นายรณกาจ ชินสำราญ คณะกรรมการกิจกรรม และคนรุ่นใหม่พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยว่า จากข้อมูลเมื่อเดือน ก.พ. 64 รัฐมีวงเงินจาก “พ.ร.ก. Soft loan 5 แสนล้านบาทช่วยผู้ประกอบการ SMEs” เหลืออยู่จำนวน 370,000 ล้านบาท โดยมีการใช้สนับสนุน SMEs ไปแล้ว 130,000 บาท ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบัน กำลังจะมี SMEs และผู้ประกอบการรายเล็กรายกลางอีกมาก ที่ได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่หายไปจากการระบาดรอบใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงที่สุดในรอบปี ส่วนตัวในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการเองด้วย เชื่อว่าเงินสำรองของผู้ประกอบการหลายๆรายใกล้เข้ามาถึงจุด “เคราะห์ซ้ำ กรรมซัด” ที่จะยืนไม่ไหวแล้ว
อีกทั้ง ตามข้อมูลของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ ที่กระทรวงการคลังชี้แจงว่า รัฐกู้เงินเพิ่มขึ้นมาอีก 6 แสนล้านบาทในระยะ 5 เดือนของปีงบประมาณ 64 ที่ผ่านมา โดยมีหนี้สาธารณะของประเทศที่เดือน ก.พ. 64 อยู่ที่ระดับ 8.4 ล้านล้านบาทแล้ว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 53.2% ของ GDP โดยวงเงิน พ.ร.ก. Soft Loan 5 แสนล้านก็เป็นส่วนหนึ่งของหนี้สาธารณะนี้
นายรณกาจ ยังกล่าวว่า พ.ร.ก. Soft Loan 5 แสนล้าน ในระยะเวลาเกือบ 1 ปีที่ผ่านมา รัฐสามารถปล่อยมาช่วยเหลือผู้ประกอบการได้เพียง 26% (130,000 ล้าน จาก 500,000 ล้านบาท) และยังมีวงเงินเหลืออีกมาก โดยปัจจุบัน มี SMEs จำนวนมากที่เข้าไม่ถึงวงเงินนี้ เพราะมีข้อจำกัดของการที่ปล่อยเงินไปช่วยผู้ประกอบการ เช่น เกณฑ์ในการพิจารณาการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ที่จำกัดการเข้าถึงของผู้ประกอบการ ซึ่งจำนวนเงินที่กู้มา แทนที่จะได้ใช้กระตุ้นเศรษฐกิจตามวัตถุประสงค์ของการกู้ ถ้ามีเงินเหลือมากเกินก็จะเกิดภาระดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะที่ไม่จำเป็นและไม่เกิดประโยชน์ให้กับประชาชนอีก
ในสถานการณ์แบบนี้ รัฐสามารถสร้าง “โอกาส” ให้เกิดขึ้นในวิกฤตได้ จากวงเงินที่ยังเหลืออยู่ในสัดส่วนที่มาก ยกตัวอย่างเช่น ตั้ง “กองทุน Soft Loan ตั้งตัวผู้ประกอบการใหม่” ภายใต้วงเงิน 5 แสนล้าน สำหรับคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ แล้วกิจการของนายจ้างต้องปิดตัวลง จนต้องกลับไปอยู่บ้านต่างจังหวัดกัน คนรุ่นใหม่เหล่านี้มี Skills มีความเชี่ยวชาญในการใช้ Technology ใหม่ๆ มีไอเดีย และมีแรงพร้อมที่จะสู้ไม่ถอย เพียงแต่ขาดเงินทุน หรือแม้แต่ในจังหวัดที่ไม่ต้องพึ่งการท่องเที่ยวมาก รัฐสามารถสนับสนุนให้เกิดการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ โดยสร้างจังหวัดหรือพื้นที่นำร่องเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ดังกล่าว ที่มีความรู้ความสามารถและความตั้งใจจำนวนมากเหล่านี้ แต่ยังขาดแหล่งเงินทุนได้
“ส่วนตัว ในฐานะประชาชนและผู้ประกอบการ อยากขอให้รัฐช่วยพิจารณาการปรับเกณฑ์ให้มาตรการนี้ช่วยภาคธุรกิจได้เยอะขึ้น หรือพิจารณาทางเลือกอื่นๆเพิ่มเติมให้แต่ละกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบมาก-น้อยต่างกัน ได้เข้าถึงวงเงิน Soft Loan ได้ง่ายขึ้น ไม่อย่างนั้น อาจจะเห็นเศรษฐกิจระดับฐานล่าง และคนตัวเล็ก ล้มหายตายจากไปอีกจำนวนมาก” นายรณกาจ กล่าว