กมธ.ดีอีเอส เดินหน้าโรดแม็ป 6G  ภายในปี 2030  สอดรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจ EEC 

กมธ.ดีอีเอส เดินหน้าโรดแม็ป 6G  ภายในปี 2030  สอดรับโครงการระเบียงเศรษฐกิจ EEC  พร้อมเสริมศักยภาพโทรคมนาคมไทยเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล-พัฒนากิจการอวกาศ

น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กมธ.ดีอีเอส) เปิดเผยว่า เมื่อช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการฯ ได้จัดสัมมนา เรื่อง Trends Toward Space and 6G Era : Challenges and Opportunities”  ที่สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงแนวโน้มความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยในยุคดิจิทัล รวมถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาเทคโนโลยีการบินและกิจการอวกาศ เพื่อสามารถปรับตัวและรับมือกับการเปลี่ยนที่กำลังจะเกิดขึ้น พร้อมนำเทคโนโลยี 6G มาปรับใช้ในการวางแผนการผลิต ส่งเสริม ควบคุม และกำหนดทิศทางการใช้ทรัพยากรของชุมชนในเชิงเศรษฐกิจให้เกิดประโยชน์สูงสุด

น.ส.กัลยา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้มีการพัฒนาศักยภาพโทรคมนาคมด้วยเทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(AI) ยานยนต์ไร้ขนขับ โดรน เป็นต้น  ขณะที่ทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีในต่างประเทศมีการคิดค้นเทคโนโลยี 6G ซึ่งเป็นการใช้ทรัพยากรคลื่นที่มีอยู่อย่างจำกัดผสานเข้ากับ AI เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการสื่อสารให้มีเสถียรภาพอย่างไร้ขอบเขต ประกอบกับภาคอุตสาหกรรมอวกาศในปัจจุบันมีศักยภาพในการส่งเสริมเสถียรภาพเทคโนโลยีการสื่อสารให้สามารถสื่อสารกันได้ตลอดเวลา ในทุกพื้นที่ทั่วโลก รวมถึงภาคอวกาศ ด้วยราคาต้นทุนโครงข่ายโทรคมนาคมที่ลดลงส่งผลต่อการนำเทคโนโลยีไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจในด้านต่างๆ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาประเทศโดยรวม

ด้าน พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กมธ.ดีอีเอส  กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีในบริบทของสังคมโลกกำลังจะก้าวไปสู่การหลอมรวมเทคโนโลยีการสื่อสารทั้งภาคพื้นดินและภาคอวกาศ เช่น ระบบดาวเทียมขนาดเล็กที่ช่วยส่งขยายโครงข่ายโทรคมนาคมในต้นทุนที่ลดลง การทำ Cloud Computing ด้วยการใช้ดาวเทียมในภาคอวกาศที่ทำให้ประหยัดการใช้พลังงานในพื้นโลก เป็นต้น  ทั้งนี้ การหลอมรวมเทคโนโลยีโทรคมนาคมเข้ากับเทคโนโลยีดาวเทียม ก่อให้เกิดการสื่อสารอย่างไร้ขอบเขตด้วยความเร็วที่มีค่าความหน่วงของสัญญาลดลง เกิดสังคมดิจิทัล การพัฒนาสินค้าและบริการที่ดีขึ้น เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ตบนอากาศยานที่เร็วขึ้นในราคาที่ลดลง การใช้ Drone สำหรับการขนส่งสาธารณะ รวมถึงการที่ประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตและใช้งานดาวเทียมของตนเอง  

“การสื่อสารกำลังพลิกโฉมด้วยระบบ 6G  และภายในปี 2030 จะเกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างอวกาศ (ดาวเทียม) การบินโดรน เครื่องบิน และมือถือ ผมในฐานะประธานอนุกรรมาธิการกิจการอวกาศเพื่อเศรษฐกิจและความมั่นคง พยายามผลักดันและนำเสนอเป็นโรดแม็ป (Roadmap) ให้สอดคล้องกับโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor : EEC)  เพื่อให้สามารถดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำของโลก เข้ามาลงทุนตั้งศูนย์ R&D และศูนย์ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มากกว่าเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ทั่วไป  และทำให้ไทยสามารถแข่งขันในโลกแห่งปัญญาประดิษฐ์ไปจนถึงกิจการอวกาศที่กำลังจะมีผลกระทบต่อการแข่งขันในอนาคตอันใกล้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว 

ขณะที่ ร.ท.ดร.เจษฎา ศิวรักษ์ ผู้ทรงคุณวุฒิจากบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด และผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี 5G และ 6G กล่าวบรรยายในหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสู่ 6G”  ว่า หากย้อนดูวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีการสื่อสาร จะเห็นว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทุกๆ 10 ปี เช่น  3G เกิดขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2000 ก่อนเข้าสู่ยุค 4G ใน ค.ศ. 2010 และยุค 5G ค.ศ.2020  เช่นเดียวกับปี 2030 จะเข้าสู่ยุค 6G  และไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว แต่จะมีการออกแบบการใช้ชีวิตของผู้คนด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่เสียงและภาพ หรือความถี่  แต่จะมีเรื่องกลิ่น รส สัมผัสเข้ามาเสมือนจริง เน้นเรื่องชีวิตที่ปลอดภัย ตอบสนองความต้องการของคนและสังคมมากขึ้น โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องความเชื่อมโยง ที่สำคัญอุปกรณ์เชื่อมโยงอาจจะไม่ใช่คอมพิวเตอร์ มือถือ สมาร์ทโฟน แต่อาจจะเป็นรูปแบบอิมเมอร์ซีฟ  โฮโลแกรม 3 มิติ แว่น รถยนต์ไฟฟ้า และจะต้องเป็นเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอน เพราะเทคโนโลยีที่จะเกิดขึ้นจะทำให้การเดินทางลดลง ซึ่งจะทำให้ภาวะโลกร้อนลดลงด้วย

“ในปี 2026 จะเกิดการกระจายตัวของ 5G มากขึ้น หรือกว่า 40% ของผู้ใช้มือถือจะใช้ระบบ 5G และในอนาคตเมื่อเข้าสู่ยุค 6G จะมีการพูดถึงความปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางเลย ซึ่งในช่วงโควิด-19 โรงงานต่างๆ เกิดปัญหาจากกรณีที่คนงานติดเชื้อ จนการผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ช้าลง ออเดอร์เกิดการปั่นป่วน เจ้าของโรงงานเริ่มถอดบทเรียนหันมาลงทุนนำหุ่นยนต์มาใช้แทนกำลังคน เพื่อลดความเสี่ยง ตรงนี้คือการเปลี่ยนแปลง” ร.ท.ดร.เจษฎา กล่าว

แสดงความเห็น