนต่อมา อัยการ-ตำรวจ ต้องมีการรื้อสำนวนทำคดีกันใหม่ 

ด้วยเหตุนี้ สังคม จึงกำลังจับจ้องไม่น้อยว่า คดีของธนาธร ดังกล่าว จะออกมาอย่างไร จะออกมาโดยอัยการ มีความเห็นสั่งไม่ฟ้อง  ธนาธร อย่างที่มีกระแสข่าวหรือไม่ หรือว่าสุดท้าย เรื่องจะหักมุม คือ อัยการสั่งฟ้อง หรืออาจออกอีกแบบ คือถึงวันที่ 22 เม.ย. อัยการอาจเลื่อนนัดสั่งคดีออกไปอีก ผลจะเป็นแบบไหนต้องติดตาม 

อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าสุดท้าย ธนาธร จะรอด-ไม่รอดในคดีอาญาถือหุ้นสื่อ แต่ก็ใช่ว่า วิบากกรรมของธนาธร จะจบแค่นี้ เพราะยังมีคดีความอีกบางคดีที่ธนาธร รวมถึงคนในครอบครัว ต้องลุ้นกันอีกต่อไป 

อย่างตัว  ธนาธร ก็มีคดีที่อยู่ในชั้นตำรวจ-พนักงานสอบสวน หลักๆ ก็เช่น คดีอาญาอันเป็นผลพวงมาจากคดีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่และตัดสิทธิ์การเมือง 10 ปี กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ กรณีเงินกู้ 191 ล้านบาท และต่อมา กกต.มีมติให้ดำเนินคดีอาญา ธนาธรกับพวกรวม 15 คน ซึ่งเป็นกลุ่มอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ เช่น ปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่ ,ช่อ-พรรณิการ์ วานิช อดีตโฆษกพรรค ฯ ในความผิดตามพ.ร.บ.พรรคการเมือง 

กระนั้น ยังไม่ปรากฏชัดว่า หลังกกต.มีมติดำเนินคดีกับอดีตกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่แล้ว คดีดังกล่าว ตอนนี้อยูในชั้นไหน ของกระบวนการยุติธรรม 

นอกจากนี้ ธนาธร ยังมีคดีอาญากรณี พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อดีตรมว. ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้ส่งตัวแทนแจ้งความดำเนินคดี ธนาธร ต่อกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ฐานทำผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และความผิดตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ กรณี “ธนาธร ไลฟ์สด เรื่องวัคซีนพระราชทาน” ช่วงโควิดระบาดรอบสอง เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา 

รวมถึงยังมีกรณี คดีที่ อธิบดีกรมป่าไม้ ไปแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือบก.ปทส. เพื่อแจ้งความเอาผิดกับคนในครอบครัว “จึงรุ่งเรืองกิจ” คือ นางสมพร จึงรุ่งเรื่องกิจ ประธานบริษัท และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท มารดา ธนาธร-น.ส.ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท พี่สาว ธนาธร และ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ    กรณีใช้เอกสารที่ออกโดยมิชอบครอบครองพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี จ.ราชบุรี ร่วม 2,154 ไร่ อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ – พ.ร.บ.ป่าไม้- ประมวลกฎหมายที่ดิน-ประมวลกฎหมายอาญา รวมถึง จะฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย 147 ล้านบาทอีกด้วย 

ดูตามนี้ เห็นชัด ไม่ว่าสุดท้าย ธนาธร จะรอดหรือไม่รอด ในคดีถือครองหุ้นสื่อ อย่างที่มีกระแสข่าวหรือไม่ก็ตาม แต่วิบากกรรมคดีความต่างๆ ของธนาธรและคนในครอบครัว ก็ยังไม่จบง่ายๆ แน่นอน ในยามที่ ธนาธร กลายเป็น เป้าหมายอันดับต้นๆ ของคนบางกลุ่ม ที่ลิสต์ไว้ว่าคือ ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองที่ต้องจัดการ !!!

แสดงความเห็น