“สมศักดิ์” ถกบอร์ด สปสช. สั่งตั้ง คณะที่ปรึกษา ติดตามงบฯ ปลื้ม ปชช. พอใจบัตรใบเดียวรักษาทุกที่ 

“สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะ ถกบอร์ด สปสช. สั่งตั้ง คณะที่ปรึกษา ติดตามงาน-งบประมาณ หวังทำงานแบบไม่ติดขัด พร้อมอนุมัติขยายสิทธิประโยชน์บัตรทอง ตรวจคัดกรองซิฟิลิส ปลื้ม ประชาชน พอใจโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 98.7%

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยมี นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. คณะกรรมการ สปสช. เข้าร่วมประชุม ที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุม สปสช.ในวันนี้ ตนขอตั้งคณะที่ปรึกษา โดยให้นายกิตติกร โล่ห์สุนทร เป็นประธาน เพราะตนมารับตำแหน่งใหม่ จึงมีความเป็นห่วงเรื่องตัวเลขงบประมาณ ซึ่งตนเกรงว่า ตัวเลขงบประมาณจะมีปัญหา ถ้าเราไม่สามารถทำให้เกิดความพอดีขึ้นได้ จึงตั้งคณะที่ปรึกษาชุดนี้ มาติดตามการดำเนินการ รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณ โดยเหมือนเป็นที่ปรึกษาของตน ในฐานะประธาน สปสช. เพราะต้องยอมรับว่า หากรู้น้อยจะทำให้งานส่วนใหญ่เสียหาย จึงตั้งมาให้ช่วยดูอย่างใกล้ชิด ในช่วงระยะเวลาสั้นๆเพียงเท่านั้น โดยจะได้ขับเคลื่อนงานแบบไม่ติดขัด 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม สปสช. ยังได้เห็นชอบการขยายสิทธิประโยชน์ การตรวจคัดกรองและวินิจฉัยโรคซิฟิลิส ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง 30 บาท โดยให้ครอบคลุมเยาวชน วัยรุ่น และประชาชน ที่มีพฤติกรรมเสี่ยง ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง เพราะสถานการณ์โรคซิฟิลิสในประเทศไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกกลุ่มอายุ ซึ่งปี 2565 พบผู้ป่วย 18.6 ต่อประชากรแสนคน ที่ประชุม สปสช.จึงให้ความสำคัญอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกัน ที่ประชุม ยังได้เห็นชอบความร่วมมือระหว่าง สปสช. และ สภากาชาดไทย โดยสนับสนุนการจัดหายาและผลิตภัณฑ์พลาสมาโดยตรงจากสภากาชาดไทย เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางยา และประโยชน์ในการรักษา พร้อมเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย รวมทั้งประหยัดงบประมาณในการจัดหายา เพราะจากข้อมูลปีงบประมาณ 2567 หากจัดซื้อโดยตรงจากสภากาชาดไทย จะสามารถลดค่าภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ประมาณ 20 ล้านบาท

“ที่ประชุม สปสช.ยังได้รับทราบการประเมินผลโครงการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จากคณะทำงานกำกับและติดตามว่า ภายหลังการดำเนินการของนโยบาย ระยะที่ 1 พบว่า ประชาชนรับรู้นโยบายร้อยละ 75-82 และมีความพึงพอใจในภาพรวม ร้อยละ 98.7 นอกจากนี้ ยังพบการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน ซ้ำซ้อนกับบริการดูแลระยะยาว (Long Term Care) รวมถึงการขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ ไม่เป็นปัจจุบัน จึงมอบให้ สปสช.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายชดเชยค่าบริการดูแลสุขภาพผู้ป่วยที่บ้าน เพื่อลดการจ่ายซ้ำซ้อนและบูรณาการการดูแลผู้ป่วยแบบองค์รวม ทั้งนี้ ยังให้ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อปรับปรุงนโยบาย และแก้ปัญหาในภาพรวมด้วย” รมว.สาธารณสุข กล่าว 

แสดงความเห็น