“พัชรวาท” ปลื้มไทยแชมป์อนุรักษ์เสือโคร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

วันเสือโคร่งโลก “พัชรวาท” ปลื้มไทยแชมป์อนุรักษ์เสือโคร่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เล็งผลักดันนโยบาย – ออกกฎหมายเข้มแข็ง สนับสนุนงบประมาณ ดันไทยสู่ผู้นำอนุรักษ์เสือโคร่งระดับภูมิภาค 

พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า เนื่องในวันที่ 29 กรกฎาคมของทุกปีถูกกำหนดให้เป็น “วันเสือโคร่งโลก” (Global Tiger Day) โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ทั้งโลกได้มีการปกป้องที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติของเสือโคร่ง สร้างความตระหนักของประชาชน และสนับสนุนการอนุรักษ์เสือโคร่ง และเป็นที่น่ายินดี ในการประชุมการเงินที่ยั่งยืนเพื่อการอนุรักษ์ภูมิทัศน์เสือโคร่ง (Sustainable Finance for Tiger Landscapes Conference: SFTLC) เมื่อวันที่ 22-23 เม.ย. 2567 ณ เมืองพาโร ราชอาณาจักรภูฏาน ประเทศไทยได้รับการยกย่องให้เป็น “Champion ด้านการอนุรักษ์เสือโคร่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จในการเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ และเพิ่มศักยภาพถิ่นที่อยู่อาศัยของเสือได้เป็นอย่างดี 

พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวอีกว่า ในปีนี้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้จัดงานวันเสือโคร่งโลก ประจำปี 2567 ภายใต้แนวคิดหลัก “Go Goal Tigers : ก้าวต่อไป…Tigers” ซึ่ง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ได้รายงานถึงความสำเร็จของไทยในการอนุรักษ์เสือโคร่ง โดยพบว่า ปี 2567 ประเทศไทยมีประชากรเสือโคร่งตัวเต็มวัยอยู่ประมาณ 179-223 ตัว และยังมีเป้าหมายเพิ่มประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติ เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภายในปี พ.ศ. 2577 ตามแผนยุทธศาสตร์ภายใต้แผนปฏิบัติการแห่งชาติเพื่ออนุรักษ์เสือโคร่ง ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565-2577)

ทั้งนี้การเป็นผู้นำในการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ภายในปี พ.ศ. 2577 ได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาหลายปัจจัย และได้รับการสนับสนุนงบประมาณและทรัพยากรจากภาครัฐอย่างเพียงพอ ซึ่งตนพร้อมสนับสนุนอย่างเต็มที่ เพื่อให้ไทยได้บรรลุเป้าหมาย นอกจากงบประมาณแล้วอาจจะต้องไปพิจารณาในแง่ของนโยบายและกฎหมายที่เกี่ยวข้องว่ามีนโยบายหรือกฎหมายที่เข้มแข็งในการส่งเสริมให้เกิดการอนุรักษ์เสือโคร่งและพื้นที่ป่าแล้วหรือไม่  รวมทั้งต้องทำงานร่วมกับชุมชน การสร้างความเข้าใจและความร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ป่า เพื่อป้องกันการขัดแย้งระหว่างมนุษย์และเสือโคร่ง ส่งเสริมการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับเสือโคร่งและระบบนิเวศที่เกี่ยวข้อง การทำงานร่วมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเพื่อการอนุรักษ์เสือโคร่งในระดับภูมิภาค หากประเทศไทยดำเนินการได้สำเร็จ เชื่อว่าจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ เช่น การส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ การสร้างงานในชุมชนท้องถิ่น และการสร้างความเชื่อมั่นในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม 

“ขอขอบคุณทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ทำให้การอนุรักษ์เสือโคร่งของไทยได้รับการยกย่อง ขอให้ดำเนินการต่อไปอย่างเข้มแข็ง เพื่อให้บรรลุความประสงค์ที่วางไว้ในปี 2577 และผมพร้อมสนับสนุนในทุกด้านเพื่อให้การดำเนินงานสำเร็จลุล่วง”

แสดงความเห็น