“ECSTAR” เตรียมดันโครงการยิงดาวเทียมขนาดเล็กเสนอรัฐบาล หวังใช้ประโยชน์ด้านสาธารณสุข

“ECSTAR” เตรียมดันโครงการยิงดาวเทียมขนาดเล็กเสนอรัฐบาล หวังใช้ประโยชน์ด้านสาธารณสุข-จัดการปัญหาสิ่งแวดล้อม PM2.5 และ Climate Change ระยะยาว “เศรษฐพงค์” เผยฝรั่งเศสพร้อมช่วยสนับสนุนให้คำปรึกษาด้านเทคนิคเพื่อยกระดับเทคโนโลยีด้านอวกาศไทย

นายชาญวิทย์ มุนิกานนท์ ประธานสถาบันวิจัยเทคโนโลยีอวกาศและวิจัย (ECSTAR) วิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดเผยว่า  ECSTAR กำลังจะทำโครงการกลุ่มดาวเทียมขนาดเล็ก (Small satellite constellations) โดยเรากำลังเสนอโครงการให้กับรัฐบาลพิจารณาสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งมีประโยชน์ด้านสาธารณสุข ด้านจัดการทรัพยากรธรรมชาติและด้านสิ่งแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (climate change) การดูแลไฟป่า ฝุ่นPM 2.5 นอกจากนี้จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กำลังเข้าสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้งานคลื่นความถี่และบริการโทรคมนาคมโครงข่ายดาวเทียม และเขื่อมโยงกับโครงข่ายโทรคมนาคมในระบบ 5G ภาคพื้นดิน เพื่อให้บริการในรูปแบบใหม่ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศเชื่อมโยงกับภาคพื้นดิน โดยเป็นการสร้างนวัตกรรมที่มีผลต่อการพัฒนา และการแข่งขันของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2561-2580 

นายชาญวิทย์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ทาง ECSTAR กำลังจัดทำข้อเสนอโครงการ และหาผู้ร่วมโครงการ ช่วยด้านเทคนิค และกำลังทำความร่วมมือกับฝรั่งเศส ที่มีเทคโนโลยีระดับสูงมาช่วยเราพัฒนาบุคลากรและเทคนิกต่างๆ เพราะประเทศไทยยังขาดโอกาสในการเข้าถึงอวกาศ ซึ่งหากได้ความร่วมมือในการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านอวกาศ จะเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศที่แท้จริงอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะมีผลต่อการขยายการพัฒนาในสาขาอื่นๆต่อไป เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น ตลอดจนสร้างให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศ (Space economy) และธุรกิจอวกาศในระยะยาวและยั่งยืนต่อไป โดยทาง ECSTAR ได้ดำเนินการสนับสนุนการตั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศที่ชื่อว่า TeroSpace เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการดำเนินการควบคู่กันอีกด้วย

ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) และประธานอนุกมธ.กิจการอวกาศ กล่าวว่า  เชื่อว่าโครงการของ ECSTAR ดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพราะจะสามารถยกระดับการวิจัยพัฒนา และได้รับความร่วมมือกับนานาชาติ โดยเฉพาะฝรั่งเศส โดยที่ผ่านมา ทางกมธ.ดีอีเอส ได้เคยต้อนรับคณะทูตจากฝรั่งเศส และหารือโครงการปีแห่งนวัตกรรมฝรั่งเศส – ไทย 2023 โดยมี 2โครงการที่เราได้หารือความร่วมมือ คือโครงการห้องแล็บอวกาศ และการสร้างดาวเทียมขนาดเล็กสู่อวกาศ โดยได้รับการสนับสนุน จากทางฝรั่งเศสเป็นอย่างดี โดยมีเป้าหมายเพื่อให้สามารถสร้างและส่งดาวเทียมวงโคจรต่ำ หรือ Low Earth Orbit (LEO) satellites สู่อวกาศได้สำเร็จ และสามารถใช้ประโยชน์ได้จริง ที่สำคัญ รัฐบาลต้องสนับสนุนให้เกิดบริษัทด้านอวกาศโดยมุ่งเน้นการทำธุรกิจในการใช้และวิเคราะห์ข้อมูลบนพื้นโลกให้เกิดประโยชน์ในทุกอุตสาหกรรมโดยเร็ว

แสดงความเห็น