ศาลรธน.ชี้ขาด “อานนท์-ไมค์-รุ้ง” ล้มล้างการปกครอง สั่งผู้ถูกร้อง-เครือข่ายเลิกการกระทำในอนาคต

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย ในคดีที่นายณฐพร โตประยูร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 ว่าการกระทำของ นายอานนท์ นำภา ผู้ถูกร้องที่ 1, นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ผู้ถูกร้องที่ 2 และน.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล หรือ รุ้ง ผู้ถูกร้องที่ 3 พร้อมพวกรวม 8 คน จัดการชุมนุมปราศรัยเมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเสนอข้อเรียกร้อง 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 6 ซึ่งเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เป็นการกระทำที่มีเจตนา เซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ทั้งนี้การเคลื่อนไหวของผู้ถูกร้องทั้ง 3 ยังมีพฤติการณ์กระทำซ้ำ กระทำอย่างต่อเนื่อง เป็นขบวนการ ซึ่งการใช้สิทธิของผู้ถูกร้อง เป็นการกระทำเป็นการอ้างสิทธิและเสรีภาพเพียงอย่างเดียว ใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นโดยไม่รับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ละเมิดสิทธิของคนอื่น การชุมนุมหลายครั้งมีการทำลายพระบรมฉายาลักษณ์ มีการตัดสีน้ำเงินซึ่งหมายถึงสถาบันพระมหากษัตริย์ออกจากธงชาติ แม้เหตุการณ์ตามคำร้องผ่านไปแล้ว แต่หากปล่อยให้ผู้ถูกร้องและองค์กรเครือข่าย ย่อมได้กลายเป็นเหตุการล้มล้างการปกครอง ทั้งนี้จึงวินิจฉัยว่า การจัดการชุมนุมปราศรัยดังกล่าวเป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรค และสั่งการให้ผู้ถูกร้อง ที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 และกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวต่อไปในอนาคต

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนการอ่านคำวินิจฉัย ตัวแทนผู้รับมอบอำนาจจากนายอานนท์ นำภา ตัวแทนผู้รับมอบฉันทะของนายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล ได้แจ้งต่อศาลรัฐธรรมนูญว่าหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้งดไต่สวน จะไม่ขอร่วมรับฟังการอ่านคำวินิจฉัยในคดีดังกล่าว เพราะเห็นว่าพยานหลักฐานตามคำร้องนั้นไม่เพียงพอที่จะอธิบาย ซึ่งระบบไต่สวนหาข้อเท็จจริงต้องฟังความทั้ง 2 ข้าง

แสดงความเห็น