“พัชรวาท” เข้าสภาฯ ตอบกระทู้ สว. แจงปมจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนให้เอกชน ทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ปัดเอื้อกลุ่มทุน-ไม่ใช่การให้สัมปาน ลั่นหากไม่ยึดหลักเกณฑ์พร้อมยกเลิกโครงการทันที ยันชาวบ้านยังเข้าใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ตามวิถีปกติ
ที่รัฐสภา ที่ประชุมวุฒิสภา (สว.) ซึ่งมีนายศุภชัย สมเจริญ รองประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้พิจารณากระทู้ถามเรื่องการจัดสรรพื้นที่ป่าชายเลนให้เอกชนปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ที่นายอำพล จินดาวัฒนะ สว. ตั้งถาม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการดำเนินโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต
โดย พล.ต.อ.พัชรวาท ชี้แจงถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของโครงการฯ ว่า เนื่องจากประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในการประชุม COP 26 และต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติมอบหมายกระทรวงฯ จัดทำโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต โดยมีหลักการว่าพื้นที่ป่าชายเลน ยังคงเป็นของรัฐและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นเจ้าของโครงการควบคุม กำกับดูแลและติดตามผลโครงการ ไม่ใช่การอนุญาตสัมปทาน โดยดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2565 เพื่อฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลน และแหล่งกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ เพิ่มความหลากหลายของระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่ง ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากป่าชายเลน โดยได้ประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมโครงการผ่านเว็บไซต์ของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งบริษัทเอกชน องค์กรและมูลนิธิ รวม 14 ราย โดยผู้เข้าร่วมโครงการเป็นผู้สนับสนุนค่าใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่ป่าชายเลนยังคงเป็นพื้นที่ของกรมทรัพยากรทางทะเลฯ โดยที่ชุมชนยังสามารถ ใช้ประโยชน์ในพื้นที่ได้ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการจะได้รับเพียงสัดส่วนการแบ่งปันคาร์บอนเครดิตตามระเบียบที่กรมทรัพยากรทางทะเลฯ กำหนดไว้
ส่วนคำถามที่ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เอกชนหรือบุคคลภายนอกเข้าใช้พื้นที่สาธารณะหาประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าการให้โอกาสชุมชนท้องถิ่นร่วมพัฒนาดูแลและรับประโยชน์อย่างที่ควรจะเป็นหรือไม่นั้น พล.ต.อ.พัชรวาท ย้ำว่า ไม่ใช่การอนุญาตให้ภาคเอกชนเข้ามาดำเนินการในลักษณะการให้สัมปทานป่าไม้ แต่เป็นเพียงอนุมัติให้ร่วมดำเนินโครงการเท่านั้น โดยที่ชุมชนยังสามารถเข้าใช้ประโยชน์ในการจับสัตว์น้ำ เก็บหาของป่า การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กิจกรรมสาธารณประโยชน์ ภายในชุมชนและวิถีชีวิตได้ตามปกติ โดยต้องเป็นไปอย่างสมดุลและยั่งยืน ไม่ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ หรือส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ นอกจากภาคเอกชนและองค์กรต่างๆ แล้ว กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ยังสนับสนุนให้ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชายฝั่งเข้าร่วมโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต รวมทั้งประโยชน์ในพื้นที่โครงการของชุมชนด้วย
พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวด้วยว่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการ เพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาผลดี-ผลเสีย ความคุ้มค่า รวมทั้งพิจารณาประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่จะได้รับเป็นสำคัญ เพื่อดำเนินโครงการในลักษณะนี้ต่อไป แต่หากโครงการใดไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดไว้ กระทรวงฯ จะยกเลิกโครงการต่อไป ส่วนประเด็นคำถามว่า รัฐบาลมีนโยบายและมาตรการเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการพัฒนาและดูแลป่าชายเลนให้ได้รับผลประโยชน์โดยตรงหรือไม่นั้น ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดำเนินการตามนโยบาย รัฐบาลในการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชนในการพัฒนาและดูแลป่าชายเลนให้ได้รับประโยชน์โดยตรง โดยให้กรมทรัพยากรทางทะเลฯ ส่งเสริมให้ชุมชนลงทะเบียนเป็นกลุ่มชุมชนชายฝั่ง และให้ชุมชนช่วยดูแลพื้นที่ในรูปแบบป่าชายเลนชุมชน ตามกฎหมายของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง อย่างไรก็ตาม ตนพร้อมน้อมรับข้อเสนอแนะจากวุฒิสภา ส่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาดำเนินการต่อไป