“สมศักดิ์”แจงสภา ยันรบ.เร่งช่วยเหลือน้ำท่วม จังหวัดชายแดนใต้ วางมาตรการบูรณาการทุกส่วน 

“สมศักดิ์”แจงสภา ยันรบ.เร่งช่วยเหลือน้ำท่วมจชต. วางมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว บูรณาการทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง เตรียมประสานเอกชนช่วยหลังคนบ่นได้เงินเยียวยาน้อย พร้อมให้สนทช.-ศอ.บต.ประสานพื้นที่วิเคราะห์ทำแผนระยะยาว

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณากระทู้ถามสด มี นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ เป็นประธานการประชุม โดยนายกมลศักดิ์  ลีวาเมาะ ส.ส.นราธิวาส พรรคประชาชาติ ตั้งกระทู้ถามนายกรัฐมนตรีว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดชายแดนใต้ มีความเสียหายเกิดขึ้นอย่างมากมาย ทั้งต่อชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ ทรัพย์สินต่างๆ ทั้งบ้านเรียน โรงเรียน สวนไร่น่า และปศุสัตว์  จึงอยากถามว่ารัฐบาลมีมาตรการเยียวยาอย่างไรบ้าง  และการจ่ายเงินเยียวยาให้กับประชาชน ถือว่าเป็นจำนวนที่น้อย จะเป็นไปได้หรือไม่ หากรับบาลจะเปิดรับบริจาคจากเอกชน เพราะเชื่อว่าจะมีผู้คนเข้ามาช่วยเหลือจำนวนมาก และโรงเรียนที่ได้รับความเสียหายมากกว่า 100 แห่ง ขณะนี้ผู้บริหารและครูบางแห่งจ่ายซ่อมแซมเอง โดยเฉพาะเรื่องดินโคลนที่ไหลเข้าไป ต้องไปจ้างรถมาตักดินออก และสุดท้ายปัญหาการอพยพชาวบ้านที่ในวันเกิดเหตุไม่มีเรือเพียงพอ ชาวบ้านออกจากพื้นที่ไม่ได้ในทันที ต้องรอถึงเย็น และในระยะยาวหรือหากปีต่อไปเกิดเหตุขึ้นอีก รัฐบาลมีวิธีการบริหารจัดการอย่างไร

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้เป็นผู้ตอบกระทู้ กล่าวว่า ในเรื่องของสถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดชายแดนใต้ นายกรัฐมนตรีได้เป็นห่วงมาก และได้สั่งให้ ศอ.บต. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กระทรวงศึกษาธิการ ดำเนินการช่วยเหลือประชาชนอย่างเร่งด่วน โดยมีทั้งแผนระยะเร่งด่วน คือ การช่วยเหลือเยียวยาในทันที โดยนายกฯได้ลงพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 26 ธ.ค.2566 และได้มีการแจกถุงยังชีพ 53,810 ชุด เพื่อช่วยเหลือในเบื้องต้น และได้มีการจ่ายเงินเยียวยา กรณีเสียชีวิต จะได้รับค่าจัดการศพ รายละ 5 หมื่นบาท พร้อมเงินทุนเลี้ยงชีพแก่ครอบครัวผู้เสียชีวิตอีก 3 หมื่นบาท รวมเป็น 8 หมื่นบาท กรณีบ้านเรือนเสียหาย จะได้รับเงินเยียวยา แบ่งเป็น เสียหายน้อยกว่า 30%  ไม่เกินหลังละ 1.5 หมื่นบาท เสียหาย 30-70% ไม่เกินหลังละ 7 หมื่นบาท และเสียหายทั้งหลัง (เสียหายเกิน 70% ไม่เกินหลังละ 2.2 -2.3 แสนบาท ซึ่งตรงนี้อาจจะมองว่าไม่มาก แต่เราก็จะพยายามหาทางอื่นๆช่วยเหลือ เช่น การประสานกับภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือต่อไป

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า แผนระยะกลาง เช่น การซ่อมแซม อาคารบ้านเรือน  จะมีกรมราชทัณฑ์และอาชีวะ เข้าไปช่วยเหลืองานซ่อมแซมบ้านเรือนและอาคารให้กับประชาชนที่ได้รับความเสียหายรวมถึงโรงเรียนต่างๆด้วย ส่วนกระทรวงกลาโหมจะส่งทหารช่างเข้าไปบูรณะถนนและสะพานเพื่อให้ชาวบ้านสามารถใช้สัญจรได้ ส่วนโรงเรียนใดที่มีดินโคลนปิดทับทางเข้าออกหรือในโรงเรียน สามารถประสานกับ ศอ.บต.ได้เลย สามารถที่จัดหารถตักเข้าไปดำเนินการให้ได้ฟรี  และแผนระยะยาว คือ การถอดบทเรียนและวางแผนกันต่อไปถึงการรับมือในวันข้างหน้า โดยขณะนี้ทาง สทนช. ได้ร่วมกับ ศอ.บต.และหน่วยงานในพื้นที่ได้วิเคราะห์และวางแผนระยะยาวว่าจะทำอย่างไร คาดว่า 1-2 วันนี้จะได้ข้อสรุปการสำรวจอย่างละเอียดและนำมาดำเนินการต่อไปได้ นอกจากนี้ทาง ศอ.บต. จะดูในส่วนของเรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ความรู้กับคนในพื้นที่ ถึงการเตือนภัยพิบัติและการอพยพ เพื่อลดความเสียหายต่อชีวิตที่จะเกิดขึ้น และประสานกับประชาชนและหน่วยงานในพื้นที่เพื่อวางแผนระยะยาวร่วมกัน

แสดงความเห็น