กมธ.ดีอีเอส ระบุ ไทยต้องพึ่งพาตนเองด้านพลังงานให้ได้ เพราะมีความไม่แน่นอนของสงครามการค้าและเพื่อความยั่งยืนของปท.ในอนาคต
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย และรองประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) กล่าวว่า โลกยุคปัจจุบันสิ่งหนึ่งที่เริ่มมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น คือพลังงานทางเลือก ตนฟันธงได้เลยว่าในระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า รัฐบาลจะต้องวางแผนเรื่องโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม เพื่อรองรับการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานทางเลือก เพราะอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดความไม่แน่นอนของพลังงานหลักที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน โดยมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดสงครามด้านพลังงานจากประเทศผู้ผลิตน้ำมันของโลก ซึ่งสถานการณ์ความขัดแย้งงด้านพลังงาน รวมทั้งสงครามการค้า อาจส่งผลต่อประเทศไทยในอนาคตอันใกล้ หากประเทศไทยไม่สามารถพึ่งพาต้นเองทางด้านพลังงานได้ ดังนั้น พลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งเป็นพลังงานที่ได้มาฟรี ๆ จะเข้ามามีบทบาทสำคัญ แต่ต้องมีการวางแผนด้านการแลกเปลี่ยนพลังงาน โดยใช้เทคโนโลยี Blockchain ผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม เช่น ในสหรัฐอเมริกามีการทดลองเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีแผงเซลล์แสงอาทิตย์ติดตั้งอยู่บนหลังคาและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นเครือข่าย ผ่านแพลตฟอร์มในการแลกเปลี่ยนพลังงาน ที่ทำให้ผู้ผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ สามารถขายไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้จากระบบ ให้กับผู้รับซื้อภายในกลุ่มได้โดยตรงซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนบ้านก็ได้ ขณะนี้เทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์มาถึงจุดที่ราคาถูกลงมาก ประเทศเราต้องมองข้ามไปอีกขั้น มองถึงการวางโครงสร้างพื้นฐานด้านการแลกเปลี่ยนพลังงานผ่านระบบโครงข่ายโทรคมนาคม คือเมื่อบ้านเรามีพลังงานไฟฟ้าเหลือสามารถส่งผ่านสายเพื่อแบ่งไปยังบ้านอื่นได้
“Blockchain เป็นเทคโนโลยีฐานข้อมูล ซึ่งมีความสามารถในการทำธุรกรรมที่ปลอดภัย ช่วยสร้างธุรกิจที่เกี่ยวกับการแบ่งปันพลังงานได้ อนาคตจะไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานจากบริษัทพลังงานหลักแบบดั้งเดิมอีกต่อไป เพราะจะเกิดเป็นโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าขนาดเล็ก ที่สามารถผลิตและกักเก็บโดยสมาชิกในกลุ่มเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ภายหลังสถานการณ์วิกฤตโควิด -19 นอกจากที่เราจะต้องเน้นการฟื้นฟูทางภาคการท่องเที่ยว เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมแล้ว จะต้องทำให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทางเลือกเป็นส่วนสำคัญของการฟื้นฟูที่กว้างขวางมากขึ้น ในหลายๆ ประเทศมีการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานบ้างแล้ว และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเริ่มมีเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากบางประเทศกำหนดกรอบนโยบายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียนไว้ มีนวัตกรรมอย่างต่อเนื่องและมีต้นทุนด้านเทคโนโลยีที่ลดลง และการใช้พลังงานหมุนเวียนสามารถสร้างตำแหน่งงานใหม่และเพิ่มรายได้ให้แก่ท้องถิ่นทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา โดยการจ้างงานในภาคธุรกิจซึ่งมีมากถึง 11 ล้านตำแหน่งงานทั่วโลกในปี 2018 อาจเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่าภายในปี 2020 ในขณะที่ตำแหน่งงานเกี่ยวกับประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความยืดหยุ่นของระบบพลังงานจะเพิ่มขึ้นอีก 40 ล้านตำแหน่งงาน
“การวิจัยและนวัตกรรมมีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีและสามารถลดต้นทุนสำหรับพลังงานที่ยั่งยืนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับการใช้งานปลายทาง ซึ่งรัฐบาลจะต้องยอมรับทางเลือกเหล่านี้ เพื่อให้แน่ใจว่านโยบายสาธารณะและการตัดสินใจลงทุนจะสะท้อนถึงศักยภาพที่แท้จริงสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจ วิกฤตควิด-19 ในปัจจุบันได้เน้นย้ำถึงความเชื่อมโยงถึงกันในระดับโลก ดังนั้นสิ่งเหล่านี้ควรเป็นข้อพิจารณาที่สำคัญสำหรับมาตรการในการฟื้นฟูประเทศ ที่การขับเคลื่อนด้วยกลไกตลาดเพียงอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ เราต้องเตรียมการในการใช้พลังงานเพื่อความยั่งยืนของประเทศ เราต้องยืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ไปพึ่งพาพลังงานของต่างประเทศเพียงอย่างเดียว” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว