“สมศักดิ์” จี้ ราชทัณฑ์ ส่งผู้ต้องขังออกทำงาน หลังเอกชนกว่า 50 บริษัท ต้องการจ้างงาน 1 พันคน 

“สมศักดิ์” จี้ “ราชทัณฑ์” ส่งผู้ต้องขังออกทำงาน ให้ทันต่อความต้องการ หลังเอกชนกว่า 50 บริษัท ต้องการจ้างงาน 1 พันคน สั่ง บูรณาการร่วม “คุมประพฤติ” เตรียมติดกำไลอีเอ็มให้พร้อม หวังทำงานเร็วขึ้น หลังตั้งกรมใหม่ยังทำได้ช้า มุ่งมั่น ช่วยแก้ปัญหานักโทษทำผิดซ้ำอย่างเป็นรูปธรรม  

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้าโครงการนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ว่า ตนได้เรียกทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือ เพื่อเพิ่มความคล่องตัวในการส่งผู้ต้องขังออกไปทำงาน พร้อมสั่งการให้บูรณาการร่วมกับกรมคุมประพฤติ ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องกำไลอีเอ็ม เพราะการจะส่งผู้ต้องขังออกไปทำงาน ต้องติดกำไลอีเอ็ม เพื่อควบคุมในเรื่องของความปลอดภัย

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้ เราจะแก้ปัญหาที่สุมเอาไว้ คือ ผู้ต้องขังจำนวนไม่น้อยเมื่อพ้นโทษ ก็จะออกไปทำผิดซ้ำ ดังนั้น กระทรวงยุติธรรม ต้องปรับเป็นกระทรวงกึ่งหางาน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับผู้ต้องขังที่ใกล้จะพ้นโทษแล้ว เพราะจากข้อมูลพบว่า สาเหตุที่ผู้พ้นโทษ กลับไปทำผิดซ้ำ เนื่องจากไม่มีงานทำ สังคมไม่ยอมรับ จึงเลือกทางผิดแบบเดิม 

“ตอนนี้ เราสามารถส่งผู้ต้องขัง ใส่กำไลอีเอ็ม ออกไปทำงานได้แล้ว แต่ยังได้จำนวนไม่มาก จึงต้องเร่งให้กรมราชทัณฑ์ พิจารณาผู้ต้องขังให้ทันต่อความต้องการของผู้ประกอบการ เพราะขณะนี้ มีผู้ประกอบการกว่า 50 บริษัท ต้องการจ้างงานกว่า 1 พันคน ดังนั้น ต้องรีบประสานกรมคุมประพฤติ ให้เตรียมพร้อมเรื่องกำไลอีเอ็ม และประสานกับผู้ประกอบการล่วงหน้า ซึ่งกรมราชทัณฑ์ ต้องพยายามลดขั้นตอน และทุกอย่างจะเร็วขึ้น” รมว.ยุติธรรม กล่าว 

นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้ เรามีองค์กรที่พร้อม เพียงแต่ยังไม่สามารถขับเคลื่อนได้ทุกกิ่ง โดยในตอนต้น คนยังไม่เยอะ เรายังสามารถบูรณาการร่วมกันทุกหน่วยงานไหว แต่ถ้าเริ่มมีอัตราการจ้างงานที่สูง ก็อาจจะต้องตั้งเป็นกรม เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบมากขึ้น และรวดเร็ว แต่ตอนนี้ ตนอยากให้ดึงภาคเอกชน เข้ามาช่วยเหลือก่อน ซึ่งจะทำให้การทำงานของเราเร็วขึ้นมาก ส่วนอนาคตหากกำไลอีเอ็ม ไม่เพียงพอ ก็ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งศึกษาว่า เราจะทำลักษณะใดได้บ้าง เพราะตนต้องการแก้ปัญหานี้ แบบยั่งยืน โดยหากผู้ต้องขังมีงานทำในช่วงใกล้พ้นโทษ ก็จะมีเงินทุนติดตัว ไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ ซึ่งจะช่วยลดการกลับไปกระทำผิดซ้ำได้อย่างเป็นรูปธรรม 

แสดงความเห็น