วิษณุ แนะ “อนุทิน” ดึงบุคลากรทางการแพทย์มาอยู่ใน ศบค. กันโดนฟ้อง

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้สอบถามความชัดเจนกับนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข ถึง พ.ร.ก.คุ้มครองแพทย์ (ร่าง พ.ร.ก.จำกัดความรับผิดสำหรับบุคลากรสาธารณสุขในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ว่าเป็นอย่างไรบ้าง โดยนายอนุทิน ชี้แจงว่าตนเองก็ยังไม่เห็นกฎหมายฉบับเต็ม เพราะยังยกร่างไม่เสร็จ อยู่ในขั้นตอนของกระทรวง และถึงอย่างไรกระทรวงสาธารณสุขจะต้องมาปรึกษากับนายวิษณุอยู่แล้ว พร้อมกับเล่าที่มาของกฎหมายดังกล่าวว่า เรื่องนี้เริ่มจากที่ประชุมอีโอซีกระทรวงสาธารณสุข เห็นพ้องต้องกันว่าบุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาโควิด-19 มีความกังวลในการทำงาน เนื่องจากต้องดูแลผู้ป่วย 1-2 หมื่นคนต่อวัน ผู้ป่วยบางคนไม่ได้รับความสะดวก โรงพยาบาลสนามบางแห่งไม่มีเครื่องเอกซเรย์ ถ้าสถานการณ์ปกติไม่เป็นอะไร แต่วันนี้มีผู้ป่วยอยู่ใน HI และCI สองแสนกว่าราย จึงเป็นความกังวลของบุคลากรทางการแพทย์ว่าจะถูกฟ้องร้องตามหลังหากรักษาให้ไม่ทันหรือเกิดความผิดพลาด อีกทั้งฝ่ายตรงข้ามก็พยายามโจมตีเฉพาะประเด็นยา ประเด็นวัคซีน มาพูดถึง พ.ร.ก.ดังกล่าว แต่ข้อเท็จจริงมันมีอย่างอื่น ถ้าเกิดอะไรผิดพลาดก็อยากได้การรับรอง จะได้ไม่มีใครมาฟ้อง จึงต้องทำทุกอย่างให้ครอบคลุม  

แหล่งข่าว กล่าวว่า ทำให้นายวิษณุกล่าวว่า ถือเป็นหลักการที่ดี เจตนาดี เพราะแพทย์มีสิทธิที่จะถูกฟ้องได้ แต่อาจจะไปใช้วิธีอื่นได้ เช่น ดึงเอาบุคลากรทางการแพทย์มาเป็นเจ้าพนักงานของ ศบค. ซึ่งได้รับการคุ้มครองตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่ไม่แน่ใจว่าเพียงพอหรือไม่ แต่หากจำเป็นต้องออกเป็น พ.ร.ก.ก็อยากให้นำเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน หรือเรื่องที่ต้องการแก้ไขอื่นๆ เช่น เรื่องวัคซีน โรงพยาบาลสนาม เอามารวมใน พ.ร.ก.ฉบับนี้ ไม่ใช่นิรโทษกรรมเรื่องเดียว หรือแม้แต่ประเด็นที่อยากจะแก้ไข พ.ร.บ.โรคติดต่อ ถ้าเห็นว่ามีอะไรสำคัญและอยากจะใช้เร็วให้ดึงมาอยู่ใน พ.ร.ก.นี้ด้วย เพราะถ้าจะทำต้องทำให้รอบคอบ ครอบคลุม แต่การออก พ.ร.ก.นี้อาจไม่มีเหตุผลทางการเมืองที่จำเป็นต้องออก โดยนายอนุทินย้ำว่าถึงอย่างไรต้องนำมาหารือนายวิษณุก่อนอยู่ดี 

แสดงความเห็น