แม้แกนนำพลังประชารัฐ ตอนนี้จะทุ่มสรรพกำลังลงไปกับศึกเลือกตั้งซ่อมส.ส.ชุมพรและสงขลา ที่จะรู้ผลกันวันอาทิตย์ที่จะถึงนี้แล้ว 16 ม.ค. อย่างไรก็ตาม ลึกๆก็คาดว่าแกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) โดยเฉพาะ “บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค-รองนายกฯ” ก็คงหวั่นใจไม่น้อยกับศึกเลือกตั้งซ่อมส.ส.หลักสี่ ที่จะเกิดขึ้นในอีกสองสัปดาห์ถัดไป 30 ม.ค. ด้วยเพราะเป็นสนามเลือกตั้งซ่อมในพื้นที่เมืองหลวง กรุงเทพมหานคร อีกทั้งเป็นการลงทำศึกเพื่อ “ป้องกันพื้นที่” เพราะเป็นพื้นที่เดิมของ สิระ เจนจาคะ อดีตส.ส.หลักสี่ ไม่ใช่การเข้าไปแย่งพื้นที่แบบที่ชุมพร -สงขลา
มันจึงทำให้ พปชร.-บิ๊กป้อม มีความกดดันค่อนข้างมาก เพราะหากคนของพปชร.คือ “มาดามหลี – นางสรัลรัศมิ์ เจนจาคะ” ภรรยาของสิระ แพ้เลือกตั้งขึ้นมา ในทางการเมือง พปชร.จะโดนสองเด้งเลยคือ
หนึ่ง -เสียเก้าอี้ ส.ส.กทม.ไปหนึ่งเก้าอี้
สอง-ถูกมองว่า พปชร.ที่เป็นแชมป์ส.ส.เขต กทม.ในการเลือกตั้งปี 2562 กระแสเริ่มตกในเมืองหลวง และจะลามไปถึงตัว พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เป็นแคนดิเดตนายกฯของพปชร.ด้วย เพราะยังไง แม้บิ๊กตู่ จะพยายามรักษาระยะห่างจากพรรคพปชร. แต่ในความเป็นจริง พปชร.กับบิ๊กตู่ ก็คือ ฝ่ายเดียวกัน -พวกเดียวกัน-ฐานการเมืองของกันและกัน
เพราะพลเอกประยุทธ์ คือแคนดิเดตนายกฯของพปชร.และได้เป็นนายกฯรอบสองก็เพราะพปชร.เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล และพปชร.ชนะเลือกตั้ง โดยเฉพาะการเอาชนะได้หลายเขตในกทม.และภาคใต้ ก็เพราะกระแสนิยมของบิ๊กตู่
ด้วยเหตุนี้ ดังนั้น หากพรรคพปชร.แพ้เลือกตั้งที่หลักสี่
แรงเหวี่ยงทางการเมือง จะไปถึงบิ๊กตู่ อย่างไม่ต้องสงสัย
และจะเกิดแรงกระเพื่อมตามมาในพปชร.แน่นอน
ที่แน่ๆ จะทำให้ “กลุ่มกทม.” ในพปชร. ที่มีส.ส.เขต ตอนนี้ 11 คน เกิดสภาพหวั่นไหวแน่นอน หากพปชร.แพ้ที่หลักสี่ เพราะนั่นคือสัญญาณที่บอกให้รู้แล้วว่า มีสิทธิ์สอบตกได้ในการเลือกตั้งรอบหน้าเช่นกัน แต่กลับกัน ถ้าพปชร.ชนะในศึกเลือกตั้งที่หลักสี่ มันก็จะยิ่งเพิ่มความมั่นใจ-สร้างความฮึกเหิมให้กับ พลเอกประวิตร -พลเอกประยุทธ์และพปชร.อย่างมาก โดยเฉพาะกับกลุ่มกทม.และว่าที่ผู้สมัครส.ส.กทม.ของพปชร.ว่า กระแสนิยมของพปชร.และพลเอกประยุทธ์ ในกทม.ยังแน่นอยู่
ผลเลือกตั้งหลักสี่ ไม่ว่าจะแพ้หรือชนะ ในมุมของพปชร. จึงน่าสนใจอย่างมาก
มันก็เลยเป็นแรงกดดันไปในตัว สำหรับ มาดามหลี นางสรัลรัศมิ์ ซึ่งจริงๆ ไม่ใช่เพิ่งเข้ามาทำการเมือง เพราะทำงานการเมืองและสังคมในพื้นที่พร้อมกับสิระ มานานหลายปีแล้ว จึงทำให้มีฐานเสียงระดับหนึ่ง แต่ที่กดดันมากกว่า ก็คือ พี่เลี้ยงข้างกาย สิระ เจนจาคะ ที่ต้องทำทุกอย่างเพื่อพาเมียตัวเองเข้าสภาฯ ให้ได้
เพราะตอนนี้ สิระ ก็หมดสิทธิ์ลงสมัครส.ส.ตลอดชีวิตแล้ว ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันจากผลคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น สิระ ก็ต้องทำให้ ภรรยา ต้องมี
“ที่ยืน-ตำแหน่งการเมือง”
ในพปชร.และในสภาฯให้ได้ เพื่อรักษาสถานภาพทางการเมืองของตัวเองทั้งในพื้นที่และในสภาฯ ต่อไป เพราะหากเลือกตั้งรอบนี้ มาดามหลี แพ้เลือกตั้งขึ้นมา ไม่แน่ เลือกตั้งรอบหน้า ต่อให้ สิระ “ห้อยเหรียญหลวงพ่อป้อม” เข้าที่ทำการพรรคพปชร. ก็อาจโดนบางฝ่ายในพปชร.เล่นเกมเตะสกัด ด้วยการดีดชื่อเมียตัวเอง ออกจากแคนดิเดตผู้สมัครส.ส.กทม.ของพปชร.รอบหน้าก็ได้
ศึกนี้ ทั้ง “สิระ-มาดามหลี” เลยแบกรับความกดดันอย่างมาก ชนิดแพ้ไม่ได้ ต้องชนะสถานเดียว
ซึ่งลำพัง แค่ต่อสู้กับคู่ปรับเดิมคือ พรรคเพื่อไทย ที่ส่ง “สุรชาติ เทียนทอง อดีตส.ส.หลักสี่ พรรคเพื่อไทย” ลงมาชิงชัย ก็เหนื่อยแล้ว แต่ฝ่ายสิระ-มาดามหลี ยังต้องมาเจอการ “ตัดคะแนน” กันเอง ของผู้สมัครที่ถูกมองว่าเป็นกลุ่มที่มีฐานเสียง เดียวกัน หรือผู้สมัคร ที่ประชาชนซึ่งไม่ชอบพรรคฝ่ายค้านปัจจุบัน และบางส่วนก็สนับสนุนรัฐบาลชุดปัจจุบัน จะเลือกผู้สมัครจากฝั่งนี้ ที่ก็จะมี “พันธุ์เทพ ฉัตรนะรัชต์ จาก พรรคไทยภักดี” และ “อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี จากพรรคกล้า”
แม้ก่อนหน้าไม่นาน จู่ๆ อรรถวิชช์ ก็ออกมาเสนอแนวคิดเรื่องการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการพิจารณาดำเนินคดีมาตรา 112 จนทำให้ ประชาชนกลุ่มที่ไม่ชอบฝ่ายค้านและม็อบสามนิ้ว พากันผิดหวังและประกาศคว่่ำบาตร ไม่เลือกพรรคกล้าก็ตามที แต่ก็มีการมองกันว่า ประชาชนที่จะเลือก อรรถวิชช์จากพรรคกล้า ยังไง ก็น่าจะเป็นกลุ่มที่จะไม่เลือกพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลอยู่แล้ว
หากมองมุมนี้ เท่ากับว่า “มาดามหลี-พปชร.“ จะมีตัวตัดคะแนนถึงสองคนสองพรรคคือ ไทยภักดีกับพรรคกล้า แถมเป็นตัวตัดคะแนนที่ไม่ธรรมดา เพราะเป็นพวก “คนมีของ” ด้วยกันทั้งสองพรรค
อย่าง ไทยภักดี เอง การที่ได้ “พล.ต.นพ.เหรียญทอง แน่นหนา ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ” มาเป็นกองเชียร์ เปิดตัวสนับสนุน พันธุ์เทพ-ผู้สมัครของไทยภักดี แค่นี้ สิระ-มาดามหลี-พปชร. ก็สู้เหนื่อยแล้วเพราะหมอเหรียญทอง ก็มีมวลชน-แฟนคลับในพื้นที่หลักสี่พอสมควร โดยเฉพาะกับผลงานเรื่องการทำโรงพยาบาลสนามในพื้นที่รพ. มงกุฎวัฒนะ ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่หลักสี่
และยิ่งล่าสุดเมื่อ วันที่ 8 ม.ค.2565 – “ม.จ.จุลเจิม ยุคล หรือ ท่านใหม่” โพสต์ข้อความสนับสนุนพรรคไทยภักดี โดยระบุว่า “เลือกพรรคไทยภักดี เติมคนดีเข้าสภา”
ท่าที สัญญาณชัดขนาดนี้ ยิ่งทำให้ ประชาชนกลุ่มเสื้อเหลือง-ไม่เอาพรรคฝ่ายค้าน-ต้านม็อบสามนิ้ว ยิ่งตัดสินใจได้ง่ายขึ้นว่าจะเลือกพปชร.หรือไทยภักดี ที่มีจุดยืนชัดเจนมากกว่าในเรื่องการปกป้องสถาบันฯ
ทำให้ แนวทางการหาเสียงของ มาดามหลี-พปชร.หลังจากนี้ คงต้องชัดแล้วว่า จะหวังคะแนนจากประชาชนกลุ่มไหน คงเดินหาเสียงแบบหว่านไม่ได้แล้ว ต้องหาเสียงแบบเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ให้ได้โดยเร็ว โดยคาดว่าช่วงสัปดาห์สุดท้าย แกนนำพปชร. คงต้องงัดกลยุทธ์เด็ดๆลงมาช่วย สิระ-มาดามหลี
อย่างไรก็ตาม สิระ-พปชร. ก็อาจเบาใจได้บ้าง เพราะฝั่งคู่แข่งสำคัญคือ สุรชาติ-พรรคเพื่อไทย ก็มีตัวตัดคะแนนเช่นกันในฝั่งตัวเองคือ “เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ พรรคก้าวไกล” ที่ก็พบว่า ทั้งฝ่ายก้าวไกลและเพื่อไทย ก็ไม่มีใครยอมใครเช่นกัน
เพราะฝ่ายพรรคก้าวไกล มั่นใจว่า แนวทางการเมืองของตัวเองที่ผ่านมา ทั้งการเมืองในสภาฯและนอกสภาฯ บวกกับ การสร้างกระแสในโซเชียลมีเดีย และมีฐานเสียงพวกคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ก็น่าจะทำให้ เพชร-กรุณพล อาจมีสิทธิ์เบียดเอาชนะได้ ส่วนการที่ อรรถวิชช์ ออกมาแสดงท่าที เรื่องมาตรา 112 ในช่วงนี้ พบว่าฝั่ง ก้าวไกล ไม่ค่อยให้ราคานัก เพราะมองว่า ยังไง คนที่จะเลือกพรรคก้าวไกลหรือเทคะแนนให้คนของฝ่ายค้าน ทั้งเพื่อไทยและก้าวไกล ก็จะเป็นกลุ่มคนที่ไม่เลือกพรรคกล้า อยู่แล้ว ดังนั้น ก้าวไกล จึงมองว่า ท่าทีของ อรรถวิชช์ เรื่องการตั้งกรรมการกลั่นกรองคดี 112 จึงไม่มีผลใดๆ ในการทำให้คนที่จะเลือกก้าวไกล หันไปเลือกพรรคกล้า
สนามเลือกตั้งซ่อม-หลักสี่ ดีกรีความเข้มข้น แม้ตอนนี้ อาจจะยังไม่เห็นอะไรมาก เพราะยังเป็นแค่โค้งแรกๆ ยังไม่ใช่โค้งสุดท้าย แต่เมื่อไปถึงช่วงเจ็ดวันสุดท้ายก่อนเลือกตั้งเมื่อไหร่ งานนี้ รับรอง สู้กัน เดือดระอุ!!