“เศรษฐพงค์” หวังไทยต่อยอดกิจการอวกาศหลังปล่อยดาวเทียมนภา-1 แนะตั้งกองทุนพัฒนากิจการอวกาศกระตุ้นการตื่นตัว หลังมูลค่าทั่วโลกเติบโตแบบก้าวกระโดด ชี้โลกยุค 5G เทคโลยีพัฒนาเร็วต้องเร่งตามให้ทัน
พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า การปล่อยดาวเทียมนภา 1 ของกองทัพอากาศขึ้นสู่วงโคจรอวกาศถือเป็นความสำเร็จอีกก้าวหนึ่งของประเทศ ซึ่งจะสามารถลาดตระเวนและเฝ้าตรวจทางอวกาศ รวมทั้งยังสามารถสนับสนุนด้านสาธารณะภัยได้อีกด้วย ซึ่งจะสามารถต่อยอดไปถึงกิจการด้านอวกาศ ที่ประเทศไทยนั้นกำลังร่างพ.ร.บ.กิจการอวกาศแห่งชาติกันอยู่ โดยข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษาระดับโลกได้มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของกิจการอวกาศทั่วโลกมีมูลค่ารวมกันตั้งแต่ปี 2015-2019 ที่มีการเติบโตในช่วงเวลาห้าปีจาก 3.3แสนล้านเหรียญสหรัฐมาเพียง 3.5แสนล้านเหรียญสหรัฐ และตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไปกิจการอวกาศจะมีมูลค่าการเติบโตอย่างก้าวกระโดด และคาดการณ์ว่าในปี 2040 จะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยในห้วงเวลาสิบปีจากนี้ไปกิจการอวกาศจะมีการสร้างมูลค่าได้มากถึง 6 แสนล้านเหรีญในปี 2030 ซึ่งตรงนี้ถือเป็นเหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยจะต้องมีการออกกฎหมายกิจการอวกาศ และกองทุนพัฒนากิจการอวกาศเกิดขึ้น
พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า การเติบโตของการใช้งานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมจะเป็นตัวเร่งที่ทำให้มีการใช้งานดาวเทียมเปลี่ยนบทบาทไป ซึ่งแต่เดิมจะอยู่เรื่องการให้บริการแพร่ภาพสัญญาณผ่านโทรทัศน์ แต่ในช่วงเวลาความต้องการการใช้งานบรอดแบนด์ที่เพิ่มขึ้นมากในยุค 5G ดาวเทียมจะถูกพัฒนาให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานเพื่อให้บริการบรอดแบนด์เพื่อรองรับการใช้งาน IoT รถยนต์ขับเคลื่นอัตโนมัติ AI รวมทั้งเทคโนโลยีอื่นๆอีกมากมาย โดยสาเหตุที่สำคัญในการนำดาวเทียมมาใช้ในกิจการดาวเทียมก็เนื่องจากมีการพัฒนาลดต้นทุนการยิงจรวดขึ้นไปในอวกาศ โดยในปี 2020 หลายประเทศได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีด้านนี้เพื่อมีการนำจรวดกลับมาใช้ซ้ำได้ ทำให้ต้นทุนในการยิงจรวดขึ้นไปในอวกาศจะมีต้นทุนลดลงหลายเท่าตัว ด้วยต้นทุนที่ลดลงของดาวเทียมและการยิงจรวดจะทำให้มีกิจกรรมอวกาศต่าง ๆ เกิดขึ้นได้เป็นอย่างมาก
“การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของกิจการอวกาศจำเป็นจะต้องการลงทุนโดยความเป็นจริง โดยในช่วงการเริ่มต้นรัฐบาลอาจจะต้องเป็นผู้ลงทุนหลักผ่านงบประมาณประจำปีและการสร้างกลไกในการให้ทุนในการส่งเสริมทั้งผ่านสถาบันวิจัย สถาบันการศึกษา รวมทั้งในภาคธุรกิจเอกชน จัดตั้งกองทุนพัฒนากิจการอวกาศโดยมีทุนประเดิมจากภาครัฐ เพื่อสร้างแรงกระตุ้นในการพัฒนากิจการอวกาศของประเทศ ควบคู่การสร้างสภาพแวดล้อมให้เกิดการลงทุนด้านกิจการอวกาศเชิงพาณิชย์ด้วย เพื่อให้เกิดการตื่นตัว ซึ่งจะสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและการจ้างงานอีกมากมาย และยังจะไปเป็นส่วนเสริมให้กับกิจการต่างๆ ที่มีอยู่แล้ว เช่น ด้านการเกษตร ด้านการคมนาคมขนส่ง การดูแลทรัพยากรธรรมชาติ และสาธารณสุข ให้มีมูลค่ามากขึ้นอีกด้วย” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว