‘แบงก์ชาติ’ ด่านสุดท้าย แจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต

โครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท น่าจะเหลือแค่ ‘ด่านสุดท้าย’ แล้ว

นั่นคือ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือที่เรียกติดปากกันว่า ‘แบงก์ชาติ’

ที่ว่า เป็น ‘ด่านสุดท้าย’ เพราะหน่วยงานด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นหน่วยงานหลักในการให้ข้อมูลทางเศรษฐกิจ กับโครงการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท 3 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงการคลัง สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และ ธปท. มี 2 หน่วยงานที่รัฐบาลปลดล็อกไปได้แล้ว

ข้อมูลทางเศรษฐกิจของกระทรวงการคลัง ผ่านฉลุยแน่นอนอยู่แล้ว เพราะมี ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี เป็น รมว.คลัง ซ้ำยังมี ‘จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์’ เป็น รมช.คลัง ที่ผลักดันโครงการดิจิทัลวอลเล็ตเต็มที่

ขณะที่ ‘สภาพัฒน์ฯ’ อีกหนึ่งปราการหลัก แต่เดิม ข้อมูลเศรษฐกิจดูจะไม่เป็นบวกกับรัฐบาลเลย 

เพราะก่อนหน้านี้ข้อมูลเศรษฐกิจของ ‘สภาพัฒน์ฯ’ ไม่ได้สะท้อนว่า เศรษฐกิจ ‘วิกฤต’ อย่างที่รัฐบาลต้องการแต่อย่างใด

หลายครั้งตัวเลขของ ‘สภาพัฒน์ฯ’ สร้างความหงุดหงิดให้กับแกนนำรัฐบาลด้วยซ้ำ

แต่อยู่ๆ ไม่กี่วันก่อน ‘ดนุชา พิชยนันท์’ เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ แถลงข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมขอให้ ‘แบงก์ชาติ’ มีมาตรการทางเงิน เพราะมาตรการทางการคลังได้ใช้ไปหมดแล้ว แต่ยังไม่กระเตื้อง

1 ในข้อเรียกร้องของ ‘สภาพัฒน์ฯ’ คือ อยากให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

สิ่งที่ ‘สภาพัฒน์ฯ’ เรียกร้อง กลายมาสอดคล้องกับสิ่งที่ ‘เศรษฐา’ และรัฐบาลต้องการนั่นคือ ให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ลดอัตราดอกเบี้ยลง

หลายฝ่ายค่อนข้างแปลกใจว่า ‘ดนุชา’ ถูกกดดันจากผู้ใหญ่ในรัฐบาลให้ออกมาพูดหรือไม่

คำตอบคือ ‘ไม่’ เพราะหากได้ ‘สภาพัฒน์ฯ’ คงเรียกร้องให้มีการลดอัตราดอกเบี้ยตั้งแต่แรกๆ แล้ว

แต่ท่าทีที่เปลี่ยนไปของ ‘ดนุชา’ ถูกมองว่า น่าจะได้รับการร้องขอจาก ‘ผู้มากบารมี’ คนหนึ่งในองคาพยพของพรรคร่วมรัฐบาลหรือไม่

‘ผู้มากบารมี’ รายนี้ เป็น ‘นายทุน’ ให้กับพรรคการเมืองบางพรรค ในขณะเดียวกัน ยังเป็นรุ่นพี่จากสถาบันเดียวกันกับ ‘ดนุชา’ อีกด้วย

หลายฝ่ายให้น้ำหนักไปที่คนๆ นี้ มากกว่าที่จะเป็น ‘เศรษฐา’ หรือแกนนำรัฐบาลคนอื่นๆ

เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ ‘แบงก์ชาติ’ กลายเป็นหน่วยงานเดียวที่รัฐบาลต้องฝ่าไปให้ได้ ซึ่งท่าทีของ ‘แบงก์ชาติ’ ยังคงจับหลักแน่น นั่นคือ ไม่ลดอัตราดอกเบี้ย

‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าฯแบงก์ชาติ ยังคงเป็นเป้าของรัฐบาลในการกดดัน

เหมือนเมื่อวันก่อนที่ ‘เศรษฐา’ ฝากข้อคิดว่า แม้จะเป็นองค์กรอิสระ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า จะไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของประชาชน

ฉะนั้น มันจึงอยู่ที่ว่า ‘แบงก์ชาติ’ จิตแข็งแค่ไหน? และจะต้านทานไปได้อีกนานแค่ใด

ขณะที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แม้จะมีข้อเสนอแนะดุๆ แต่เมื่อไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ รัฐบาลเพียงแค่รับทราบและชี้แจงกลับไปว่า ทำได้มากน้อยแค่ไหน

‘ด่านสุดท้าย’ ของโครงการนี้ จึงเหลือแค่ ‘แบงก์ชาติ’ จริงๆ

แสดงความเห็น