“สมศักดิ์” ยัน แก้ปัญหายาเสพติด ต้องเชิงรุก แย้ม กำลังทำกฎหมาย ดึงเงินยึดทรัพย์มาบำบัดผู้ติดยา

“สมศักดิ์” เปิดเวทีสานพลังชุมชนล้อมรักษ์ ยัน แก้ปัญหายาเสพติด ต้องเชิงรุก โชว์ แก้กฎหมาย-ยึดทรัพย์-หางานให้ แย้ม กำลังทำกฎหมาย ดึงเงินยึดทรัพย์มาบำบัดผู้ติดยาเสพติด เผย มียอดสะสม 1.9 ล้านคน เป็นกลุ่มรุนแรง 3.8 หมื่นคน ย้ำ 30 บาทในกทม.ยังใช้ไม่ได้ทุกโรงพยาบาล

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานพิธีเปิดเวทีสานพลังชุมชนล้อมรักษ์ กรุงเทพมหานคร และชี้แจงแนวนโยบายและกระบวนการขับเคลื่อนงานสร้างรูปธรรม ชุมชนล้อมรักษ์ CBTx โดยมี นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายวิชัย ไชยมงคล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกรุงเทพมหานคร ทั้ง 50 เขต และผู้แทนภาคีเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพ เข้าร่วม ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ยาเสพติด เป็นปัญหาที่สำคัญของประเทศไทย และทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต ของทั้งผู้เสพ คนในครอบครัว และชุมชน นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อ การพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอีกด้วย โดยรัฐบาล ได้กำหนดให้การแก้ไขปัญหายาเสพติด เป็นวาระแห่งชาติ ที่ต้องดำเนินการอย่างจริงจัง และได้เริ่มปฏิบัติการสกัดกั้นยาเสพติดตามแนวชายแดน การจับกุม ยึดทรัพย์ผู้ค้า จัดการเจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้อง และเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ให้เข้ารับการบำบัด ลดความรุนแรงของปัญหาจิตเวชจากยาเสพติด

“ในปี 2566 ประเทศไทย มีผู้ป่วยยาเสพติดประมาณ 1,900,000 คน โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ผู้ป่วยกลุ่มสีแดง ซึ่งมีอาการรุนแรง หรือ ผู้ติดยาเสพติด 38,000 คนหรือประมาณ 2% 2.ผู้ป่วยกลุ่มสีเหลือง หรือผู้เสพ 450,000 คน หรือประมาณ 24% และ 3.ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว หรือผู้ใช้ยาเสพติด 1,400,000 คน หรือประมาณ 74% โดยชุมชนล้อมรักษ์ หรือ CBTx เป็นกระบวนการสำคัญ ที่ช่วยการดูแลสนับสนุน และฟื้นฟูผู้ป่วยที่ต้องการเลิกยาเสพติด ผ่านการมีส่วนร่วมของชุมชน ช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงบริการได้สะดวก ไม่ต้องเดินทางไกล ได้รับการดูแลที่ครอบคลุม และต่อเนื่อง ทั้งทางการแพทย์ สภาพจิต สังคม การศึกษา และการฟื้นฟู พร้อมช่วยเสริมสร้างความรู้ และทักษะในการดูแลตนเอง และผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน” รมว.สาธารณสุข กล่าว

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมา มีชุมชนซึ่งเป็นฐานในการบำบัดผู้ป่วยยาเสพติด ประมาณ 10,000 แห่ง และเมื่ออาการดีขึ้น สามารถส่งต่อไปยังศูนย์ฟื้นฟูสถานภาพทางสังคม กระทรวงมหาดไทย 3,258 แห่ง เพื่อรับไปดูแล คืนคนดีสู่สังคม และมีกลไกคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ หรือ พชอ. เป็นกำลังสำคัญ ร่วมสร้างชุมชนเข้มแข็ง ป้องกันยาเสพติด ส่วนหนังสือที่ได้มีการยื่นให้กับตนเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติด ก็เห็นตรงกัน แต่สิ่งที่ตั้งคำถามมา เป็นการทำงานแบบตั้งรับ แต่ตนทำงานแบบรุกตั้งแต่อยู่กระทรวงยุติธรรมแล้ว โดยได้แก้กฎหมายประมวลยาเสพติด เพื่อเน้นการยึดอายัดทรัพย์ เพราะในอดีต เราไม่ได้ทำเชิงรุก เป็นการตั้งรับอย่างเดียว ซึ่งในแต่บละปีสามารถยึดทรัพย์ได้ไม่ถึง 20 ล้านบาท ทั้งที่แหล่งผลิตต้นทางมีมูลค่าถึง 7 หมื่นล้านเหรียญ ตนจึงมองว่า การแก้ยาเสพติด ถ้าตั้งรับอย่างเดียวจะเหนื่อยมาก จึงมีการเปลี่ยนแนวทางเน้นการยึดทรัพย์ ให้รางวัลคนแจ้งเบาะแส 5% รวมถึงตนก็เพิ่งเปลี่ยนแนวทางการทำคดี ผู้เสพเหลือ 1 เม็ด แต่ก็ต้องพิสูจน์ให้ได้ด้วยว่า เป็นผู้เสพ พร้อมบอกว่าซื้อจากใคร ซึ่งก็จะได้ 1 ผู้เสพ และ 1 ผู้ขาย 

“ส่วนข้อเสนอให้ผู้พ้นโทษจากคดียาเสพติด สามารถทำงานเป็นราชการได้นั้น ผมยังไม่สามารถรับรองได้ เพราะเกี่ยวข้องกับกฎหมาย แต่การให้ทำงาน ผมก็พร้อมสนับสนุน เนื่องจากหากพ้นโทษออกมาแล้วว่างงาน ก็จะกระทำผิดซ้ำอีก โดยเรื่องนี้ เราเห็นตรงกัน ซึ่งตอนผมเป็น รมว.ยุติธรรม ก็ได้ขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ 5 ภาค เพื่อรองรับผู้พ้นโทษจากเรือนจำแล้วไม่มีงานทำ” รมว.สาธารณสุข กล่าว 

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนเพิ่มเติมว่า เรื่องผู้เสพ 1 เม็ดต้องระบุผู้ขายนั้น เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี ที่ต้องมีการสอบสวนให้ลึกว่า ซื้อมาจากไหน ซึ่งจะได้ทั้ง ผู้เสพไปบำบัด และผู้ขายรายเล็ก ที่จะนำไปขยายผลยีดทรัพย์ด้วย 

เมื่อถามถึงเงินที่สามารถยึดทรัพย์ได้จะนำไปใช้อะไรบ้าง นายสมศักดิ์ กล่าวว่า เงินที่สามารถยึดทรัพย์ได้ ป.ป.ส.จะรวมเป็นกองทุนยาเสพติด แต่ยังไม่ได้นำงบประมาณมาใช้ในด้านจิตเวช ซึ่งเรากำลังทำกฎหมาย ให้สามารถนำงบประมาณจากกองทุนยาเสพติด มาสนับสนุนการบำบัดผู้ติดยาเสพติดได้ โดยได้มอบหมายนายวิชัย ร่วมกับกรมสุขภาพจิต เร่งดำเนินการ 

เมื่อถามถึง 30 บาทรักษาทุกที่ในพื้นที่กทม. ยังไม่สามารถไปได้ทุกที่ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ มีการเชื่อมเครือข่ายไว้ทั้งหมดแล้ว แต่การรักษายังไม่ครบถ้วน โดย กทม.ยังไม่ถึงเวลาอย่างเป็นทางการ จึงขออย่าเข้าใจผิดว่า ไปได้ทุกโรงพยาบาล ซึ่งที่เปิดเป็นทางการแล้วมี 4-5 จังหวัด ส่วนปัญหาใบส่งตัว ตนก็ได้รับทราบปัญหาแล้ว และได้มอบหมายให้ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปแก้ปัญหาให้ลดน้อยลงแล้ว

แสดงความเห็น