ประชุมสภาผู้แทนราษฎรนัดแรก เพื่อเลือก ‘ประมุขนิติบัญญัติ’ ที่กำลังจะถึง คือ จุดชี้เป็นชี้ตายแรกทางการเมือง ซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป
แต่ที่แน่ๆ ‘ก้าวไกล’ หรือ ‘เพื่อไทย’ ถ้าใครครองเก้าอี้ตัวนี้ หน้าตาทางการเมืองจะออกมาคนละฉากทัศน์
ซึ่งมันมีผลต่อการโหวตนายกรัฐมนตรีของ ‘พิธา ลิ้มเจริญรัตน์’ แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคก้าวไกล ที่จะเป็นคิวต่อไป หลังจากได้ตัว ‘ประธานสภาผู้แทนราษฎร’ แล้ว
ถ้า ‘ก้าวไกล’ ชนะศึกชิงเก้าอี้เบอร์หนึ่งฝ่ายนิติบัญญัติ และไม่ว่าผลคดีเรื่องถือหุ้นสื่อของ ‘พิธา’ ออกมาแบบไหน พวกเขาจะลุยดัน ‘พิธา’ โดยไม่ยอมถอยง่ายๆ ต่อให้จะไม่ถึง 376 เสียงกี่ครั้งก็ตาม โดยยึดว่า ผลคดียังไม่สิ้นสุดแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรคสีส้มยังเป็นผู้บริสุทธิ์
‘ก้าวไกล’ จะไม่หยุดจนกว่า ‘พิธา’ จะถูกสอยในทางกฎหมาย พวกเขาถึงจะปล่อยมือให้ ‘เพื่อไทย’ ในฐานะพรรคอันดับ 2
ซึ่งยังไม่รู้ว่า จะใช้ระยะเวลานานแค่ไหนกว่ากรณีถือหุ้นสื่อของ ‘พิธา’ จะได้คำตอบ
แต่หาก ‘เพื่อไทย’ ได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรไปครอบครอง ความอดทนในการเสนอชื่อ ‘พิธา’ เข้าไปโหวตนายกรัฐมนตรีซ้ำๆ จะมีข้อจำกัดกี่ครั้งก่อนจะปลดล็อก
‘เพื่อไทย’ ไม่แย่งชิงทันทีแน่ แต่ต้องเล่นบทอุ้มเพื่อนรักให้สุดทางก่อน
หรืออาจจะรอให้ ‘พิธา’ ถูกสอยไปแล้ว ถึงจะค่อยขยับเพื่อไม่ให้น่าเกลียด
แต่จะต่างกับหากตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไปอยู่กับ ‘ก้าวไกล’ ที่คงต้องพยายามแก้เกม เพื่อไม่ให้ไพ่ในมือถูกเปลี่ยนง่ายๆ
‘ก้าวไกล’ ย่อมจะใช้อำนาจ หรือช่องทางของประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อต่อสู้ให้ถึงที่สุด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผลลัพธ์คงไม่ต่างกันเรื่องของ ‘พิธา’ ที่อย่างไรเสียจะเปลี่ยนแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีได้ ต้องให้ ‘พิธา’ ตกสวรรค์ไปแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ก่อน
เพียงแต่หากประธานสภาผู้แทนราษฎรหลุดไปอยู่ในมือ ‘ก้าวไกล’ และภายภาคหน้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีตกไปอยู่กับ ‘เพื่อไทย’ การเมืองอาจจะยุ่งไม่น้อยเหมือนกัน
เพราะหาก ‘เพื่อไทย’ ได้สิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของตัวเองบ้าง จำเป็นต้องไปหาเสียงเพิ่มเพื่อให้ได้ 376 เสียง ไม่ว่าจากทั้ง ส.ว. หรือ ส.ส.ขั้วอำนาจเก่า
ส.ว.ในสาย ‘บิ๊กป้อม’ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ คงไม่ยอมยกมือให้ ‘เพื่อไทย’ ง่ายๆ เหมือนกัน ถ้ารัฐบาลชุดนั้นจะไม่มี ‘พลังประชารัฐ’
แล้วถ้าต้องเอา ‘พลังประชารัฐ’ มาเติม ‘ก้าวไกล’ คงไม่แฮปปี้เหมือนกัน และอาจจะต้องถอยไปเป็น ‘ฝ่ายค้าน’
ซึ่งมันดูพิกลนัก หาก ‘ประมุขนิติบัญญัติ’ มาจาก ‘ฝ่ายค้าน’
จะเป็น ‘ฝ่ายค้าน’ ที่ทรงพลังอำนาจมากๆ เพราะมีกลไกประธานสภาผู้แทนราษฎรในการที่จะใช้เดินเกมการเมือง โดยเฉพาะกับฝ่ายรัฐบาล
ฉะนั้น ‘เพื่อไทย’ จึงปล่อยเก้าอี้ตัวนี้ไม่ได้ อย่างไรต้องสาวได้สาวเอาก่อนตั้งแต่นาทีแรก ส่วน ‘นายกรัฐมนตรี’ คงไปว่ากันในสเตปต่อไป
ต่อให้โดนด่าอย่างไร แต่กุญแจดอกแรกอย่าง ‘ประมุขนิติบัญญัติ’ ยอมไม่ได้เหมือนกัน
ได้เห็นการยื้อยุดฉุดกระชากกันแรงขึ้นก่อนวันโหวต