“เศรษฐพงค์” อัด องค์กรอวกาศภาครัฐทำตัวเป็นหน่วยควบคุมนวัตกรรม เป็นอุปสรรคพัฒนากิจการอวกาศ

“เศรษฐพงค์” อัด องค์กรอวกาศภาครัฐทำตัวเป็นหน่วยควบคุมนวัตกรรม เป็นอุปสรรคพัฒนากิจการอวกาศ แนะ ภาคเอกชนช่วยส่งเสริมให้ทุนการทำวิจัย สร้างวิศวกรด้านอวกาศที่ดี ชี้ รอภาครัฐคงไม่ทันกิน ชวน เยาวชนเรียนรู้ด้วยตนเองจากโลกออนไลน์

พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคภูมิใจไทย ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศ เพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง กมธ.ดีอีเอส กล่าวถึงการพัฒนากิจการอวกาศในประเทศไทยว่า องค์กรภาครัฐด้านกิจการอวกาศที่มีอยู่ขณะนี้ หากไม่เปิดข้อมูลเพื่อที่จะแชร์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นอุปสรรคในการพัฒนากิจการอวกาศให้กับเด็กรุ่นใหม่ๆ ที่มีความสนใจแต่ไม่สามารถเข้าถึงหรือเข้าถึงข้อมูลได้ยาก ถือเป็นการเสียโอกาสอย่างมาก ซึ่งในต่างประเทศ องค์การกิจการอวกาศ เช่น NASA ของอเมริกา และ ESA ของยุโรป ทำในสิ่งที่ง่ายในการเข้าถึง โดยมี platform แบบ open data ที่นักเรียนนักศึกษาสามารถเข้าถึงอย่างง่ายดาย แต่องค์กรอวกาศไทยกลับทำให้เป็นเรื่องยุ่งยาก เช่น ต้องทำความร่วมมืออย่างเป็นทางการเพื่อที่จะเปิดหรือให้ข้อมูลสู่สาธารณะ

ประธานอนุกรรมาธิการฯ กล่าวต่อว่า ทางหนึ่งที่แก้ปัญหาได้ในขณะนี้ โดยไม่ต้องรอภาครัฐเพราะอาจจะทำให้ไล่ตามประเทศอื่นๆไม่ทัน คือ ภาคเอกชนควรให้การสนับสนุน องค์กรภาคเอกชนอาจจะช่วยส่งเสริมด้านทุนการทำวิจัยแทน ซึ่งใช้เงินไม่มากแต่คุ้มค่าที่จะได้บุคคลากรที่มีค่า เพราะหากสนับสนุนทุนวิจัยในด้านกิจการอวกาศ แก่น้องๆระดับมัธยมและมหาวิทยาลัย เราจะได้คนในทุกสาขาวิชาทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เพราะกิจการอวกาศต้องใช้ความรู้ด้าน ฟิสิกส์ โทรคมนาคม อิเล็คทรอนิกส์ วัสดุศาสตร์ พลังงาน และอื่นๆ อีกมากมาย ในวันนี้การสร้างดาวเทียมขนาดเล็ก (small satellite) หรือ Cubesat มีหลายระดับการวิจัย และใช้ทุนน้อยลงมาก คุ้มค่าในการสนับสนุนและลงทุน

พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าวอีกว่า ตนขอเสนอแนะให้เยาวชนไทย อย่ารอ เพราะเราสามารถเรียนรู้จากสื่อออนไลน์ต่างๆ เช่น Youtube ซึ่งสามารถหาชุด kit เพื่อฝึกสร้าง Cubesat ในราคาไม่แพงได้แล้ว ครู อาจารย์ ก็สามารถเริ่มเรียนรู้พร้อมลูกศิษย์ได้ ที่สำคัญต้องมีความคิดริเริ่ม สร้างกลุ่มวิจัยเล็กๆ Cubesat ขึ้นมาเอง ไม่ต้องรอโอกาสหรือหวังจากใคร และในวันนี้ มีเยาวชนไทยจำนวนไม่น้อย ที่ทำโครงการ Cubesat ภายในโรงเรียน โดยไม่ได้พึ่งพาภาครัฐ ถึงแม้จะมีเพียงโรงเรียนเดียวที่สามารถส่งดาวเทียมของพวกเขาขึ้นสู่อวกาศและติดต่อมายังพื้นโลกได้สำเร็จ  ส่วนบางโรงเรียนที่ไม่สามารถยิงขึ้นไปสู่อวกาศได้ ก็ทำได้เพียงแต่ทดสอบในระดับความสูงหนึ่งเท่านั้น แต่พวกเขาก็ได้ความรู้พื้นฐาน และหลายคนได้ไปเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยชั้นนำในต่างประเทศ ซึ่งการทำโครงการ Cubesat ไม่ได้มีเป้าหมายสุดท้ายที่ได้ดาวเทียมที่ดี แต่เป้าหมายสุดท้ายคือ ได้วิศวกรที่ดีต่างหาก

“ถ้าคุณรอองค์กรที่รับผิดชอบในด้านการส่งเสริมกิจการอวกาศของไทย ผมแนะนำให้คุณเลิกคิดได้เลย เพราะคุณจะเสียเวลาเป็นปี ในการเข้าถึงและทำเอกสารเพื่อกราบเรียนขอเข้าร่วม ผมแนะนำให้โรงเรียนมัธยมและมหาวิทยาลัยเริ่มด้วยตัวเอง เพราะความรู้อยู่แค่ปลายนิ้วแล้ว เพียงกดปุ่มแป้นพิมพ์เท่านั้น พึ่งองค์กรภาครัฐให้น้อยที่สุด เพราะมีขั้นตอนยุ่งยากในการเข้าถึง เนื่องจากยังเป็นกฎระเบียบของโลกในอดีต ไม่สามารถนำระเบียบขั้นตอนแบบเดิมมาใช้พัฒนาเพื่อโลกอนาคตได้แล้ว ผมเสนอแนะให้เด็กๆมัธยม หาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีข้อมูล course online ฟรี ไม่ต้องรอไปกราบขอร้องหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านอวกาศ ซึ่งมีแต่สร้างอุปสรรค และทำตัวเป็นองค์กรควบคุมนวัตกรรม ไม่ใช่องค์กรสนับสนุนนวัตกรรม และหากเป็นแบบนี้ต่อไป เราก็ยังคงต้องจ้างบริษัทต่างประเทศผลิตดาวเทียมให้เราตลอดไป” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น