‘พท.’ เปิดสงครามเย็น ใช้สังคมกดดัน ‘แบงก์ชาติ’

เปิดฉากทำ ‘สงครามเย็น’ ใส่กันตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างรัฐบาลภายใต้การนำของ ‘เศรษฐา ทวีสิน’ นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กับ ‘เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ’ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ แบงก์ชาติ

ฝ่ายเปิดก่อน คือ รัฐบาล นำโดย ‘เศรษฐา’ และกุนซือส่วนตัว ‘เสี่ยโต้ง’ กิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีต รมว.คลัง

ทั้งสองโพสต์เฟซบุ๊ก พูดถึงปัญหาภาวะเงินเฟ้อ และไม่เห็นด้วยกับการขึ้นดอกเบี้ยในสถานการณ์แบบนี้ 

ในราย ‘เสี่ยโต้ง’ ชัดกว่าตรงจี้ไปที่ผู้รับผิดชอบคือ ผู้กำกับดูแลกิจการนี้คือ ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’

ยุทธวิธีของรัฐบาลครั้งนี้ถือว่า แยบยล คือ ไม่ซัด ไม่กดดันไปตรงๆ ที่ตัว ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ แต่ร่ายยาวปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนกับสภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน แต่ในขณะเดียวกัน พยายามชี้ไปอ้อมๆ ว่า หน่วยงานใดมีอำนาจและหน้าที่ที่สามารถแก้ไขได้ แต่ไม่ทำ

ขณะที่องคาพยพของพรรคเพื่อไทย ระดับประธานคณะกรรมาธิการในสภาผู้แทนราษฎร รับลูกกันเป็นทอดๆ เรียกผู้แทนแบงก์ชาติเข้ามาชี้แจง หัวข้อเศรษฐกิจ แต่เจตนาจริงๆ ต้องการรุมขยี้ในเรื่องประเด็นดอกเบี้ย ที่รัฐบาลต้องการให้ลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยเหลือประชาชน

ส่วนบรรดาแฟนคลับเมื่อรับสารบ่อยๆ เริ่มอิน ชักมอง ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ เป็น ‘ผู้ร้าย’ ที่มีอำนาจในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แต่ไม่ยอมลดดอกเบี้ย

ตามจังหวะที่เริ่มมีการปั่นกระแส ‘ปลดผู้ว่าแบงก์ชาติ’ ออกมาถี่ยิบ

ส่วนหนึ่งที่ต้องใช้มาตรการทางสังคมกดดัน นั่นเพราะรัฐบาล หรือตัวนายกรัฐมนตรีเอง ไม่สามารถที่จะไปปลดผู้ว่าแบงก์ชาติโดยสุ่มสี่สุ่มห้าได้

พระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย เขียนไว้ชัดว่า สามารถปลดได้ในเงื่อนไขอะไรบ้าง

มี 5 ข้อใหญ่ๆ ดังนี้ ข้อแรกคือ ตาย ข้อสองคือ ลาออก

ข้อสาม  ขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 28/17 ของพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย

ข้อสี่ คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรี เพราะมีความประพฤติเสื่อมเสียอย่างร้ายแรงหรือทุจริตต่อหน้าที่ 

และข้อ 5 คณะรัฐมนตรีมีมติให้ออกโดยคำแนะนำของรัฐมนตรีหรือการเสนอของรัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการ ธปท. เพราะบกพร่องในหน้าที่อย่างร้ายแรง หรือหย่อนความสามารถโดยมติดังกล่าวต้องแสดงเหตุผลในการให้ออกอย่างชัดแจ้ง 

ซึ่งหากไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า ‘ผู้ว่าแบงก์ชาติ’ เข้าข่ายในข้อใดข้อหนึ่งอย่างชัดแจ้ง โดยไม่ใช่แค่ข้อกล่าวหา การจะไป ‘ปลด’ ออกอย่างยิ่งกว่าปรับ ครม.เสียอีก

ยิ่งหากไม่มีความผิด แล้วเข้าไปกลั่นแกล้ง คนปลดจะซวยเอง!

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่พรรคเพื่อไทยจะใช้ยุทธวิธีทางสังคม ด้วยการให้สังคมโห่ร้องถึงความเดือดร้อน เป็นแรงบีบไปยังตัวผู้ว่าฯแบงก์ชาติ

การทำให้สังคมรับรู้ว่า ใครมีหน้าที่ และใครสามารถแก้ไขได้ เรียกว่า เป็นการยืมมือสังคมกดดันแทนตัวเองที่ไม่สามารถทำอะไรได้ถนัดถนี่นัก

แต่จะได้ผลหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องติดตาม โดย กนง.จะมีการประชุมกันเพื่อพิจารณาเรื่องอัตราดอกเบี้ยในวันที่ 7 กุมภาพันธ์นี้

สิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องการคือ อยากให้ลดดอกเบี้ย หรืออย่างน้อยไม่ได้เลย คือ ไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปกว่านี้

ในขณะที่ กนง.คำนึงถึงเสถียรภาพการเงินในประเทศเป็นหลัก เรียกว่า หน้าที่ต่างกัน

เป็นเรื่องที่ต้องรอชม

แสดงความเห็น