พปชร.เปิดไพ่ดัน “ป้อม”นายกฯ “บิ๊กตู่” ลุยต่อหรือวางมือ?

โจทย์ใหญ่ข้อใหม่ทางการเมืองของ “พรรคพลังประชารัฐ” ต่อจากนี้ ก็คือเมื่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้การนับเวลาการเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องนับจากรัฐธรรมนูญประกาศหลัง 6  เมษายน 2560 ทำให้ หากมีการเลือกตั้งปีหน้า ไม่ว่าจะเป็นกรณีสภาฯอยู่ครบเทอมที่จะเลือกตั้ง 7 พ.ค. 2566 หรือยุบสภาฯ ที่อาจเกิดขึ้นได้สูงและน่าจะมีการเลือกตั้งช่วงมีนาคม-เมษายน 2566  พลเอกประยุทธ์ จะเหลือเทอมการเป็นนายกฯ อีกแค่สองปีเท่านั้น และจริงๆ ก็ไม่ถึงด้วย เพราะในช่วงการเป็นรัฐบาลรักษาการตอนเลือกตั้งและตอนตั้งรัฐบาลใหม่ ที่กินเวลาเกือบสามเดือน ก็ต้องนับรวมด้วย 

จึงเท่ากับ พลเอกประยุทธ์จะเหลือเวลาการเป็นนายกฯ ประมาณ 1 ปี 9  เดือนเท่านั้น

จุดนี้แหละที่คือโจทย์การเมืองของพลังประชารัฐ ว่าจะเอาอย่างไรต่อไป?

เพราะลำพังแค่กระแสพลังประชารัฐ และพลเอกประยุทธ์ตอนนี้ ก็ไม่เปรี้ยงเหมือนตอนปี 2562 และสภาพภายในพรรคพลังประชารัฐ ก็ไม่แข็งแกร่งเหมือนเคย แค่นี้ก็ทำเอาแกนนำพลังประชารัฐ เครียดหนักอยู่แล้ว 

อย่างภาคเหนือตอนบน หลัง “ธรรมนัส พรหมเผ่า” แยกตัวออกไปตั้งพรรคเศรษฐกิจไทย ทำให้แนวโน้มพลังประชารัฐ จะไม่ได้ที่นั่งส.ส.และคะแนนในภาคเหนือตอนบน เหมือนตอนธรรมนัสยังอยู่ เว้นเสียแต่ ธรรมนัส จะคัมแบ็คกลับพลังประชารัฐหรืออย่างที่ “กรุงเทพมหานคร” ตอนนี้ ก็ลำบาก เพราะกระแสในกทม. ของพลังประชารัฐและพลเอกประยุทธ์อยู่ในช่วงขาลง เมื่อเทียบกับปี 2562  อีกทั้งยังมาเจอคู่แข่งขันพรรคใหม่ๆ มาเจาะกทม.อีก เช่น ไทยสร้างไทย-สร้างอนาคตไทย-รวมไทยสร้างชาติ จนมีข่าวว่า อาจจะมีส.ส.กทม. พลังประชารัฐ ย้ายพรรคอย่างน้อย 4-5 คน ถ้ากระแสพลังประชารัฐในกทม.ยังไม่กระเตื้อง เพราะไม่อยากสอบตก ทำให้สภาพภายในพลังประชารัฐ เครื่องรวนพอควร 

ขณะที่ คู่แข่งขันพรรคอื่น ทั้งพรรคร่วมรัฐบาลด้วยกันเองอย่างภูมิใจไทย ก็แข็งแรงขึ้นทุกวัน ส่วนฝ่ายตรงข้าม “เพื่อไทย-ทักษิณ ชินวัตร” รอบนี้ ก็จัดหนักจัดเต็ม มั่นใจมากว่า ชนะเลือกตั้งแน่และอาจจะได้ส.ส.แตะที่ระดับขั้นต่ำ 220 เสียง 

สภาพการตั้งรับของพลังประชารัฐ ที่หนักหน่วงดังกล่าว แล้วมาเจอข้อจำกัดของพลเอกประยุทธ์ ที่เป็นนายกฯต่อได้ไม่ถึงสองปี ทั้งหมด ทำให้ พลังประชารัฐ เสียเปรียบพรรคคู่แข่ง ตอนหาเสียงเลือกตั้งแน่นอน 

โดยเฉพาะพรรคการเมืองที่เน้นเจาะกลุ่มฐานเสียงเดียวกัน เช่น ประชาธิปัตย์ในภาคใต้และกรุงเทพมหานคร เป็นต้น เพราะอย่างไรเสีย ถึงตอนเลือกตั้ง แกนนำประชาธิปัตย์ และผู้สมัครส.ส.ของประชาธิปัตย์ ก็ต้องเอาประเด็นนี้มาตีให้เป็นจุดอ่อนของพลังประชารัฐตอนหาเสียง โดยยกประเด็นทำนองว่า หากเลือกพลังประชารัฐไป แล้วหากพลังประชารัฐ ได้เป็นแกนนำรัฐบาล ตัวพลเอกประยุทธ์ก็เป็นนายกฯได้ไม่นาน ก็ต้องลงจากตำแหน่ง งานก็จะสะดุด ไม่ต่อเนื่อง สู้มาเลือก จุรินทร์ ลักษณวิศิษฐ์ จากประชาธิปัตย์ดีกว่า 

รับประกันได้ ได้เห็นการหาเสียงแนวนี้แน่นอน โดยเฉพาะในพื้นที่ ที่ประชาธิปัตย์แข่งกับพลังประชารัฐหนักๆ เช่นที่ภาคใต้ และกทม. 

มันจึงเป็นความจำเป็นทางการเมืองที่ “บิ๊กป้อม พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ” รวมถึงแกนนำพรรคพลังประชารัฐ ต้องแก้เกม ปรับแนวทางพรรคใหม่ ในการชูแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เพราะจะทำแบบเดิมตอนปี 2562 ไม่ได้แล้ว ที่ตอนนั้น พลังประชารัฐ เสนอชื่อพลเอกประยุทธ์เป็นนายกฯแค่คนเดียว แต่รอบนี้ เมื่อเทอมของพลเอกประยุทธ์เหลือแค่ไม่ถึงสองปี และกระแสลุงตู่ ไม่ขลังเหมือนเดิม พลังประชารัฐ ก็ต้องใช้วิธี เสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯ มากกว่าหนึ่งชื่อและเน้นการหาเสียงเชิงผลงานรัฐบาลพลังประชารัฐ-นโยบายพรรค เป็นหลัก    เบื้องต้น แผนที่พลังประชารัฐ วางไว้ ดันมาถูกเปิดออกเร็วกว่าที่หลายคนคาดคิด เพราะเดิมทีคิดกันว่าน่าจะออกมาช่วงปลายปีหรือใกล้ๆ เลือกตั้ง แต่สุดท้าย ดันออกมาหลังศาลรัฐธรรมนูญ เสร็จสิ้นการตัดสินคดีแปดปี แค่ข้ามวัน 

กับการเปิดเผยแนวทางของพลังประชารัฐ ผ่าน “วีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พลังประชารัฐ” ที่แม้ภาพภายนอก จะถูกมองว่าใกล้ชิดกับ วิรัช รัตนเศรษฐ อดีตประธานวิปรัฐบาล แต่ลึกๆ ข่าวว่า วีระกร เป็นหนึ่งในนักการเมืองที่เข้านอกออกในบ้านป่ารอยต่อฯ บ่อยครั้งพอสมควร 

โดย “วีระกร” เปิดชัดๆ ถึงแผนของพลังประชารัฐว่า ตอนเลือกตั้งทางพรรค จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีสามชื่อคือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา-พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ส่วนอีกหนึ่งคนกำลังพิจารณาอยู่ แต่ว่าหากพลังประชารัฐ ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ก็จะดันพลเอกประวิตร เป็นนายกฯไม่ใช่พลเอกประยุทธ์ 

“พลังประชารัฐในการเลือกตั้งรอบหน้าเชื่อว่าจะเสนอรายชื่อให้ครบทั้ง 3 คน ไม่เสนอแค่คนเดียว จะเสนอชื่อทั้งพล.อ. ประยุทธ์ , พล.อ.ประวิตร อีกคนกำลังพิจารณาอยู่ อย่างไรก็ตามเมื่อถึงตอนเสนอชื่อนายกฯเพื่อโหวตในสภาฯนั้น คงต้องเสนอชื่อพล.อ.ประวิตร เพราะพล.อ. ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อได้แค่ 2 ปี อาจให้พล.อ.ประยุทธ์เป็นรองนายกฯ หรือรมว. กลาโหม หรือโยกเป็นรมว.มหาดไทยก็ได้” 

เท่านั้นเอง ทำเอาแวดวงการเมือง ตะลึงกันหมด เพราะไม่คิดว่า พลังประชารัฐ จะลดบทบาทพลเอกประยุทธ์เร็วเพียงนี้ ชนิดไม่ทันข้ามวัน ก็ประกาศออกมาว่า เลือกตั้งรอบหน้า แค่เอาชื่อมาใส่นะให้ครบๆ ไปสามชื่อ แต่ชื่อจริง-ตัวจริงคือพลเอกประวิตร 

ทั้งที่พลเอกประยุทธ์ ก็ยังไม่ได้ออกมาบอกเลยว่า จะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของตัวเองอย่างไร จะลงเลือกตั้งรอบหน้า หรือจะหยุดพัก เพราะก็มีการมองกันว่า พลเอกประยุทธ์ อาจขอพักอยู่ข้างสนามการเมืองก็ได้ ไม่ลงมาเล่นเอง เพราะเทอมสองปีดังกล่าว ไม่จำเป็นต้องใช้ให้หมดโควตาทันที คือไม่จำเป็นต้องเป็นนายกฯต่อเนื่องไปจนถึงปี 2568 ก็ได้ อาจจะพักไปสักระยะก่อนก็ได้แล้วอาจกลับมาการเมืองอีกครั้งถ้ามีโอกาส  แต่กลับมาถูกคนในพลังประชารัฐ ประกาศลดความสำคัญลงแต่หัววันผ่านสื่อ  

เรียกได้ว่าเป็นท่าทีซึ่ง บิ๊กป้อม เองก็คงไม่สบายใจ เพราะจะทำให้เกิดภาพความแตกร้าว การแย่งชิงอำนาจกันของ 3 ป. ถูกพูดถึงเพ่งเล็งขึ้นมาอีก อีกทั้ง ทำให้ ส.ส.-ว่าที่ผู้สมัครส.ส. ที่รู้ดีว่า ที่ตัวเองได้เป็นส.ส.เพราะกระแสลุงตู่ คงหนักใจขึ้นมาทันที เพราะหากเป็นแบบนี้ ประชาชนในพื้นที่ที่ยังหนุนลุงตู่ อาจเปลี่ยนใจไม่สนับสนุนแล้ว เพราะมองว่าเลือกไป ลุงตู่ก็ไม่ได้เป็นนายกฯไปเลือกคนอื่น พรรคอื่นดีกว่า เจอแบบนี้ ส.ส.พลังประชารัฐ อาจถึงขั้นต้องย้ายพรรคเลยก็ได้ 

เลยไม่แปลกที่ พลังประชารัฐ จะเกิดสภาพปั่นป่วนขึ้นมาทันที จนต้องให้โฆษกพรรคและแกนนำพรรค รีบชิงออกมาปฏิเสธว่า แนวทางดังกล่าวของวีระกร แค่ความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ท่าทีหรือมติพรรค 

เรื่องนี้ต้องดูกันต่อไปว่า ท่าทีของพลเอกประยุทธ์หลังรับรู้สิ่งที่คนพลังประชารัฐ คิดลดบทบาทตัวพลเอกประยุทธ์ลง จะมีความรู้สึกอย่างไร และจะตัดสินใจอย่างไร อย่างไรก็ดี ตัวพลเอกประยุทธ์ก็รู้ข้อจำกัดของตัวเองดีว่า การที่เหลือเทอมแค่สองปี ทำให้พลังประชารัฐ ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางพรรค จะมาทำเหมือนตอนเลือกตั้งปี 2562 ไม่ได้ที่เสนอชื่อแค่บิ๊กตู่คนเดียว 

ขณะเดียวกัน หากพลเอกประยุทธ์ ปฏิเสธไม่เอาแนวทางนี้ ของพลังประชารัฐ จะถูกมองว่าไม่อยากให้พี่ป้อม ได้มีโอกาสทางการเมืองบ้างส่วนครั้นจะสวิงไปอยู่พรรคอื่น เพื่อให้พรรคดังกล่าวเสนอชื่อตนเองเพียงชื่อเดียวอย่าง “รวมไทยสร้างชาติ” ของพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค  ชั่วโมงนี้ก็ไม่ง่ายแล้ว เพราะต้องยอมรับว่า กระแสพรรครวมไทยสร้างชาติ ไม่เป็นที่ติดตลาดการเมืองอย่างที่หลายคนคาดคิด จนคนประเมินกันว่า รวมไทยสร้างชาติ ไม่น่าจะได้ส.ส.เกิน 25 คนหลังเลือกตั้ง ที่เป็นเกณฑ์ขั้นต่ำที่พรรคการเมือง จะเสนอชื่อแคนดิเดตนายกฯของตัวเองลงชิงนายกฯต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ 

จึงน่าสนใจว่า สุดท้ายแล้ว พลเอกประยุทธ์จะเลือกเส้นทางการเมืองแบบไหน จะอยู่กับพลังประชารัฐต่อไป โดยเป็น 1 ใน 3 ชื่อแคนดิเดตนายกฯของพรรค แต่ก็พร้อมจะเปิดทางให้พลเอกประวิตร มีโอกาสมากกว่าในการชิงเก้าอี้นายกฯ หรือจะไปอยู่พรรคอื่น แต่ก็ต้องแบกรับความเสี่ยงที่พรรคดังกล่าว อาจไม่ได้ส.ส.เกิน 25 คน หรือสุดท้าย เลือกที่จะวางมือการเมือง ชั่วคราว ไม่ไปอยู่เป็นแคนดิเดตนายกฯพรรคไหนทั้งสิ้น แต่จะมาช่วยงานตามที่มีโอกาส เช่น หากพลังประชารัฐได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลจริง พลเอกประวิตร เป็นนายกฯขึ้นมาจริงๆ ก็อาจมาช่วยเป็นรองนายกฯควบรมว.กลาโหม เป็นต้น 

ความชัดเจนตรงนี้ คาดได้ว่า คงเกิดขึ้นหลังการประชุมเอเปกในเดือนพ.ย.ที่จะถึงนี้เสร็จสิ้นลง ที่พลเอกประยุทธ์ต้องตัดสินใจแล้วว่า อนาคตการเมืองของตัวเอง จะเดินต่อไปอย่างไร 

แสดงความเห็น