3 ทางแยกการเมือง “บิ๊กตู่” วางมือ-พปชร.-แยกวงป้อม 

กลายเป็นว่า ความขุ่นข้องหมองใจที่ “สันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ” อาจจะมีต่อ “บิ๊กตู่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี คงหายไปพอสมควร 

หลัง พลเอกประยุทธ์ออกปาก กลางที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อ 19 ต.ค.ที่ผ่านมา โดยถึงกับ “ขอโทษ” นายสันติกลางที่ประชุมครม. กรณีเมื่อสัปดาห์ก่อนระบุว่าเงินเยียวยาเกษตรกรยาสูบ จังหวัดเพชรบูรณ์ หายไปว่า  “เรื่อง 50 ล้าน ผมเข้าใจผิดไป ขอโทษท่านสันติ ผมไม่ได้หมายความว่าเงินหายไปไหน แต่หมายถึงมันไปตกหล่นอยู่ตรงไหน ของปี 2562, 2563 จ่ายแล้ว ส่วนของปี 2564 อยู่ระหว่างนำเสนออยู่”

อาจเพราะเหตุนี้ เลยทำให้ “สันติ-บิ๊กพลังประชารัฐ” ตัวจริง คงรู้สึกดีกับพลเอกประยุทธ์ขึ้นมา เลยทำให้ หลังประชุมครม.เสร็จสิ้น เลยออกมาสนับสนุน ยกย่อง พลเอกประยุทธ์เสียยกใหญ่ 

“พลังประชารัฐยังคงสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ เสมอมาคนระดับนายกฯไปที่ไหนก็เป็นผลดีกับที่นั่นอยู่แล้ว โดยเฉพาะนายกฯที่ทำงานเพื่อประชาชนด้วยความซื่อสัตย์ ไปอยู่ที่ไหนประชาชนให้การสนับสนุน”

แบบนี้เลยทำให้สัมพันธภาพระหว่าง พลเอกประยุทธ์กับสันติ ที่เป็นทั้งรัฐมนตรี-เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ-นายทุนพรรค ที่สัปดาห์ที่แล้วดูง่อนแง่น ตอนนี้ดีขึ้นมาทันที 

เรียกได้ว่า ปัญหาระหว่าง พลเอกประยุทธ์กับพลังประชารัฐ คลี่คลายไปหนึ่งเปราะ ตอนนี้ก็เหลืออีกบางส่วน ที่ต้องปรับจูน ที่ต้องดูว่า พลเอกประยุทธ์จะทำตามที่คนในพลังประชารัฐต้องการหรือไม่ เช่น “การปรับครม.”โดยการเอาคนของพลังประชารัฐ ตั้งไปเป็นรัฐมนตรีที่ว่างอยู่สองตำแหน่ง ไม่ใช่แค่เสนอชื่อ นริศ ขำนุรักษ์ เป็นรมช.มหาดไทยคนเดียว ที่ก็ยังมีเวลาอยู่ หากพลเอกประยุทธ์จะตัดสินใจเช่นนั้น ตราบใดที่ยังไม่มีการนำชื่อขึ้นทูลเกล้าฯ แต่เรื่องนี้ก็อยู่ที่ ลุงป้อม พลเอกประวิตร เองด้วยว่า จะสะกิดพลเอกประยุทธ์ให้ทำหรือไม่ 

อย่างไรก็ตามร่องรอย ระยะห่างทางการเมืองระหว่าง พลเอกประยุทธ์กับพลังประชารัฐ จนถึงขณะนี้ ก็ยังมีให้เห็นอยู่ค่อนข้างเยอะ

เพราะจะพบว่า ตั้งแต่พลเอกประยุทธ์รอดจากคดีแปดปี มาตั้งแต่ 30 กันยายน จนถึงขณะนี้ พลเอกประยุทธ์ ก็ยังไม่พูดชัดๆว่าจะตัดสินใจทางการเมืองอย่างไร หลังมีการจับตามองทางการเมืองหลายอย่างถึง “เส้นทางการเมืองของบิ๊กตู่ จะเดินต่อไปอย่างไร 

ซึ่งจนถึงขณะนี้ เส้นทางการเมืองของบิ๊กตู่ น่าจะมี 3 เส้นทาง กลางสามแยกการเมืองที่ รอให้ พลเอกประยุทธ์ตัดสินใจว่าจะเอาแบบไหน 

เส้นทางแรก คือ  มีโอกาสไม่น้อยที่พลเอกประยุทธ์อาจจะ “ขอหยุดพัก-เว้นวรรคทางการเมืองในการเลือกตั้งรอบหน้า” โดยจะไม่ลงสมัครเป็นแคนดิเดตนายกฯพลังประชารัฐ เพื่อเปิดทางให้พลเอกประวิตร เป็นแคนดิเดตนายกฯ เบอร์หนึ่งของพลังประชารัฐไปเลย เพื่อให้ พี่ป้อม ลุ้นเก้าอี้นายกฯหลังเลือกตั้ง แต่ก็พร้อมจะมาช่วยงานรัฐบาลในตำแหน่งที่เล็กลง เช่น รองนายกฯควบ รมว.กลาโหมหรือรองนายกฯควบรมว.มหาดไทย แล้วหลังจากนั้น ก็อาจจะกลับมาเป็นแคนเดตนายกฯในรอบต่อๆไป ก็ยังได้

เพราะอย่าลืมว่า เทอมนายกฯของพลเอกประยุทธ์ที่เหลือสองปี ไม่จำเป็นต้องใช้หมดทีเดียว คือไม่จำเป็นต้องเป็นแคนดิเดตนายกฯรอบหน้าก็ได้เพื่อจะกลับมาเป็นนายกฯอีกสองปีจนถึงปี 2568 เพราะสามารถ “ทดเวลา” ไว้ก่อน จะกลับมาตอนไหนก็ได้ ขอเพียงมีเสียงสนับสนุนพอ และสุขภาพร่างกายยังพอไหว หรือไม่อย่างนั้น ก็อาจจะถึงขั้น “วางมือทางการเมือง” ไปเลย ที่อาจออกมาในรูปของ คือพลเอกประยุทธ์ อาจจะขออยู่ครบเทอมสี่ปี ไม่ยุบสภาฯ อย่างที่หลายฝ่ายคาดการณ์ แล้วจากนั้น ก็ประกาศวางมือทางการเมือง โดยประกาศ “ผมพอแล้ว” ตามรอย ป๋าเปรม พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ 

อย่างไรก็ตาม พลังประชารัฐและพรรคร่วมรัฐบาล คงต้องการให้บิ๊กตู่ยุบสภาฯ ตอนสภาฯใกล้ๆ ครบเทอมมากกว่า เช่น ช้าสุดยุบช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 เพื่อจะได้ใช้เกณฑ์การสังกัดพรรคการเมืองลงเลือกตั้งเหลือแค่ 30 นับถึงวันเลือกตั้งไม่ใช่ 90   วัน หากสภาฯครบเทอม ซึ่งพลเอกประยุทธ์ก็น่าจะตัดสินใจยุบสภาฯ มากกว่า ที่จะอยู่ครบเทอม 

เส้นทางที่สอง คือ ลงเป็นแคนดิเดตนายกฯในสังกัดพรรคพลังประชารัฐ แบบตอนเลือกตั้งปี 2562 

ส่วนที่มีการมองกันว่า พลเอกประยุทธ์ อาจไม่ต้องการให้ พลังประชารัฐเสนอชื่อคนอื่นร่วมเป็นแคนดิเดตนายกฯด้วย ต้องเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์คนเดียวนั้น 

เรื่องดังกล่าว เชื่อว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะพลเอกประยุทธ์คงไม่ “ใจแคบ-คิดตื้นๆ” ถึงเพียงนั้น เพราะรู้ดีว่า การที่ตัวเอง เหลือเทอมการเป็นนายกฯแค่สองปี มันจึงเป็นไปได้ที่พลังประชารัฐ จะไม่เสนอสามชื่อหรือสองชื่อ เพราะเป็นแท็กติกการเมืองอยู่แล้วที่พลังประชารัฐ ก็ต้องมองการเมืองยาวๆ เพราะหากหลังเลือกตั้ง แม้พลังประชารัฐอาจไม่ได้ส.ส.เป็นอันดับสอง โดยภูมิใจไทย ขึ้นมาเป็นอันดับสองแทน แต่พลังประชารัฐ มีการเดินเกมในสภาฯ เช่น คุมเสียงส.ว. 250 เสียงได้อย่างน้อย 200 เสียง

ก็ทำให้ ภูมิใจไทย อาจต้องยอมให้ แคนดิเดตนายกฯจากพลังประชารัฐได้เป็นนายกฯ จนพลเอกประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกฯได้ต่อรอบสอง และพอหากครบสองปี ถ้าพลังประชารัฐ ยังคุมเกมไว้ได้อยู่ โดยถึงตอนนั้น แม้ส.ว.จะไม่สามารถโหวตเลือกนายกฯได้แล้ว เพราะเลยห้าปีตามบทเฉพาะกาลไปแล้ว แต่ถ้าพลังประชารัฐคุมเกมได้ ยังขอให้ ภูมิใจไทย หลีกทางให้ มันก็มีโอกาสที่แคนดิเดตนายกฯเบอร์สองเช่น พลเอกประวิตร ยังอาจได้ลุ้นนายกฯในบั้นปลายชีวิต หากสุขภาพยังไหวอยู่ 

ผนวกกับ พลเอกประยุทธ์ก็ต้องรู้ตัวดีว่า กระแสนิยมของตัวเองตอนนี้ กับตอนปี 2562 ต่างกันมาก ตอนนี้ตกลงไปเยอะ ทำให้อำนาจการต่อรองกับพลังประชารัฐ ตอนนี้ลดลงไปมาก 

เพราะพลังประชารัฐ ต้องมีตัวพลิกเกมทั้งในและนอกสภาฯ ไว้รองรับสถานการณ์วันข้างหน้า หากเข็นพลเอกประยุทธ์กลับมาเป็นนายกฯรอบสามหลังเลือกตั้งไม่ได้ ก็อาจดัน พลเอกประวิตร ขึ้นเป็นนายกฯไปเลยก็ได้ ไม่ต้องรออีกสองปี ซึ่งพลเอกประยุทธ์ น่าจะเปิดใจกว้าง และสู้ไปกับพลังประชารัฐและพลเอกประวิตร ที่จะทำให้ ทั้งสามฝ่ายคือพลเอกประยุทธ์-พลเอกประวิตร-พลังประชารัฐ กลับมาเข้มแข็งอีกครั้ง 

ทางเลือกที่สาม ก็คือ พลเอกประยุทธ์ออกจากพลังประชารัฐ ไปอยู่พรรคอื่น 

ที่ก็คงไม่พ้น รวมไทยสร้างชาติ เพราะตอนนี้ การจะไปตั้งพรรคใหม่หรือพรรคอะไหล่ต่างๆ ไม่ทันแล้ว อีกทั้งสายสัมพันธ์ทั้งแบบเปิดเผยและปิดลับ ของพลเอกประยุทธ์กับคนในรวมไทยสร้างชาติ ก็เป็นเรื่องที่มีอยู่จริง 

โดยกรณี การแยกออกไปจากพลังประชารัฐของพลเอกประยุทธ์ หากเกิดเหตุแบบนี้จริง ก็น่าจะเกิดจากสาเหตุบางอย่าง เช่น พลเอกประยุทธ์ อยากคอนโทรลการเมืองเอง ไม่อยากอยู่กับพลังประชารัฐ ที่จะต้องอยู่ใต้อาณัติการเมืองของนักการเมืองในพลังประชารัฐ ซึ่งเป็นสิ่งที่พลเอกประยุทธ์ไม่ชอบอยู่แล้ว ยิ่งการที่ ส.ส.ในพรรค ออกมากระทุ้งพลเอกประยุทธ์หลายรอบให้เลิกลอยตัว บ้างก็ให้รีบสมัครเป็นสมาชิกพรรคพลังประชารัฐเร็วๆ การที่ นักการเมือง พยายามจะเข้ามากำหนดควบคุมตัวพลเอกประยุทธ์ ขัดกับบุคลิกของพลเอกประยุทธ์ที่ไม่ชอบนักการเมือง ไม่ชอบเดินอยู่ใต้การขีดเส้นของใคร ย่อมทำให้พลเอกประยุทธ์อึดอัดใจแน่นอน 

ผนวกกับ พลเอกประยุทธ์อาจมองว่า พลังประชารัฐ อาจเข็นต่อไปไม่ไหว การออกไปอยู่กับพรรคใหม่อย่างรวมไทยสร้างชาติ ที่เริ่มก่อสร้างพรรค  ย่อมดีกว่า การอยู่พลังประชารัฐ ต่อในสภาพที่รอวันผุพัง 

อย่างไรก็ตาม หากพลเอกประยุทธ์ตัดสินใจเลือกทางเดินนี้ก็มีความเสี่ยง เช่น รวมไทยสร้างชาติ อาจได้ส.ส.ไม่ถึง 25 คน ก็ได้ จนทำให้หมดสิทธิ์ที่จะเสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือแม้แต่ หากได้มาเกิน 25 เสียง แต่ถ้าพลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ประชาธิปัตย์ มีเสียงส.ส.หลังเลือกตั้ง เยอะกว่า รวมไทยสร้างชาติ ทั้งสามพรรค เรื่องอะไรที่จะไปยอมเปิดทางให้ พลเอกประยุทธ์จากรวมไทยสร้างชาติ ที่มีเสียงส.ส.น้อยกว่าตัวเองมาลุ้นเป็นแคนดิเดตนายกฯ ดังนั้น หากพลเอกประยุทธ์เลือกเส้นทางที่สาม ถือว่ามีความเสี่ยงทางการเมืองสูงมาก

อย่างไรก็ตาม คาดว่า พลเอกประยุทธ์ ตอนนี้คงยังไม่คิดตัดสินใจอะไร เพราะมองว่ายังเหลือเวลาอยู่ ไม่ต้องรีบ และคงรอให้ผ่านพ้นการจัดประชุมเอเปคในเดือนพ.ย.ไปก่อน ถึงค่อยตัดสินใจเส้นทางการเมืองของตัวเองว่าจะเดินไปในทางไหน 

แสดงความเห็น