“พัชรวาท” เผย ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงฯ 3 ฉบับ เพิ่มมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม 

“พัชรวาท” เผย ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงฯ 3 ฉบับ เพิ่มมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม “พังงา-กระบี่-เกาะพยาม ระนอง” ช่วยรักษา ฟื้นฟู ให้สมดุลตามธรรมชาติ 

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) ว่า ครม.เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ เรื่อง กำหนดเขตพื้นที่ และมาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมในท้องที่ อ.คุระบุรี อ.ตะกั่วป่า อ.ท้ายเหมือง อ.ทับปุด อ.ตะกั่วทุ่ง อ.เกาะยาว อ.เมือง จ.พังงา และอ.อ่าวลึก อ.เมือง อ.เหนือคลอง อ.คลองท่อม อ.เกาะลันตา จ.กระบี่ เนื่องจากประกาศกระทรวงฉบับเดิมจะสิ้นอายุการใช้บังคับในวันที่ 31 มี.ค.2568  จึงมีความจำเป็นต้องออกประกาศกระทรวงฯ ฉบับใหม่เพื่อให้มาตรการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมที่ปรับปรุงแก้ไขมีความเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัจจุบัน โดยผ่านการรับฟังความเห็นจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง ก่อนนำมาจัดทำร่างประกาศกระทรวง โดยสาระสำคัญของร่างประกาศ อาทิ ห้ามกระทำหรือประกอบกิจกรรมที่เป็นอันตราย หรือส่งผลกระทบในทางเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศ ส่วนมาตรการเกี่ยวกับโรงงาน จำเป็นต้องมีเครื่องจักร อุปกรณ์ เพื่อควบคุมมลพิษ แก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม  กำหนดพื้นที่ว่างน้ำซึมผ่านได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 และต้องมีพื้นที่สีเขียวไม่น้อยกว่าร้อยละ 50 ของพื้นที่น้ำซึมผ่านได้ และต้องมีไม้ยืนต้นเป็นองค์ประกอบหลักในพื้นที่ว่างตามกฎหมายควบคุมอาคารหรือผังเมือง กำหนดมาตรการควบคุมความสูงอาคารในระยะ 100 เมตร รอบเขตโบราณสถาน ปรับหลักเกณฑ์การทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น หรือ IEE เพื่อผ่อนปรนให้กับผู้ประกอบการโรงแรมรายย่อยที่มีขนาดห้องพัก 11 -49 ห้อง ไม่ต้องจัดทำรายงาน    ทั้งนี้ให้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้กฎกระทรวงเป็นเวลา 5 ปี 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างประกาศกระทรวงฯอีก 1 ฉบับ  เรื่อง มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในพื้นที่หมู่เกาะพยาม อ.เมืองระนอง จ.ระนอง สืบเนื่องจาก พื้นที่หมู่เกาะพยาม ประกอบด้วย เกาะพยาม เกาะขาม และเกาะนุ้ย มีพื้นที่ 1.5 พันไร่ เป็นแนวปะการังน้ำตื้นสภาพดีปานกลาง หญ้าทะเลค่อนข้างสมบูรณ์ พบสัตว์ทะเลหายากและใกล้สูญพันธุ์เป็นครั้งคราว แต่พบว่ามีการตายของปะการังบางส่วน เนื่องจากมีการประกอบกิจกรรมการท่องเที่ยวทะเล ทำประมง การพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ ปัญหาการทิ้งขยะ น้ำเสียจากชุมชน ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แนวปะการัง แหล่งหญ้าทะเล สัตว์น้ำวัยอ่อน และคุณภาพชายหาด  จึงมีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องกำหนดพื้นที่ให้ใช้มาตรการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดังนั้นจึงมีมาตรการกำหนดด้านป้องกันด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ  ห้ามทิ้งขยะ ปล่อยน้ำเสีย ตะกอน การท่องเที่ยวดำน้ำ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวปะการัง รวมทั้งทิ้งสมอเรือ การให้อาหารสัตว์น้ำ การทำประมง การขุดหรือถมทะเล  การจับหรือครอบครองปลาสวยงาม ซึ่งมาตรการดังกล่าวไม่ให้ใช้บังคับกับพื้นที่ราชการ เช่น กองทัพเรือ การปฏิบัติการของหน่วยงานรัฐ เพื่อประโยชน์ในการคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลแลชายฝั่ง การศึกษาและวิจัยทางวิาการ หรือการดำเนินการ หรือกิจกรรมใด เพื่อประโยชน์ทางวิชาการ

“เมื่อประกาศกระทรวงทั้ง 3 ฉบับ ได้รับการเห็นชอบจากครม.แล้ว เชื่อมั่นว่าจะช่วยป้องกัน สงวน บำรุงรักษา และคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม แหล่งธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมที่มีคุณค่าในพื้นที่ให้คงอยู่ได้อย่างสมดุลตามธรรมชาติ และคงความสมบูรณ์ยั่งยืน ส่งเสริมภาพลักษณ์การท่องเที่ยว ทำให้เกิดรายได้กับประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้กลับมามีความสมบูรณ์ เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเลคงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ทางธรรมชาติ เพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ เพิ่มรายได้กิจการประมงท้องถิ่น  เป็นการบริหารทะเลและชายฝั่งให้เกิดความยั่งยืน” พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าว 

แสดงความเห็น