สาธิต มั่นใจ ไม่มีเหตุผลใดจะถูกตีตกในวาระ 3 ชี้กฎหมายลูกเป็นเครื่องมือยุบสภาเลือกตั้งใหม่

ประธาน กมธ.กฎหมายลูก การเลือกตั้ง ส.ส. และ พรรคการเมือง มั่นใจ ไม่มีเหตุผลใดจะถูกตีตกในวาระ 3 ชี้กฎหมายลูกเป็นเครื่องมือยุบสภาเลือกตั้งใหม่ ระบุ หากรัฐสภาคว่ำ เป็นอำนาจรัฐบาลในการเสนอเข้ามาใหม่ หรือ ออก พ.ร.ก.

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน คณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงกระแสข่าวที่จะมีการโหวตไม่เห็นชอบร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในวาระที่ 3 ว่า ตนยังไม่มีเหตุผลที่จะทำให้การคว่ำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญในวาระ 3 เพราะทุกอย่างเกิดขึ้นภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยยอมรับว่าความเห็นที่แตกต่างกันสามารถเกิดขึ้นได้ และจะต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้อย่างที่ตนเองต้องการแต่สุดท้ายในชั้นกรรมาธิการก็ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมอะไรที่อยู่นอกเหนือหลักการของกฎหมายที่ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมร่วมรัฐสภาในวาระแรกมาแล้ว โดยยืนยันว่ากรรมาธิการจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ปกป้องกฎหมายที่ดำเนินการโดยฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนวาระ 3 เป็นเรื่องดุลยพินิจของรัฐสภาว่าจะมีมติอย่างไร

“เราทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุด แล้วประชาชนก็จะมีความเข้าใจ และจะมองเห็นเหตุผลในแต่ละการตัดสินใจในแต่ละขั้นตอน เพราะฉะนั้นผมยังมีความมั่นใจว่าจนถึงขณะนี้ยังไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไปล้มเลิกกระบวนการหรือจะไปคว่ำในวาระที่3” นายสาธิต กล่าว

ส่วนกรณีที่มีกระแสว่าบางฝ่ายต้องการกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวด้วยการใช้กลไกในกรรมาธิการให้เกิดทางตันและต้องกลับไปใช้บัตรใบเดียวนั้น นายสาธิต กล่าวว่า ความเห็นนี้อาจจะเป็นจุดแข็งของกรรมาธิการชุดนี้ก็ได้ เพราะเป็นความเห็นต่างในแต่ละซีก ดังนั้นการพิจารณาในชั้นกรรมาธิการอาจจะเป็นความเห็นสลับฝ่าย แต่สุดท้ายความเห็นอิสระในชั้นกรรมาธิการจะเป็นเกาะป้องกันข้อสรุปในการแก้ไขกฎหมายนำไปสู่วาระที่ 3

“ความต่างหรือความต้องการพรรคการเมืองหรือฝ่ายใดต้องการอะไรมันอาจจะทำไม่ได้สำเร็จ เพราะไม่ได้เห็นตรงกันในแต่ละฝ่าย ฉะนั้นกลไกในกรรมาธิการจะสามารถแสดงความเห็นที่เป็นกลาง ซึ่งความเป็นกลางในกรรมาธิการนี้ไม่สามารถทำนอกกรอบหลักการที่รับมา”

ทั้งนี้ นายสาธิต กล่าวต่อว่า หากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับถูกตีตกในวาระที่ 3 ก็จะเป็นเรื่องที่รัฐบาล และนายกรัฐมนตรีที่จะต้องชี้แจงต่อสังคมว่า เกิดอะไรขึ้น เพราะกฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือของการยุบสภาและเป็นเครื่องมือในการจัดการเลือกตั้งด้วย ดังนั้นหากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในการพิจารณาของฝ่ายนิติบัญญัติการนำเสนอเข้ามาใหม่ หรือการประกาศพระราชกำหนดเป็นอำนาจโดยตรงของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี ซึ่งอันนี้ก็เป็นสิ่งที่นอกเหนืออำนาจของกรรมาธิการไปแล้ว

สำหรับการพิจารณาของคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เป็นการพิจารณาต่อเนื่องเรื่องที่แขวนไว้เมื่อสัปดาห์ก่อน ทั้งเรื่องค่าบำรุงพรรคการเมืองที่ กรรมาธิการส่วนหนึ่งมองว่า ควรกำหนดไว้ในข้อบังคับพรรค ไม่ใช่ร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ขณะที่ส่วนหนึ่งเห็นว่า จะบรรจุไว้หรือไม่ก็ได้ ให้เป็นดุลยพินิจของพรรคการเมือง รวมทั้งจะมีการหารือถึงประเด็นพรรคการเมืองและผู้สมัครใช้หมายเลขเดียวกันด้วย

แสดงความเห็น