สะเทือนแรง ผลเลือกตั้งหลักสี่ พปชร.พักเลียแผล – “บิ๊กตู่” หมดมนต์ขลัง?

เป็นไปตามคาดที่ฝ่าย “พรรคเพื่อไทย” รวมถึงแม้แต่พรรคก้าวไกลและบรรดากองเชียร์แฟนคลับพรรคเพื่อไทย-ก้าวไกล ที่ก็คือ “กลุ่มคนที่ไม่ชอบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐบาลรวมถึงพรรคพลังประชารัฐ” ออกมาสำทับแบบเรียงหน้ากระดานโดยพร้อมเพียงด้วยซุ่มเสียงโทนเดียวกันหมดว่าชัยชนะในการเลือกตั้งซ่อมส.ส.กทม.เขต 9 หลักสี่-จตุจักร ที่พรรคเพื่อไทยกุมชัย อีกทั้งพรรคที่่อันดับสอง ก็ยังเป็นพรรคก้าวไกลที่เป็นพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งเอาคะแนนสองพรรคดังกล่าวมารวมกันพบว่า มากกว่าพรรคกล้า-พลังประชารัฐ-ไทยภักดีรวมกันแบบทิ้งห่างไม่เห็นฝุ่น ทำให้ฝ่ายเพื่อไทย-ก้าวไกลและกองเชียร์เลยเคลมทันทีว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าว  คือ

“ชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย -เป็นเสียงประชาชนสั่งสอนเผด็จการ-คะแนนนิยมพลเอกประยุทธ์ตกต่ำ-ประชาชนไม่พอใจรัฐบาลและพลังประชารัฐ กำลังนับถอยหลัง”

ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ยังมีอีกหลายบริบทการเมืองที่ฝ่ายดังกล่าว ละเลยไม่ได้กล่าวถึง

เช่นในชัยชนะของ สุชาติ เทียนทอง จากพรรคเพื่อไทย จะพบว่า ได้คะแนนน้อยกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 2562 ที่ตอนนั้นได้มา 32,115 คะแนน แต่รอบนี้ได้มาเฉียดๆ สามหมื่นคือราวๆ 29,416 คะแนน เท่ากับคะแนนตัวเองและของพรรคเพื่อไทยก็หายไป เช่นเดียวกับ กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล ที่ได้ประมาณ 20,361 คะแนน แต่ตอนเลือกตั้งปี 2562 สมัยเป็นพรรคอนาคตใหม่ ที่ตอนนั้นส่ง กฤษณุชา สรรเสริญ พบว่าได้ 25,735 คะแนน หากมองมุมนี้ ก็เท่ากับคะแนนของทั้งสองพรรคคือหายไป

อย่างไรก็ตาม ประเด็นนี้ ฝ่ายเพื่อไทย-ก้าวไกล รวมถึงแม้แต่ “พลังประชารัฐ”ก็คงหยิบยกประเด็นเรื่อง รอบนี้มีคนออกมาใช้สิทธิ์น้อยคือออกมาใช้สิทธิ์แค่ 52.68 เปอร์เซนต์เท่านั้น เท่ากับเกินครึ่งมาแค่สองเปอร์เซนต์ที่เป็นสถิติที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ เพราะก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานครและสำนักงานผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานครตั้งเป้าว่าจะมีคนออกมาใช้สิทธิ์ 70 เปอร์เซนต์ขึ้นไป

เมื่อคนออกมาใช้สิทธิ์น้อยมันก็เลยพลอยทำให้ ทั้งฝ่ายเพื่อไทย-ก้าวไกล-พลังประชารัฐและกองเชียร์พลเอกประยุทธ์ ที่คะแนนหายไปและเป็นฝ่ายแพ้  ต่างยกเหตุผลเรื่องนี้มาเข้าข้างฝ่ายตัวเองได้ว่า ที่คะแนนหายไปหรือที่แพ้ เพราะคนออกมาใช้สิทธิ์น้อย

เพียงแต่กรณีของ “มาดามหลี -นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ พรรคพลังประชารัฐ” หนักหนาสาหัสมาก ประเด็นนี้ยกมาอ้าง จะมีน้ำหนักน้อย เพราะมาดามหลีได้คะแนนแค่ 7,906 คะแนน มาอันดับสี่ ทั้งที่สามี สิระ เป็นอดีตส.ส.เก่า ยิ่งเมื่อเทียบกับปี 2562 ที่ สิระเคยได้ 34,907 คะแนน แต่รอบนี้ได้แค่หลักพัน ถือว่า เสียหน้า-เสียหายอย่างมาก ทั้งฝ่ายบ้านทรงไทย สิระ เจนจาคะและพรรคพลังประชารัฐ พรรคแกนนำรัฐบาล

ยิ่งความพ่ายแพ้ของพลังประชารัฐในศึกเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร ที่แพ้แบบไม่เห็นฝุ่น เป็นความพ่ายแพ้ ครั้งที่สามติดต่อกันของพลังประชารัฐ ในรอบหนึ่งเดือนของการกรำศึกเลือกตั้งซ่อม หลังก่อนหน้านี้ก็แพ้ที่ชุมพร-สงขลามาแล้ว

มันจึงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความพ่ายแพ้ที่เกิดขึ้น ส่งผลสะเทือนทางการเมืองกับพลังประชารัฐและพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐอย่างมาก

เพราะหากแพ้แบบมีลุ้น มาอันดับสองหรืออันดับสามแล้วคะแนนหลักหมื่น ยังพอทน แต่แพ้แบบนี้ ลุงป้อม คงต้องควักยาดม สูดเข้าไปหลายรอบ

ความพ่ายแพ้ของพลังประชารัฐครั้งนี้ ในทางการเมือง ถือว่า เสียสองเด้ง ไป-กลับ

เด้งแรก -พลังประชารัฐ เสียที่นั่งเก้าอี้ส.ส.ในพื้นที่กทม. ที่เป็นของตัวเองให้กับฝ่ายค้าน ทำให้เสียงส.ส.หายไปหนึ่งเสียง ที่สำคัญส่งผลต่อขวัญ-กำลังใจ ของคนในพลังประชารัฐ แน่นอนเรื่องนี้ปฏิเสธไม่ได้ กลบกันไม่มิด ยิ่งเห็นคะแนนที่ออกมาแค่หลักพันแบบนี้ น่าจะทำให้ส.ส.กทม.พลังประชารัฐ ถึงกับเครียดไม่น้อย เพราะชักเกรงๆ แล้วว่าเลือกตั้งรอบหน้า อาจร่วงได้เหมือนกัน

เพราะเลือกตั้ง ปี 2562 ส.ส.กทม.พลังประชารัฐหลายคน ก็ชนะคู่แข่ง มาได้แบบเฉียดฉิว พอเจอเข้าแบบนี้ น่าจะทำให้ส.ส.กทม.พลังประชารัฐ ต้องทำงานหนักขึ้นกับการลงพื้นที่

ยิ่งเลือกตั้งรอบหน้า มีคู่แข่งมากขึ้นจากตอนปี 2562 อย่างเห็นได้ชัด เพราะมีพรรคการเมืองโดยเฉพาะพรรคตั้งใหม่ ก็จ้องจะมาแชร์เก้าอี้ส.ส.เขตกทม.อยู่หลายพรรคทั้ง สร้างเศรษฐกิจไทย ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์และอดีตสี่กุมาร-ไทยสร้างไทยของสุดารัตน์ เกยุราพันธ์ -พรรคกล้า โดยกรณ์ จาติกวณิช หรือแม้แต่ ไทยภักดี ของหมอวรงค์ เดชกิจวิกรม ที่คงไม่ยอมแพ้ง่ายๆ หลังแพ้เลือกตั้งซ่อมที่หลักสี่ฯมา เป็นต้น

เด้งที่สอง คือ มันเป็นความพ่ายแพ้ในพื้นที่เลือกตั้งกทม.ที่เป็นเมืองหลวง ซึ่งผลที่ออกมา ส่งผลต่อการเมืองระดับชาติ ในภาพใหญ่ด้วย เพราะพลังประชารัฐ คือพรรคแกนนำรัฐบาล การที่คนของพรรคแพ้เลือกตั้งให้ฝ่ายค้าน มันก็ถูกเคลมทางการเมืองได้ว่า ประชาชนไม่เอาบิ๊กตู่แล้ว  กระแสนิยมรัฐบาลตกต่ำ คนกรุงไม่พอใจการทำงานของรัฐบาล ถึงขั้นไปไกลว่าเป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตยเพราะประชาชนไม่เอาเผด็จการ

ที่สำคัญ ในทางการเมือง ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มันถูกลากโยงไปถึง พลเอกประยุทธ์ แบบเต็มๆ

เพราะตอนช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันเลือกตั้ง เห็นชัด ทีมหาเสียงพลังประชารัฐ และมาดามหลี เน้นชู พลเอกประยุทธ์ ขึ้นมาหาเสียงอย่างชัดเจนโดยเฉพาะตอนลงพื้นที่ ถึงขั้นบอกกันว่า รักลุงตู่ กาเบอร์ 7-มาดามหลี  ขณะที่ มาดามหลี ก็พูดถึงพล.อ.ประยุทธ์ หลายครั้งตอนหาเสียงและตอนออกสื่อ โดยการพูดถึงผลงานด้านต่างๆ เช่นผลงานล่าสุดกรณีเปิดสัมพันธ์ทางการทูตกับ ซาอุดีอาระเบีย เป็นต้น

พอผลเลือกตั้งออกมาแบบนี้ จากเดิมที่พลังประชารัฐ เคยชูพลเอกประยุทธ์ เป็นแคนดิเดตนายกฯโดยเฉพาะในพื้นที่กทม.ที่ประกาศตอนหาเสียงโค้งสุดท้ายว่า รักความสงบ-จบที่ลุงตู่ จนพลังประชารัฐ ได้ส.ส.กทม.มาถึง 12 คนกลายเป็นแชมป์กทม. แต่เมื่อ เลือกตั้งซ่อมหลักสี่ฯ ทีมหาเสียงประชารัฐ มาเน้นชูพลเอกประยุทธ์อีกครั้งตอนช่วงโค้งสุดท้าย แล้วปรากฏว่า ไม่เข้าเป้า แถมคะแนนมาเป็นอันดับสี่แบบนี้

ฝ่ายตรงข้าม เลยไม่พลาดที่จะฉวยโอกาสทอง ตอกฝาโลง ไปปังๆ ว่า “พลเอกประยุทธ์ ขายไม่ออกแล้วในกทม. -บิ๊กตู่ หมดมนต์ขลัง” ที่ยังไง การสร้างกระแสทำนองนี้  ก็มีผลทางการเมืองต่อพลเอกประยุทธ์และพลังประชารัฐแน่นอน แม้บางฝ่ายจะมองว่า ผลเลือกตั้งซ่อมครั้งนี้ยังไม่สามารถชี้วัดกระแสนิยมบิ๊กตู่ได้ก็ตาม

กระนั้น รับรองได้ว่า หลังจากนี้ แกนนำพลังประชารัฐและส.ส.พลังประชารัฐ  ที่ยังคิดจะอยู่กับพรรคนี้ต่อไป  คงต้องนำสิ่งที่เกิดขึ้นมาถกแถลงพูดคุยกันอย่างหนัก เปิดอก-เปิดใจคุยกันในพรรคแล้วว่า พลังประชารัฐ จะเอาอย่างไรต่อไป

เพราะแม้สิ่งที่เกิดขึ้นกับผลการเลือกตั้งซ่อมทั้งที่สงขลา-ชุมพร-กทม. พลังประชารัฐอาจจะมองว่า ไม่สามารถสั่นคลอนพรรคได้เพราะแค่เลือกตั้งซ่อม  แต่ในความเป็นจริง เชื่อได้ว่า หลายคนในพรรคโดยเฉพาะพวกส.ส. พลังประชารัฐที่เข้ามาได้ด้วยกระแสพลเอกประยุทธ์เช่นในพื้นที่กทม.-ภาคใต้ ต่อจากนี้คงเริ่มซีเรียสกันมากขึ้นกับการวิตกว่าตัวเองจะสอบตกได้ หากกระแสนิยมบิ๊กตู่ ไม่ดีขึ้น จนทำให้ เมื่อไปถึงตอนเลือกตั้งรอบหน้า จะทำให้ไม่สามารถกลับเข้าสภาฯได้อีกรอบ

ช่วงเวลาต่อจากนี้ คาดได้ว่า แกนนำพลังประชารัฐและส.ส. ที่ยังคิดจะปักหลักอยู่กับพรรคต่อไป คงใช้เวลาร่วมกันในการวางยุทธศาสตร์การเมืองของพรรคกันใหม่แบบรีสตาร์ทอีกรอบ ถึงขั้นอาจต้อง นอนเลียแผลตัวเองสักพัก เพื่อตั้งหลัก ปรับทัพกันใหม่ ยกเครื่องพรรคกันครั้งใหญ่  ก่อนทำศึกเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นช้าสุดปลายปีนี้

แสดงความเห็น