กมธ.ประชามติ ให้สิทธิขาด “ครม.” ชี้ว่าจะทำประชามติ ตาม “รัฐสภา-ปชช.” เสนอหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานถึงการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญ พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…. รัฐสภา ที่มี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ส.ว. เป็นประธานกมธ.ฯ เพื่อพิจารณาเนื้อหาที่กฤษฎีกาปรับแก้ไขให้สอดคล้องกับมาตรา9 ที่เพิ่มสิทธิประชาชนและรัฐสภา เสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ออกเสียงประชามติ ว่า ในช่วงเช้าได้ใช้เวลาปรึกษาหารือและพิจารณาในหลักการของการให้สิทธิประชาชนและรัฐสภาเสนอเรื่องทำประชามติ และกรอบของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ หลังจากนั้นในช่วงบ่าย จึงเข้าสาระที่ปรับแก้ไข

จากนั้น เวลา 15.00 น. นายวันชัย สอนศิริ  ส.ว. ฐานะโฆษก กมธ.  แถลงผลการประชุม ว่า กมธ.ทั้งเสียงข้างมาก และเสียงข้างน้อย มีความเข้าใจอย่างดีต่อเป้าหมายที่ต้องการให้กฎหมายประชามติผ่านไปได้ สามารใช้บังคับได้ ทุกคนพยายามหาทางออกร่วมกัน ลดประเด็นที่เป็นปัญหาให้มากที่สุด อย่างไรก็ดีในเนื้อหาว่าด้วยสิทธิของประชาชน กมธ.ยังอยู่ระหว่างการถกแถลง แต่ภาพรวมเชื่อว่าจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

“การจัดทำประชามติยังเป็นอำนาจของครม. ที่จะพิจารณาจะเห็นสมควรให้ทำประชามติหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ประชุมรัฐสภามีมติส่งมา ภาคประชาชนเข้าชื่อ ต้องให้ครม.ใช้ดุลยพินิจอีกครั้ง โดยเป็นมติครม.เห็นชอบจะปฏิบัติตามหรือไม่ โดยไม่จำเป็นต้องทำตามที่เสนอก็ได้” นายวันชัย กล่าว

นายวันชัย กล่าวด้วยว่าสำหรับเนื้อหาที่เป็นข้อสรุปเบื้องต้น คือ ส่วนของรัฐสภา กำหนดให้เป็นเรื่องของแต่ละสภาฯ ที่จะพิจารณา และลงมติ โดยใช้เสียงข้างมากของผู้ที่มาร่วมประชุม ก่อนจะเสนอให้ ครม. พิจารณาว่าจะดำเนินการตามที่เสนอหรือไม่  ส่วนที่กำหนดให้เป็นเรื่องของแต่ละสภาฯ ไม่ใช่รัฐสภานั้น เพราะมาตรา 156 ว่าด้วยการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ไม่ได้กำหนดไว้ แม้(16) จะกำหนดว่าเรื่องอื่นตามที่รัฐธรรมนูญบัญัญัติ แต่รัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดส่วนของการทำประชามติไว้ ส่วนกรณีของประชาชนที่มีสิทธิเสนอนั้น กำหนดว่า ให้ประชาชนเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 10,000 คน เสนอเรื่องต่อครม.​ ขณะที่การตรวจสอบรายชื่อหรือรายละเอียดนั้น กำหนดให้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้กำหนด อย่างไรก็ดีในประเด็นที่พิจารณาดังกล่าว ยังไม่พบว่ามีกมธ. คนใดติดใจสงวนความเห็น

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าการประชุมกมธ.ฯ ยังคงพิจารณาอย่างต่อเนื่อง และคาดว่าจะใช้เวลาถึงค่ำ เพราะต้องการเร่งรัดให้แล้วเสร็จภายในวันนี้ (1เมษายน)  ส่วนวันที่ 2 เมษายน จะทบทวนอีกครั้งก่อนเสนอให้นายชวน หลีกภัย ประธานสภาฯ ฐานะประธานรัฐสภา

แสดงความเห็น