“กมธ.ดีอีเอส” บุก “กสทช.” ตามงานโครงสร้างพื้นฐาน 5G หนุนเน็ตชายขอบให้ทำงานเต็มคุณภาพ เล็ง แบล็คลิส “ทีโอที” หลังทำ “USO net” ไม่เสร็จสมบูรณ์

ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) คณะกรรมาธิการการสื่อสารโทรคมนาคม และดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกมธ.ดีอีเอส นำโดย น.ส.กัลยา รุ่งวิจิตรชัย ประธานคณะกรรมาธิการฯ พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมาธิการฯ นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการฯ และคณะเข้ารับฟังข้อมูลและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับ กสทช. โดยมี พล.อ.สุกิจ ขมะสุนทร ประธาน กสทช. ให้การต้อนรับ

โดย น.ส.กัลยา ให้สัมภาษณ์ว่า วันนี้ กมธ.ดีอีเอส ได้ฟังความก้าวหน้าในการดำเนินการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสารและโทรคมนาคม รวมถึงการจัดโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยที่ประชุมหารือถึงการดำเนินโครงการอินเทอร์เน็ตตามแนวชายขอบ หรืออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ห่างไกล (Zone C) การให้บริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะประจำหมู่บ้าน (USO net) ซึ่งดำเนินการโดยบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) โดยทางกรรมาธิการฯ ได้แนะนำให้ กสทช. ต้องใช้ความรอบคอบระมัดระวังในการตรวจรับงานจาก ทีโอที เนื่องจากที่ผ่านมาทาง กมธ.ดีอีเอส ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการดำเนินโครงการดังกล่าวที่จังหวัดหนองคาย ทำให้เห็นว่าโครงการมีประโยชน์ อาจยังมีความไม่สมบูรณ์ในบางจุด และดำเนินการไม่แล้วเสร็จ ดังนั้นจึงได้มีการเสนอประเด็นให้ขึ้นแบล็คลิส กับบริษัท ทีโอที ไม่ให้เข้าร่วมในการในการประมูลใหม่ ซึ่งทาง กสทช. ก็ได้ตอบรับและเห็นว่าไม่น่าจะให้ทีโอทีเข้าประมูลใหม่ได้ แล้วการประมูลที่อาจจะมีขึ้นในช่วงต้นปี 2563 จะต้องดำเนินการให้เกิดกับประชาชนสูงสุด โดยเปิดให้บริษัทที่มีความพร้อมให้เข้ามาแข่งขัน เพื่อให้ประชาชนได้ใช้อินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึง เป็นการลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ช่วยสร้างประโยชน์ด้านการศึกษาออนไลน์ การสาธารณสุขทางไกล 

“ทางกรรมาธิการฯ เห็นความสำคัญของโครงการ USO net จึงได้กำชับในเรื่องการวางแผนดำเนินโครงการดังกล่าว ให้ต่อเนื่อง และทำให้สมบูรณ์ ทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ เพราะเป็นโครงการที่มีประโยชน์ต่อประชาชนจริงๆ จึงจะรอช้าไม่ได้” ประธานกมธ.ดีอีเอส กล่าว

ด้านพ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวว่า ทาง กมธ.ดีอีเอส โดยเฉพาะท่านสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาฯ ได้ให้ความสนใจในการเตรียมความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม ที่จะรองรับเทคโนโลยี 5G ในอนาคต ซึ่ง 5G จะเกิดประโยชน์อย่างมากในเรื่องของการศึกษาที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไป เพื่อที่จะรองรับระบบ Automation ต่างๆ ซึ่งเป็นรูปแบบของงานใหม่ที่จะเข้ามาแทนรูปแบบงานเดิม ทำให้ระบบการศึกษาจะต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เท่าทันกับงานที่เปลี่ยนไป กรรมาธิการฯ จึงได้แนะนำให้ กสทช. ได้ใช้กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) หรือกองทุนอื่นๆที่รัฐมี ให้ทุ่มไปที่การพัฒนาบุคลากร เพื่อเพิ่มทักษะให้กับแรงงานให้ตอบโจทย์กับความต้องการของตลาดแรงงานของโลกอนาคต โดยไม่จำเป็นต้องดำเนินการในรูปแบบให้มีปริญญาบัตร แต่ดำเนินในลักษณะเพิ่มทักษะแบบเฉพาะเจาะจง สร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน 

“เรื่องนี้ต้องทำอย่างเร่งด่วน เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้ประเทศไทยสูญเสียศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลไป ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ พัฒนาเศรษฐกิจให้เติบโตขึ้นอย่างเข้มแข็ง” รองประธานกมธ.อีดีเอส กล่าว

แสดงความเห็น