“กัลยา” เผย กมธ.ดีอีเอส เชิญ กรมอุตุฯ แจงความพร้อมรับมือภัยพิบัติ


กมธ.ดีอีเอส เชิญ กรมอุตุฯ แจงความพร้อมรับมือภัยพิบัติ “อธิบดี” ยันเตรียมพัฒนาระบบแจ้งเตือนผ่าน SMS  และแอปพลิเคชัน ย้ำ ต้องสร้างแพลตฟอร์มกลางเป็นของไทยเอง

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงการประชุมกมธ.ดีอีเอส ว่า มีวาระพิจารณา การเตรียมความพร้อมในการรับมือกับปัญหาวาตภัยและอุทกภัยของกรมอุตุนิยมวิทยา โดยมี น.อ.สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา เข้าชี้แจง ซึ่งจากการที่คณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ จ.ชุมพร เมื่อวันที่ 7-8 ส.ค. ที่ผ่านมา กมธ. ได้ลงไปสำรวจสถานีกรมอุตุนิยมวิทยา จ.ชุมพร ซึ่งได้พบปัญหาความไม่พร้อมหลายๆอย่าง ทั้งด้านงบประมาณและอุปกรณ์ พบว่ามีอุปกรณ์บางอย่างเสียหาย ไม่พร้อมใช้งาน ซึ่งเราหวั่นว่าหากมีพายุ และช่วงนี้เข้าสู่ช่วงหน้าฝนและมีมรสุมเข้า ถึงเวลาอาจจะเกิดการเตือนภัยกับประชาชนในพื้นที่ไม่ทันเวลา จะก่อให้เกิดความสูญเสียได้

ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะ รองประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าวว่า ในยุคที่เทคโนโลยีมีการพัฒนาไปไกล ตนคิดว่าเราสามารถที่จะนำเทคโนโลยีต่างๆมาช่วยในการแจ้งเตือนภัยให้กับประชาชนได้ ตนขอฝากไปยังกรมอุตุฯในการนำเทคโนโลยีเหล่านั้นมาช่วยให้การแจ้งเตือนมีการสัมฤทธิ์ผลที่ดีขึ้น เพราะจะช่วยลดความเสียหายทั้งในชีวิตและทรัพย์สินได้อย่างมาก 

ขณะที่ น.อ.สมศักดิ์ กล่าวว่า เราได้รับแจ้งจากสถานีอุตุนิยมวิทยา จ.ชุมพรว่า มีฟ้าลงทำให้ระบบมิกเซอร์ของเสียงเสียหายเท่านั้น แต่อุปกรณ์อื่นๆยังใช้การได้ตามปกติ ซึ่งจะทำให้การออกอากาศทางวิทยุเสียงไม่ชัดเจน ซึ่งทางกรมอุตุได้สั่งให้ดำเนินการแก้ไข โดยเรามีงบประมาณในการซ่อมอยู่แล้ว แต่อาจจะช้าเล็กน้อยเพราะต้องมีการเสนอเรื่องเข้าสู่คณะกรรมการก่อน ทั้งนี้ทางกรมอุตุฯมีการออกอากาศรายงานสภาพอากาศผ่านวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ของกรมประชาสัมพันธ์ และมีการประกาศแจ้งระวังภัยผ่านทางกระทรวงมหาดไทยอยู่แล้ว ส่วนวิทยุของกรมอุตุฯ คือการให้บริการแจ้งเตือนกับ ชาวบ้านที่ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือการออกอากาศเป็นภาษาท้องถิ่น เพื่อเป็นการอุดช่องโหว่เท่านั้น นอกจากนี้ทางกรมอุตุฯกำลังพัฒนาระบบการแจ้งเตือนผ่าน SMS แก่ประชาชน รวมทั้งกำลังปรึกษาหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆพัฒนาระบบแอปพลิเคชัน ในการแจ้งเตือนภัยพิบัติด้วย แต่ทั้งนี้แอปฯ ดังกล่าวจะต้องมีรูปแบบที่หลากหลายสามารถแจ้งเตือนหลายอย่างในแอปเดียวเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงการพัฒนาแฟลตฟอร์มกลางของประเทศ ไม่ต้องพึ่งแฟลตฟอร์มของต่างประเทศ

แสดงความเห็น