“ประธานกมธ.ดีอี” เผย สั่งแก้ไขสถานีมือถือล่มในพื้นที่น้ำท่วม 1,391 จุด เรียบร้อยแล้ว มอบ “เศรษฐพงค์” ศึกษาการโจมตีไซเบอร์ เล็ง ตั้งอนุ กมธ. รับผิดชอบหามาตรการป้องกัน


นางสาวกัลยา รุ่งวิจิตรชัย ส.ส.สระบุรี พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการสื่อสาร โทรคมนาคมและดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกมธ.ดีอี กล่าวถึงการประชุม กมธ.ดีอี เมื่อวันที่ 18 ก.ย. ที่ผ่านมาว่า ที่ประชุมได้มีการติดตามและรับทราบผลการดำเนินงานเกี่ยวกับสถานการณ์ระบบสื่อสารโทรคมนาคม ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วมทางภาคอีสาน เนื่องจากทราบว่าได้เกิดความเสียหายของสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เนื่องจากผลกระทบจากพายุฝน ทำให้ระบบไฟฟ้าที่จ่ายเข้าสู่สถานีขัดข้อง โดยมีจำนวนถึง 1,391 สถานี ที่ได้รับความเสียหาย โดยกมธ.ดีอี ได้แจ้งไปยัง กสทช. และผู้ให้บริการโทรศัพท์ทุกราย ให้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบและแก้ไขปัญหา ซึ่งทั้งกสทช. และผู้ให้บริการรายงานผลต่อกมธ. ว่าได้ดำเนินการตรวจสอบ และซ่อมแซม ระบบที่ขัดข้องให้สามารถกลับมาใช้การได้ตามปกติเรียบร้อยหมดแล้ว 

ด้าน พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกมธ.ดีอี กล่าวว่า จากปัญหาดังกล่าว ตนได้เสนอให้กมธ. ผลักดันในการวางโครงข่ายระบบสื่อสารโทรคมนาคมเพื่อป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยโดยเฉพาะ เพื่อประสิทธิภาพในการสื่อสารส่งข้อมูลได้รวดเร็วถูกต้อง จะช่วยระวังป้องกันภัยพิบัติที่จะเกิดขึ้นได้ เนื่องจากตนเห็นว่าประเทศไทยเรายังไม่มีระบบโครงข่ายการสื่อสารฯดังกล่าวเป็นการเฉพาะ จึงได้เสนอให้กมธ. ได้ร่วมผลักดันเรื่องนี้ ซึ่งประธาน กมธ. ก็เห็นด้วยให้กมธ. ควรมีส่วนร่วมผลักดันให้เกิดระบบดังกล่าว เพราะประเทศไทยเราจะเจอภัยพิบัติรูปแบบต่างๆ โดยตลอด ซึ่งการวางระบบโครงข่ายนี้ จะช่วยให้ตอบสนองต่อการป้องกันและบรรเทาสาธารภัยได้ทันท่วงที

พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ประธานกมธ.ดีอี ยังได้มอบหมายให้ตนเดินหน้าต่อเนื่องในการศึกษาเกี่ยวกับการโจมตีระบบโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล โดยอาจจะมีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการขึ้นมารับผิดชอบดูแลโดยตรง เนื่องจากในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมามีการโจมตีดังกล่าวในหลายประเทศ มีการโจมตีระบบควบคุมการบินในสนามบิน โจมตีระบบการสื่อสารโทรคมนาคมของหลายประเทศ รวมถึงการโจมตีด้วยโดรนผ่านระบบไซเบอร์ ซึ่งมีข่าวว่ามีการใช้โดรนโจมตีบ่อน้ำมันในประเทศซาอุฯ และที่สำคัญมีข่าวว่าประเทศไทยตกเป็นหนึ่งเป้าหมายที่อาจถูกโจมตีเช่นกัน กมธ.ดีอี จึงได้แจ้งไปยัง กสทช.และผู้ให้บริการทุกราย ได้คอยติดตามตรวจสอบ ระวังป้องกันความเสี่ยงดังกล่าว ทั้งนี้ คณะอนุกรรมาธิการที่จะตั้งขึ้น จะทำหน้าที่ในการหามาตรการป้องกัน โดยเรื่องสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ กมธ.จะต้องติดตามและช่วยผลักดันให้มีการตั้งคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ หรือ กมช. โดยเร็ว ซึ่งมีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน 

“ผมต้องการชี้ให้เห็นว่ากรรมการชุดนี้มีความสำคัญอย่างมาก ดังนั้นจึงควรเร่งตั้ง กมช. และองค์กรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ จะล่าช้าไม่ได้ เนื่องจากไทยก็เป็นประเทศที่อาจถูกโจมตีด้วย ซึ่งกรรมการดังกล่าวมีภารกิจหน้าที่โดยตรงในการระวังป้องกันการโจมตีไซเบอร์ จะทำให้ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีความเข้มแข็งปลอดภัยจากการถูกโจมตี” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว

แสดงความเห็น