นายชินวรณ์ บุณยเกียรติ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ ฐานะรองประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณีที่กลุ่มส.ส.พรรคเล็กร่วมรัฐบาล เรียกร้องให้วิปรัฐบาลยกประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญหารือร่วมกันเพื่อให้การแก้ไขเป็นจริง ว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญยอมรับว่าต้องได้รับความเห็นพ้องต้องกัน ซึ่งตนมองว่าก่อนการเปิดสมัยประชุมรัฐสภา เดือนพฤษภาคม ทุกฝ่าย คือ วิปรัฐบาล, วิปฝ่ายค้านและ วิปวุฒิสภาต้องหารือร่วมกัน เพื่อให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้จริงและเพื่อถอดสลักปัญหา ส่วนกรณีที่พรรคพลังประชารัฐ ยื่นญัตติขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราแล้วนั้น เชื่อว่าไม่มีปัญหา เพราะเมื่อเข้าสู่การพิจารณาในรัฐสภาสมาชิกรัฐสภามีสิทธิออกเสียงสนับสนุนได้
“ผมเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ สามารถทำได้ อย่างไม่มีปัญหาแต่ต้องแสวงหาความร่วมมือ เพื่อให้การแก้ไขกติกาสูงสุดของบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยตามหลักการสากลมากขึ้น นอกจากนั้นต้องให้สิทธิเสรีภาพของประชาชนได้รับความคุ้มครอง ขณะเดียวกันอำนาจรัฐต้องถูกตรวจสอบได้ ทั้งนี้ผมเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญสามารถทำควบคู่กันไปได้ระหว่างงานของรัฐบาลที่สำคัญ คือ แก้ปัญหาโควิด-19 และ ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ดีมีบางประเด็นที่ผมห่วง คือ มีบางกลุ่มบางพรรคพยายามปลุกกระแสต่อต้านการแก้รัฐธรรมนูญของรัฐสภา โดยไม่ใช้ปัญญาและเหตุผล” นายชินวรณ์ กล่าว
นายชินวรณ์ ฐานะแกนนำพรรคประชาธิปัต์ที่จัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ กล่าวด้วยว่า สำหรับประเด็นที่พรรคประชาธิปัตย์ยกร่างแก้ไข ว่าด้วยระบบเลือกนายกรัฐมนตรี สาระสำคัญ คือ คงหลักการให้พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อบุคคลที่พรรคจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี จำนวน 3 ชื่อ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบ โดยทั้ง 3 ชื่อในบัญชีนั้นไม่จำกัดว่าต้องลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ส่วนกรณีที่เสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. นั้น ข้อเท็จจริง คือการเปิดช่อง กรณีที่รายชื่อในบัญชีของพรรคการเมือง ไม่สามารถเป็นนายกรัฐมนตรีได้ จะให้สภาฯ เสนอและเลือก ส.ส. ให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ดังนั้นในประเด็นคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีนั้น ไม่ใช่ว่าต้องเป็นส.ส. เหมือนกับปี 2535