ส.ว. ค้าน กมธ.ประชามติ ส.ว. ขอเพิ่มวันพิจารณาอีก 45 วัน 

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมวุฒิสภา ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานในที่ประชุม ได้พิจารณาเรื่องที่ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. ฐานะประธาน คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาญัตติขอให้สภาฯ มีมติส่งเรื่องคณะรัฐมนตรีดำเนินการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรรมนูญ ขอขยายเวลาการพิจารณาออกไป 45 วัน  จากระยะเวลาที่ขอพิจารณา 30 วันซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 20 ธันวาคม 2565  เนื่องจากมีประเด็นที่ต้องพิจารณาจำนวนมากและต้องรับฟังข้อมูลจากหน่วยงาน องค์กรที่เกี่ยวข้องให้รอบด้าน เพราะเป็นที่เกี่ยวกับการแก้กฎหมายสูงสุดและกระทบต่อภาคส่วนต่างกว้างขวาง 

ทั้งนี้มีส.ว.ไม่เห็นด้วย โดยนายเฉลิมชัย เฟื่องคอน ส.ว. อภิปรายคัดค้าน เนื่องจากมองว่าการขอขยายเวลา ออกไปอีก 45 วัน ซึ่งเป็นเวลาที่ขอมากเกินกว่าเวลาที่กมธ. ขอจากที่ประชุมวุฒิสภา 30 วันนั้นไม่เห็นด้วย อีกทั้งเนื้อหาของการแก้ไขรัฐธรรมนูญหมวดต่างๆ นั้นเป็นที่รับรู้โดยทั่วกัน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่านายพรเพชร ได้ขอให้นายสมชาย อธิบายในประเด็นการขอขยายเวลาก่อนที่จะลงมติ แต่พบว่านายสมชายไม่อยู่ในห้องประชุม   เนื่องจากอยู่ระหว่างเตรียมตัวเดินทางไปเข้าร่วมลงนามถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย   เวลา 13.30 น. 

ขณะที่นายกิตติ วะสีนนท์ ส.ว. ฐานะรองประธานกมธ. คนที่หนึ่ง  ชี้แจงว่ากมธ.มีความพยายามทำให้เสร็จโดยเร็ว แต่ญัตติดังกล่าวเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญที่มีผลกระทบต่อภาคส่วนต่างๆ ทำให้กมธ.ต้องจำเป็นรับฟังส่วนที่เกี่ยวข้อง ที่ผ่านมา กมธ.ได้เชิญ ส.ส.เสนอญัตติ กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) สำนักงานกฤษฎีกา แต่ยังฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้ง อดีตกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ผู้แทนศาลรัฐธรรมนูญ อดีตประธานกมธ.พิจารณากฎหมายออกเสียงประชามติ เพราะประเด็นที่สภาฯเสนอนั้น มีคำถามกว้าง และอาจเกิดความไม่รอบคอบ 

นายกิตติ กล่าวด้วยว่า ประเด็นคำถามคือเห็นด้วยหรือไม่ต่อการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน พร้อมกับอธิบายให้ทำประชามติวันเดียวกับวันลงคะแนนเลือกตั้ง และมีประเด็นที่กมธ.กังวล เช่น  บทบัญญัติที่เกี่ยวกับการกำหนดรูปแบบปกครองของรัฐ พระราชอำนาจ การตีความศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งการยื่นญัตติของสภาไม่ได้กำหนดประเด็นดังกล่าวไว้ จึงสุ่มเสี่ยงและละเอียดอ่อน ทั้งนี้ขอให้นายเฉลิมชัย ยุติการเสนอให้ลงมติในวาระดังกล่าว

อย่างไรก็ดี นายเฉลิมชัยยืนยันที่จะลงมติ แต่พบว่าส.ว.อยู่ในห้องประชุมบางตา เพราะส่วนใหญ่เตรียมตัวไปร่วมลงนามถวายพระพรสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย  ซึ่งสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา นัดหมายพร้อมมีรถรับ-ส่ง ส.ว.  เวลา 13.30 น.  ทำให้นายพรเพชร ใช้อำนาจของประธานตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา เลื่อนการพิจารณาเรื่องดังกล่าวออกไป และนัดพิจารณาอีกครั้งวันที่ 20 ธันวาคม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หากที่ประชุมวุฒิสภา ลงมติในเรื่องดังกล่าวและต้องขยายเวลาพิจารณาออกไป จะทำให้เรื่องดังกล่าวกลับเข้าสู่ที่ประชุมวุฒิสภาอีกครั้งในช่วงไม่เกินต้นเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อลงมติตัดสินว่าจะเห็นด้วยกับญัตติของสภาฯ หรือไม่ ขณะที่สมัยประชุมของสภาฯ ชุดปัจจุบันจะสิ้นสุดลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566

แสดงความเห็น