“สมศักดิ์”ยกคณะ ลงพื้นที่ชายแดนใต้ ติดตามการพัฒนาเมือง-เร่งสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเทพา 

“รองนายกฯสมศักดิ์”ยกคณะ ลงพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ติดตามการพัฒนาเมือง-เร่งเดินหน้าสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่งเทพา หลังโครงการสะดุด ชี้ มีประโยชน์ช่วยลดน้ำท่วม-ลดต้นทุนขนส่งสินค้า เผย ใช้รถขนส่ง ตันละ 1 พันบาท แต่เรือ ตันละ 250 บาท ขอทุกหน่วยงาน เร่งส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกงานวิ่งเบตง ดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติ พร้อมคิกออฟ เปิดแข่งขันฟุตบอล STT Cup 2024

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) พร้อมด้วย นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะ ได้ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา และจังหวัดยะลา เพื่อติดตามการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ( ศอ.บต. ) และหัวหน้าส่วนราชการ ให้การต้อนรับ

โดยจุดแรก นายสมศักดิ์ พร้อมคณะ ได้เดินทางไปยัง ท่าเรือเทพา ทรานซิท เทอร์มินอล อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ซึ่งมี นายอภิชาติ สาราบรรณ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายอนุมัติ อาหมัด กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทพา ทรานซิท เทอร์มินอล ให้การต้อนรับ เพื่อตรวจและติดตามการก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง พร้อมรับฟังความก้าวหน้าการพัฒนาอำเภอเทพา ให้เป็น “ศูนย์กลางการรวบรวมและกระจายสินค้าทางน้ำจังหวัดชายแดนภาคใต้” โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การก่อสร้างเขื่อนป้องกันตลิ่ง ระยะที่ 1 งบประมาณ 90 ล้านบาท จะช่วยลดผลกระทบในหลายด้าน รวมถึงจะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในด้านการขนส่งได้ด้วย ซึ่งที่ผ่านมา บริเวณนี้ ได้ประสบปัญหาอุทกภัยรุนแรง ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเสียหายในแต่ละปี เช่น ด้านการเกษตร 1,512 ไร่ ด้านปศุสัตว์ 46,987 ตัว ด้านประมง 427 ไร่ โดยภาครัฐต้องช่วยเหลือเยียวยาปีละประมาณ 25 ล้านบาท ดังนั้น เมื่อทำโครงการนี้สำเร็จ ก็จะช่วยแก้ปัญหาอุทกภัย 

“แต่ที่โครงการนี้ ล่าช้า หลัง กพต.มีมติเห็นชอบตั้งแต่ปี 2564 เพราะการก่อสร้างได้เจอปัญหาชั้นดินอ่อน จากที่กำหนดเสาเข็ม 18 เมตร แต่ชั้นดินแข็งอยู่ที่ 20 เมตร ทำให้ต้องปรับแก้แบบ จึงทำให้โครงการล่าช้า รวมถึงมีปัญหาเป็นพื้นที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่า ทำให้การขออนุญาตล่าช้า แต่ขณะนี้ ทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว โดยจะเริ่มกลับมาก่อสร้าง เม.ย.67 โดยหากแล้วเสร็จ ก็จะช่วยการกระจายสินค้าทางน้ำด้วย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ และเชื่อมโยงระบบขนส่งกับต่างประเทศ โดยถึงแม้ท่าเรือเทพา จะเป็นของเอกชน แต่ก็จะทำให้ส่วนรวมได้ประโยชน์ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการขนส่งถูกลง จากใช้รถยนต์ขนส่ง เฉลี่ยตันละ 1,000 บาท แต่ถ้าใช้เรือขนส่ง จะเหลือตันละ 250 บาท โดยจะช่วยทำให้สินค้ามีราคาถูกลง เนื่องจากค่าขนส่งถูกลงจำนวนมาก ดังนั้น ขอให้ส่วนราชการ ช่วยกันแก้ปัญหาและเดินหน้าพัฒนา ตาม กพต. อย่างเต็มที่” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว 

จากนั้น นายสมศักดิ์ เป็นประธานการประชุมประสานและดำเนินการตามข้อสั่งการนายกรัฐมนตรีในคราวตรวจราชการด้านการท่องเที่ยวจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พ.ต.ท.วรรณพงษ์ นายอามินทร์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ และหัวหน้าส่วนราชการ เข้าร่วม ที่ห้องประชุมสนามกีฬามหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตยะลา จังหวัดยะลา โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ เพื่อติดตามข้อสั่งการของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ที่ได้ลงพื้นที่และสั่งการไว้ ในประเด็นต่างๆ เช่น Soft Power เพราะนายกฯ ได้เน้นการพัฒนาจังหวัดชายแดนใต้ ในหลายประเด็น เช่น การพัฒนาด่านศุลกากรเบตง เร่งดำเนินการขยายทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 410 (ยะลา-เบตง) ศึกษาการเจาะอุโมงค์บริเวณบ้านกระป๋อง ส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์น้ำเศรษฐกิจ ยกระดับสามจังหวัดชายแดนใต้ ให้มีแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ ดังนั้น ขอให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งรวบรวมข้อมูล และส่งเสริมกิจกรรมต่างๆ เพื่อโชว์ความสวยงามของเมือง อย่าง การจัดงานวิ่งเบตง ก็มีการยกตัวอย่างว่าจะคล้ายการกระตุ้นท่องเที่ยวของฝรั่งเศส ซึ่งจะช่วยดึงดูดนักกีฬาต่างประเทศเข้าร่วมแข่งขัน จะช่วยทำให้เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ 

นอกจากนี้ นายสมศักดิ์ ยังได้เป็นประธานพิธีเปิดการแข่งขันฟุตบอล “Selatan Thailand Tournament Cup (STT Cup) 2024 โดยมี นายกิตติกร พ.ต.ท.วรรณพงษ์ นายอามินทร์ นายสัมพันธ์ มะยูโซ๊ะ สส.นราธิวาส พรรคพลังประชารัฐ และผู้เข้าแข่งขันกว่า 500 คน เข้าร่วม ที่สนามฟุตบอล มหาวิทยาลัยการกีฬาแห่งชาติ วิทยาเขตยะลา 

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า ตนได้มอบหมายให้ ศอ.บต. ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จัดให้มีการแข่งขันกีฬาฟุตบอลขึ้น โดยให้สมาคมกีฬาฟุตบอล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันตั้งชื่อการแข่งขันกีฬานี้ว่า “ฟุตบอล สลาตัน ไทยแลนด์ ทัวร์นาเม้นต์ คัพ (STT Cup) 2024” เพราะสลาตัน แปลว่า 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีความเหมาะสมและน่าจะเป็นที่ชื่นชอบ ถูกใจพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก โดยการแข่งขันรายการนี้ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งมีทีมฟุตบอลให้ความสนใจเข้าร่วมแข่งขันจำนวนมาก แต่ได้พิจารณาตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด จนได้ทีมฟุตบอลเข้าร่วมการแข่งขัน จำนวน 128 ทีม ประกอบด้วย จังหวัดนราธิวาส 37 ทีม จังหวัดปัตตานี 42 ทีม จังหวัดยะลา 39 ทีม และจังหวัดสงขลา 10 ทีม

“จากนี้ จะดำเนินการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม 32 กลุ่ม กลุ่มละ 4 ทีม โดยทีมอันดับ 1 ในแต่ละกลุ่ม จะผ่านเข้ารอบ Knock Out เข้าสู่รอบ 32 ทีม จนถึงรอบชิงชนะเลิศ ซึ่งจะดำเนินการแข่งขันห้วงเดือนเมษายนนี้ โดยทีมที่ชนะเลิศในการแข่งขัน จะได้รับเงินรางวัล ดังนี้ รางวัลชนะเลิศ ได้รับถ้วยรางวัลจากท่านนายกรัฐมนตรี พร้อมเหรียญ และเงินรางวัล 1,000,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้รับเหรียญรางวัล และเงินรางวัล 500,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 (มี 2 ทีม) ได้รับเหรียญรางวัล และเงินรางวัล ทีมละ 100,000 บาท และยังมีการพิจารณาให้รางวัลอื่น ๆ เช่น รางวัลผู้ทำประตูสูงสุด ผู้รักษาประตูยอดเยี่ยม รวมถึงนักเตะกองหน้า กองกลาง และกองหลังยอดเยี่ยม ซึ่งจะได้รับเงินรางวัลด้วยเช่นกัน โดยการแข่งขันฟุตบอลครั้งนี้ ผมขอให้ช่วยส่งเสริมความรัก ความสามัคคี พัฒนาศักยภาพ ตลอดจนสร้างความสุขให้กับประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามนโยบายของรัฐบาล” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว 

แสดงความเห็น