คุมเข้มโหวตร่างพ.ร.บ.งบ 66 ปิดประตู คว่ำ-บีบ “ยุบสภา”

ลำพังถึงไม่มีเสียงขู่ฟอดๆ จากฝ่ายค้าน วิปรัฐบาลและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ก็มีการคุมเข้ม-เช็คเสียง ส.ส.รัฐบาลในการโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่จะโหวตกันช่วงค่ำวันพฤหัสบดีที่ 2 มิ.ย.นี้อยู่แล้ว

เพราะวิปรัฐบาลตระหนักดีว่า นี้คือร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลที่จะให้ถูกสภาฯ คว่ำ-ลงมติ ไม่รับหลักการในวาระแรกไม่ได้ เพราะหากเกิดไม่ผ่านขึ้นมา นั่นหมายถึงวงแตก นายกฯ เหลือทางเดินแค่ “ยุบสภา”

อีกทั้งการโหวตร่างพ.ร.บ.งบฯ ก็แตกต่างจากการโหวตอภิปรายไม่ไว้วางใจ เพราะตอนโหวตศึกซักฟอก ยังต้องใช้เสียงครึ่งหนึ่งของส.ส.ที่ปฏิบัติหน้าที่ ในสภาฯ แต่การโหวตร่างพ.ร.บ.งบฯ การจะผ่านหรือไม่ผ่าน ดูจากองค์ประชุมฯหรือจำนวนส.ส.ที่กดบัตรแสดงตนในห้องประชุม จากนั้นก็โหวตว่าจะรับหลักการหรือไม่รับหลักการโดยใช้เสียงข้างมากในห้องประชุม ดังนั้น หากส.ส.ฝ่ายรัฐบาลมาร่วมประชุมน้อยกว่าฝ่ายค้านหรือมาประชุมแต่เล่นบทป่วน ไม่ยอมแสดงตนในห้องประชุม แล้วผลปรากฏว่า เสียงรับหลักการน้อยกว่าไม่รับหลักการ นั่นหมายถึงการไม่ผ่านร่างพ.ร.บ.งบฯ ที่ก็คือการที่ร่างกฎหมายสำคัญของรัฐบาลที่เสนอโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ กลางที่ประชุม ถูกฝ่ายนิติบัญญัติลงมติไม่ผ่านวาระแรก ดับสนิทตั้งแต่ยกแรก มันก็ต้องยุบสภาฯ เพื่อคืนอำนาจให้ประชาชน ด้วยเหตุนี้ วิปรัฐบาลยังไงก็ต้องคุมเข้มอยู่แล้วก่อนการลงมติ

แต่เมื่อมีเสียงขู่จากฝ่ายค้าน รวมถึงท่าทีแสดงอาการป่วน เพื่อเรียกราคาของส.ส.พรรคปัดเศษหรือพรรคเล็ก ที่ต้องการก่อหวอด เคาะกะลา เรียกราคาให้ตัวเอง หลัง ธรรมนัส พรหมเผ่า ว่าที่หัวหน้าพรรคเศรษฐกิจไทย ยึดพรรคและล้างไพ่ใหม่ในเศรษฐกิจไทยเพื่อเตรียมขึ้นหัวหน้าพรรคในสัปดาห์หน้า และมีกระแสข่าวว่า ธรรมนัส จะจับมือกับเพื่อไทย โค่นประยุทธ์ เลยยิ่งทำให้ พวกส.ส.พรรคเล็ก ยิ่งมีราคาค่างวด ในการจะร่วมปฏิบัติการป่วน-ล้ม ประยุทธ์ กลางสภาฯ โดยก่อนอื่น อาจมีพรรคเล็กบางส่วน คิดเคลื่อนไหว เคาะกะลา สร้างราคาให้ตัวเองก่อน ในการโหวตร่างพ.ร.บ.งบประมาณฯ

อย่างไรก็ตาม พบว่า ฝ่ายวิปรัฐบาลและแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ทั้ง “พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์-ภูมิใจไทย-ชาติไทยพัฒนา-รวมพลังประชาชาติไทย”  ที่มีโควตารัฐมนตรีอยู่ตอนนี้ ต่างก็มั่นอกมั่นใจว่าจะคุมเสียงส.ส.ในพรรค ให้โหวตรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบฯให้ผ่านแบบฉลุยให้ได้

ผนวกกับ จับสัญญาณในกลุ่มพรรคเล็ก ที่หนุนรัฐบาลแม้จะไม่มีโควตารัฐมนตรีเช่น “ชาติพัฒนา ของสุวัจน์ ลิปตพัลลภ” -พลังท้องถิ่นไทของชัชวาลล์ คงอุดม หรือชัช เตาปูน รวมถึงส.ส.พรรคเล็กอื่นๆ เช่น “พลังธรรมใหม่ ของนพ.ระวี มาศฉมาดล-พรรคพลเมืองไทย โดยศิลัมพา เลิศนุวัฒน์ –นางบุญญาพร นาตะธนภัทร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังชาติไทยและ นางนันทนา สงฆ์ประชา จากพรรคประชาภิวัฒน์” รวมถึงพรรคเล็กอีกบางส่วน เช่น เศรษฐกิจใหม่ ก็ยังมีท่าทีหนุนรัฐบาลอยู่และยังมีความสุขกับการได้เป็นส.ส.ในสภาฯ ที่ยังเหลืออายุอีกร่วมๆ 9 เดือน จึงยังไม่อยากให้มีการยุบสภาฯ เกิดขึ้นอยู่แล้ว เพราะเรื่องอะไร จะเอาเก้าอี้ส.ส.ของตัวเองที่เหลืออีกเก้าเดือน ไปทำให้เกิดการยุบสภาฯ ที่จะใช้กติกาเลือกตั้งแบบบัตรสองใบ ที่ทำให้พรรคเล็ก แทบไม่มีโอกาสได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภาเลย โอกาสเดินเข้าสภาฯรอบหน้า ทางเดินยิ่งแคบลง ครั้นจะไปอาศัยอยู่กับพรรคใหญ่ ก็อาจไม่มีอนาคต เพราะอาจไปต่อแถวปาร์ตี้ลิสต์อันดับท้ายๆ พรรคใหญ่ไม่เห็นหัว ส่วนครั้นจะควบรวมพรรคเล็กด้วยกันเอง ก็ลำบากเช่นกันเพราะต่างก็ไม่มีจุดขายอะไรในทางการเมือง ดังนั้น เรื่องอะไร ส.ส.พรรคเล็ก จะมาร่วมเล่นเกมป่วน โหวตร่างพ.ร.บ.งบฯเพื่อให้เกิดการยุบสภาฯเร็วก่อนกำหนด

ยิ่งร่างพ.ร.บ.งบฯ เป็นกฎหมายสำคัญของบ้านเมือง เพราะภาครัฐ จะทำอะไร ก็ต้องใช้เงินจากกฎหมายฉบับนี้ทั้งสิ้น หากทำให้กฎหมายตกไป แล้วทำให้กระบวนการออกกฎหมายล่าช้า จนอาจเกิดผลกระทบต่อประเทศชาติ จึงไม่ใช่เหตุผลที่ดีนักในการที่จะไปร่วมป่วน ทำให้ร่างพ.ร.บ.งบฯ สะดุดลง ประชาชนอาจไม่เห็นด้วย ส่วนเรื่องข้อท้วงติงการทำกรอบวงเงินงบประมาณ ก็เป็นเรื่องปกติที่จะต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ ข้อดี-ข้อเสีย จุดแข็ง-จุดอ่อนของร่างพ.ร.บ.งบฯประมาณ เรื่องแบบนี้ เกิดขึ้นทุกปี แต่ก็เป็นเรื่องที่สามารถไปคุยกันได้ในชั้นกรรมาธิการ ฯ ที่จะมีตัวแทนทั้งจากรัฐบาลและฝ่ายค้านเข้าไปเป็นกรรมาธิการ รวมถึงตอนโหวตวาระสอง ก็ยังสามารถเสนอให้ปรับลดงบได้ หากเห็นว่า ไม่มีความจำเป็น ไม่จำเป็นต้องโหวตคว่ำ ก็ได้  

จากเหตุผลข้างต้น ทำให้ จนถึงต้นสัปดาห์ แนวโน้มร่างพ.ร.บ.งบฯ ที่มีการเกรงกันว่า จะมีการเล่นเกมการเมืองเพื่อหวังป่วนรัฐบาลและบีบให้ พลเอกประยุทธ์ ลงจากตำแหน่งเร็วๆ ด้วยการให้ยุบสภาฯ ผ่านวิธีการคือการโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.งบฯ

ประเมินทิศทางการเมืองกันแล้ว พบว่า วิปรัฐบาลและแกนนำรัฐบาล ตลอดจนแวดวงการเมือง ก็ยังเชื่อกันว่า ไม่น่าจะเกิดอุบัติเหตุการเมือง มีการคว่ำร่างพ.ร.บ.งบฯ ปี 2566 ในวันที่ 2 มิ.ย.นี้ได้ เพียงแต่วิปรัฐบาล ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้นในการเช็คเสียงก่อนการลงมติ เพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดเกิดขึ้น

และที่เชื่อกันว่า ร่างพ.ร.บ.งบฯ ไม่น่าจะโดนคว่ำ เมื่อไปดูท่าทีจากฝ่ายต่างๆ โดยเฉพาะแม้แต่กับ พรรคการเมืองที่ดูจะไปร่วมมือกับฝ่ายค้านในการบีบพลเอกประยุทธ์ให้ยุบสภา อย่างพรรคเศรษฐกิจไทยเอง ก็พบว่า คนในพรรคเศรษฐกิจไทย ก็ไม่ได้แสดงท่าทีในการที่จะไปจับมือกับฝ่ายค้านในการโหวตคว่ำร่างพ.ร.บ.งบฯแต่อย่างใด

อย่าง “บุญสิงห์ วรินทร์รักษ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรักษาการนายทะเบียนพรรคเศรษฐกิจไทย” ย้ำท่าทีของ พรรคเศรษฐกิจไทยในเรื่องนี้ว่า พรรคเห็นความสำคัญของเรื่องงบประมาณ พวกเรามองว่าประเทศชาติบ้านเมืองจำเป็นต้องมีงบประมาณ และงบประมาณหลายอย่างประชาชนได้ประโยชน์ แต่เราก็มองเห็นว่างบประมาณหลายอย่างไม่ก่อให้เกิดการขับเคลื่อนบ้านเมือง ไม่คุ้มค่า ซึ่งเราก็ต้องเข้าไปดูในรายละเอียดกัน

ขณะที่ท่าทีของพรรคเล็ก อย่าง “คฑาเทพ เตชะเดชเรืองกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย” ก็บอกเช่นกันว่าในฐานะหัวหน้าพรรคเพื่อชาติไทย ตั้งใจสนับสนุนให้งบประมาณปี 2566 ผ่านสภาฯ เพราะจะได้นำเงินไปใช้จ่ายบริหารประเทศชาติ ซึ่งก็มองว่าร่างพ.ร.บ.งบฯ ผ่านการลงมติแน่นอน

ทั้งนี้ งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 เมื่อจำแนกตามกระทรวงและหน่วย 10 อันดับแรกที่ได้รับงบประมาณ ไล่เรียงตามลำดับมีดังนี้

1.งบกลาง 5.9 แสนล้านบาท

2. กระทรวงศึกษาธิการ 3.259 แสนล้านบาท

3.กระทรวงมหาดไทย 3.255 แสนล้านบาท

4.กระทรวงการคลัง 2.85 แสนล้านบาท

5.ทุนหมุนเวียน 2.06 แสนล้านบาท

6.กระทรวงกลาโหม 1.97 แสนล้านบาท

7.กระทรวงคมนาคม 1.8 แสนล้านบาท

8.รัฐวิสาหกิจ 1.62 แสนล้านบาท

9.กระทรวงสาธารณสุข 1.56 แสนล้านบาท

10. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 1.26 แสนล้านบาท

ประเมินจากสถานการณ์แล้ว แนวโน้มร่างพ.ร.บ.งบปี 2566 น่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาฯในวาระแรกไปได้ แต่เชื่อว่าวิปรัฐบาลจะ “คุมเข้ม-เช็คชื่อ” ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล กันแบบเรียงตัว ไม่ให้ขาดหายไปจากห้องประชุมตอนช่วงลงมติ ซึ่งหากไม่มีอะไรน่ากังวล ก็อาจไม่จำเป็นต้องพึ่งพา “งูเห่า” ในฝ่ายค้าน ให้มาช่วยออกเสียงให้ด้วยก็ได้

เพียงแต่การอภิปราย ในช่วงสามวันคือ 31 พ.ค. ถึง 2 มิ.ย. ทางพลเอกประยุทธ์และรัฐมนตรีแต่ละกระทรวง ก็ต้องเตรียมรับมือกับการอภิปรายของส.ส.ฝ่ายค้าน ที่จะอภิปรายตั้งข้อสังเกตการทำงบของแต่ละกระทรวง ที่จะมีหนักบ้าง เบาบ้าง ไปตามสภาพ แต่บางกระทรวง ก็คงโดนอภิปรายหนักเช่น “งบกลาง -กลาโหม -สาธารณสุข -มหาดไทย” แต่ดูรวมๆ แล้ว การโหวตร่างพ.ร.บ.งบฯ ก็น่าจะผ่านไปได้ แต่ก็ต้องไม่ประมาทเช่นกัน

แสดงความเห็น