“เศรษฐพงค์” เตือนควบรวม TOT-CAT ต้องวางแผนให้ดี หลอมรวมให้เป็นหนึ่ง-เท่าเทียม

เศรษฐพงค์ แนะควบรวม TOT-CAT ต้องวางแผนให้ดี ต้องเร่งหลอมรวมให้กลายเป็นหนึ่ง-สองฝ่ายเท่าเทียมกัน เชื่อหากทำได้จะไปรอด

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร การโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ให้สัมภาษณ์ถึงการควบรวมกิจการระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  หรือ TOT และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ว่า ประเด็นคงไม่ใช่ว่าจะสำเร็จหรือไม่ แต่ความเป็นจริงที่น่าเป็นห่วงมากกว่าคือ หลังจากควบรวมแล้วจะสามารถไปรอดในธุรกิจได้หรือไม่ บทเรียนเรื่องนี้สามารถย้อนประวัติศาสตร์ดูได้ รายงานจาก HBR ในปี 2015 ให้อัตราความล้มเหลวหลังจากการควบรวมกิจการไว้สูงถึง 70%-90% ตัวอย่างการควบรวมของกิจการสื่อสารสองแห่งแล้วเกิดความล้มเหลวที่เคยเกิดขึ้นคือ กรณีการควบรวมระหว่าง AOL(American on Line) กับ Time Warner ในปี 2001 ที่มีมูลค่าสูงถึง 165,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีการใช้ชื่อ “AOL Time Warner” ในเวลานั้น AOL คือผู้นำการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านสายโทรศัพท์ ที่ต้องการขยายตลาดไปสู่อินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่ง Time Warner มีธุรกิจสื่อและมีเดียอยู่ในมือที่สำคัญคือ CNN, TBS, HBO, Time, Sports Illustrated และ Warner Bros ดูเหมือนการควบรวมครั้งนั้นจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก แต่สุดท้ายหลังจากควบรวมได้เพียงปีเดียว AOL ประกาศภาวะขาดทุนสูงถึง 99,000 ล้านเหรียญสหรัฐ 

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า นอกจากที่ตนยกตัวอย่างมาแล้ว ยังมีอีกหลายกรณีที่เกิดความล้มเหลว ซึ่งบทเรียนความล้มเหลวของการควบรวมจะมีปัญหาจากหลายสาเหตุทั้งกระบวนการของการกำหนดวิสัยทัศน์หลังการควบรวม ทิศทางแผนการทำธุรกิจ และที่สำคัญอย่างยิ่งคือการหลอมรวมของสององค์กรที่มีความแตกต่างกัน หลายครั้งการควบรวมการเป็นหนึ่งองค์กรแต่ไม่สามารถหลอมรวมคนได้ กลายเป็นมีสองกลุ่มในหนึ่งองค์กร ผู้บริหารกลุ่มหนึ่งจะพยายามสนับสนุนแต่คนเดิมของตนเอง พนักงานก็ไม่รู้สึกไว้ใจผู้บริหารที่มาจากอีกองค์กรหนึ่ง ทำให้กลายเป็นว่าศึกนอกก็ต้องสู้ ศึกในก็คอยรบกวนตลอดเวลา ช่วงเวลาอีกหกเดือนข้างหน้ามีปัจจัยหลายอย่างที่ท้าทายกับการควบรวมของสององค์กรนี้เป็นอย่างมาก และที่สำคัญคืออย่าเสียเวลาในการต่อรองว่าคนฝั่งนี้คนฝั่งโน้นจะได้ตำแหน่งบริหารที่สำคัญอะไรบ้าง แต่ควรทำการหลอมรวมคนสองฟากให้เป็นหนึ่ง วางวิสัยทัศน์ กำหนดยุทธศาสตร์ระยะยาว การแบ่งปันประสบการณ์ ความรู้ ความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่าย

“การควบรวมองค์กรไม่ใช่ว่ามีแต่ความล้มเหลว ที่ทำแล้วสำเร็จก็มี แต่ต้องใช้วิธีการที่ดี ให้ทั้งสองฝ่ายเท่าเทียม ไม่ใช่รูปแบบควบรวมแบบฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ซื้ออีกฝ่ายหนึ่ง และต้องมีแผนการดำเนินงานที่ละเอียด ชัดเจนและรัดกุม ซึ่งต้องออกแบบให้ดี ซึ่งแผนเหล่านี้มีความสำคัญเพราะจะช่วยผสานสององค์กรให้ทำงานร่วมกันได้อย่างดี แต่หากวางแผนการบริหารงานได้ไม่ดีพอ อาจจะเกิดความล้มเหลวได้ ผมอยากให้คิดถึงเรื่องนี้อย่างละเอียด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างราบรื่นตามที่วางเป้าหมายเอาไว้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศ” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น