“สมศักดิ์” ร้องเรียนจนท. ป.ป.ช. ถามชี้นำ ปมขอพระราชทานอภัยโทษ  ชี้ เป็นคำถามตั้งธง 

“สมศักดิ์” ร้องเรียนเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ถามชี้นำ ปมขอพระราชทานอภัยโทษ หลังยัดคำถามราชทัณฑ์ รมต.เป็นการสั่งการหรือไม่ ชี้ เป็นคำถามตั้งธง อันตรายต่อกระบวนการยุติธรรม สวนทางที่พยายามสร้างความเป็นธรรม-เท่าเทียม ขับเคลื่อนกฎหมายแล้ว 22 ฉบับ “พ.ร.บ.อุ้มหาย-พ.ร.บ.คุ้มครองพยาน” ขอ ป.ป.ช.ตั้งกรรมการสอบ 157 

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เปิดเผยว่า วันนี้ ตนได้เดินทางเข้าชี้แจงกับ ป.ป.ช. หลังยื่นเรื่องเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2565 จากกรณีร้องเรียนพนักงานสอบสวนระดับกลาง ของ ป.ป.ช. และคณะพนักงานไต่สวน ร่วมกันใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ ในระหว่างการสอบสวนกรณีการขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งเรื่องนี้ มีการร้องเรียนการขอพระราชทานอภัยโทษ ในขณะตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม แต่ในระหว่างการสอบสวน เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.ได้มีการถามชี้นำเจ้าหน้าที่ระดับสูงของกรมราชทัณฑ์ ว่า การดำเนินการตนเป็นคนสั่งการให้ทำ ในการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การตั้งคำถามชี้นำ จะไม่มีใครทำลักษณะนี้ในกระบวนการยุติธรรม ที่เสมือนเป็นการตั้งธง เพื่อให้คนที่ตัวเองต้องการได้รับโทษ จึงทำให้เป็นเป้าหลักในการสอบสวน ทั้งที่ควรดูทั้งระบบ โดยตนมองว่า สิ่งที่เกิดขึ้น อันตรายกับกระบวนการยุติธรรม เป็นอย่างมาก ซึ่งสวนทางกับที่ตน พยายามขับเคลื่อนกระทรวงยุติธรรม เพื่อทำให้กระบวนการยุติธรรม มีความเท่าเทียม เสมอภาค ไม่เกิดการกลั่นแกล้ง จึงได้ขับเคลื่อนแก้กฎหมายไปแล้วกว่า 22 ฉบับ เช่น พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา เพื่อให้เกิดความเท่าเทียม แต่ตนกลับเจอ กรรมการ ป.ป.ช.บางท่าน เป็นเสียเอง ซึ่งอาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือขององค์กรตรวจสอบระดับชาติ หรือไม่ ตนจึงขอร้องเรียนเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้กระบวนการยุติธรรม เกิดความเสียหาย 

“การเข้าร้องเรียนวันนี้ ผมต้องการให้สังคมรับรู้ และแสวงหาความเป็นธรรม ให้กับผู้ถูกกล่าวหา โดยปัจจุบัน การยื่นร้องเรียนต่างๆนั้น ง่ายเกินไป ผมจึงพยายามผลักดันกฎหมายให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐจากความรับผิดทางแพ่ง ทางอาญา หรือ ทางวินัย สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานบางประเภท ที่ไม่มีเจตนาทุจริต(Law of Efficiency) ซึ่งขณะนี้ ได้เสนอหลักการกฎหมาย จนคณะรัฐมนตรี ผ่านความเห็นชอบแล้ว เพื่อทำให้การร้องเรียนยากขึ้น และช่วยให้เจ้าหน้าที่ ไม่ต้องรับผิดในกรณีทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้กับสังคม แต่อาจผิดพ.ร.บ.ระเบียบขั้นตอน โดยจะเห็นได้ว่า ผมพยายามทำให้กระบวนการยุติธรรม ยกระดับไปในทางที่ดีขึ้น จนมีผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองชมว่าเป็นกระทรวงเกรดเอ แต่การที่เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช.บางท่าน ถามชี้นำ ผมจึงต้องการให้มีการตั้งกรรมการสอบสวนในความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 เพื่อให้ทุกคนยังมีความเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม” รมว.ยุติธรรม กล่าว 

แสดงความเห็น