เคาะ 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเล็ก-ตั้งใหม่ บักโกรก-ดิ้นหนีตาย 

คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. รัฐสภา ที่มี “สาธิต ปิตุเตชะ” จากพรรคประชาธิปัตย์เป็นประธาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 พ.ค. ได้มีมติเห็นชอบให้เขียนร่างพ.ร.บ.การเลือกตั้งส.ส.ฯ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมในเรื่อง “สูตรคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ”

โดยให้ใช้สูตรนำ 100 ที่ก็คือจำนวนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ไปหารด้วยคะแนนรวมในบัตรเลือกตั้งส.ส.บัญชีรายชื่อของทุกพรรคการเมืองทั่วประเทศ จนได้ตัวเลขเป็นฐานคะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคน จากนั้นก็นำคะแนนของแต่ละพรรคการเมือง มาดูว่าแต่ละพรรคได้คะแนนเท่าใด แล้วก็คิดออกมาเป็นสัดส่วนเก้าอี้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ที่แต่ละพรรคจะได้ในสภาฯ จนครบ 100 คน

ยกตัวอย่าง หากบัตรคะแนนเสียงเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์ทั่วประเทศ รวมกันแล้ว มีทั้งสิ้น 37,000,000 คะแนน ก็นำ 37,000,000 ไปหารด้วย 100 ก็เท่ากับ จะได้ 370,000 คะแนนต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 1 คน

สมมุติว่าพรรค ก.ได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ 1,000,000 คะแนน เมื่อ 370,000 คะแนน ไปคำนวนก็เท่ากับ พรรคก.จะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 2.7 คน หรือประมาณสองคนเท่านั้น!

เรียกได้ว่า สูตร 100 หารคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ พรรคขนาดเล็ก-พรรคปัดเศษ ในสภาฯเวลานี้ ที่ได้ปาร์ตี้ลิสต์กันมา 1-10 เก้าอี้ เพราะตอนเลือกตั้งปี 2562 ที่ใช้บัตรใบเดียวและใช้ระบบส.ส.ที่แต่ละพรรคการเมืองพึงมี โดยฐานคะแนนอยู่ที่แค่ประมาณ 71,000 คะแนน แล้วก็ไล่คะแนนลงมาเรื่อยๆ

จนเกิดทฤษฎีคิดคะแนนแบบ “ส.ส.ปัดเศษ” ต่อส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์หนึ่งคน ที่ทำให้พรรคปัดเศษ พรรคจิ๋ว ทั้งหลาย ได้พาเหรดเดินเข้าสภาฯ กันเป็นทิวแถว เช่น “พลังธรรมใหม่” ของนพ.ระวี มาศฉมาดล ที่เป็นแกนนำพรรคเล็ก-กลาง ในการพยายามล้มบัตรเลือกตั้งสองใบ ด้วยการยื่นศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัย การแก้ไขรธน.ครั้งล่าสุดว่าขัดรัฐธรรมนูญ แต่สุดท้าย ศาลรธน.ไม่รับคำร้อง

แต่นพ.ระวี ก็ยังเคลื่อนไหวกับพรรคเล็กและกลุ่มส.ว.บางส่วน  เพื่อหวังให้กมธ.เคาะสูตรหารด้วย 500 เพราะสูตร 500 หาร จะทำให้ ฐานคะแนนคิดเก้าอี้ปาร์ตี้ลิสต์เหลือแค่ 148,000 คะแนนเท่านั้น ซึ่งเหตุที่นพ.ระวี ดิ้นรนดังกล่าว โดยพยายามไปจับมือกับพรรคขนาดกลางและเล็ก มองได้ว่า ก็เพราะนพ.ระวี รู้ตัวเองดีว่าหากใช้สูตรหาร 100 พรรคพลังธรรมใหม่ของตัวเองคงไม่ได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์แม้แต่คนเดียว

เพราะการเลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังธรรมใหม่ได้คะแนนมาแค่ 35,533 คะแนน และกกต.คิดคะแนนแบบปัดเศษ จนตัวหมอระวี ได้เข้ามาเป็นส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ แต่หากใช้ระบบใหม่ 100 หาร เท่ากับ ต้องหาคะแนนเพิ่มจากเดิมถึงร่วมสิบเท่า ที่ยากยิ่งกว่าเข็นครกขึ้นภูเขา โอกาสจะได้ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์สักหนึ่งเก้าอี้ เลือดตาแทบกระเด็น 

แต่แม้หมอระวี และกลุ่มพรรคขนาดกลางและพรรคเล็ก รวมถึงสมาชิกวุฒิสภาบางส่วน ที่อยู่ในคณะกรรมาธิการแก้ไขกฎหมายเลือกตั้งส.ส.จะพยายามล็อบบี้ประสานเสียงในกมธ.ให้เอาด้วยกับสูตรหาร 500 มาร่วมเดือน แต่สุดท้าย ก็ไม่สำเร็จ

ยิ่งเมื่อหมอระวี ยอมรับเองว่า สูตรหาร 500 น่าจะขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 91 ก็ยิ่งทำให้ แนวร่วมที่จะเอาด้วยก็ลังเลใจ ผนวกกับ กรรมาธิการสายเพื่อไทย-พลังประชารัฐ-ประชาธิปัตย์ จับมือกันค่อนข้างแน่น ตามแนวทางที่แกนนำพรรคทั้งสามพรรค ยืนยันให้เอาสูตร 100 หาร แม้แต่ ฝ่ายพรรคภูมิใจไทย จากเดิมที่แม้อาจไม่เห็นด้วยกับบัตรสองใบและสูตร 100 หาร แต่เมื่อแกนนำพรรคประเมินแล้วว่า ถึงจะเป็น 100 หาร ก็สู้ได้ และเก้าอี้ส.ส.ที่ภูมิใจไทย หวังจะมาจากเก้าอี้ส.ส.เขตมากกว่า อีกทั้งก็น่าจะได้คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ด้วยจำนวนหนึ่ง ทำให้ กมธ.จากภูมิใจไทยก็เอาด้วย เช่นเดียวกับ กรรมาธิการจากพรรคก้าวไกล เอาด้วยเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ แม้ต่อให้มีกรรมาธิการจากส.ว. จะลงมติไม่เห็นด้วยกับสูตร 100 หารถึง 9 คน แต่รวมเสียงแล้วก็แพ้กมธ.ฯจากฝ่ายพรรครัฐบาลและฝ่ายค้าน เพราะมีแค่กมธ.จากพรรคเล็ก คือนพ.ระวี และ สมชัย ศรีสุทธิยากร จากเสรีรวมไทยที่ไม่เอาสูตร 100 หาร

ด้วยเหตุนี้ เสียงส่วนใหญ่ จึงเอาด้วยกับสูตร 100 หาร ด้วยคะแนนเสียง  32 เสียง ไม่เห็นด้วย 11 เสียง และงดออกเสียง 2 เสียง

อย่างไรก็ตาม กระบวนการดังกล่าว ยังไม่จบ ฝ่ายที่หวังล้มสูตร 100 หาร ยังหวังได้อีกสองยก แม้ดูแล้ว อาจหวังยาก

ยกแรกก็คือ “การพิจารณาของที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ฯวาระสอง” เรียงรายมาตรา เพราะก็ยังมีโอกาสพลิกได้อยู่ หากเสียงส่วนใหญ่ของที่ประชุมร่วมรัฐสภา คือส.ส.และส.ว.รวมกันแล้ว ได้เกินกึ่งหนึ่ง มีมติไม่เอาด้วยกับสูตร 100 หาร แล้วไปเอาสูตร 500 หารมาแทน

แต่หากดูความเป็นไปได้ของเรื่องนี้ ถ้าหากพรรคการเมืองต่างๆทั้งเพื่อไทย พลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ ภูมิใจไทย ก้าวไกล จับมือกันแน่น ไม่มีเปลี่ยนท่าที คือจะเอาสูตร 100 หาร โดยเมื่อโหวตรวมเสียงกัน แล้วมีส.ว.อีกบางส่วนมารวมโหวตด้วยให้เอาสูตร 100 หาร แค่นี้ ก็ผ่านฉลุยแล้ว โอกาสพลิกยาก      ยิ่งเมื่อดูข้อกฎหมายแล้ว หากใช้ 500 หาร เสี่ยงจะขัดรธน.และข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ย่อมทำให้ ส.ส.-ส.ว. ก็ไม่อยากเสี่ยง 

แม้จะมีการมองกันว่า ตอนพิจารณาวาระสอง ไม่แน่ ส.ส.แต่ละพรรคอาจเสียงแตก อาจจะมีส.ส.พรรครัฐบาล -ฝ่ายค้านบางส่วน อาจไม่เห็นด้วย กับสูตร 100 หาร แล้วจะไม่โหวตสนับสนุน รวมถึงส.ว.250 คนจับมือกันแน่น ให้ได้สัก 230 เสียง แล้วรวมเสียงส.ส.พรรคขนาดกลาง-เล็ก กันได้จำนวนหนึ่ง แล้วมีส.ส.พรรคใหญ่ บางส่วนเอาด้วย ก็อาจรวมเสียงได้จำนวนหนึ่งโดยมีการล็อบบี้กันหนักๆ เพื่อรวมเสียงให้ได้เพื่อหวังพลิกมติกมธ.ฯ ล้มสูตร 100 หาร

ในทางการเมือง ก็อาจคิดมุมนี้ได้ แต่คำถามคือว่า หากล้มสูตร 100 หารแล้วสูตร 500 หาร ก็เดินหน้าไม่ได้เพราะเสี่ยงขัดรธน. -ข้อบังคับการประชุมรัฐสภา

ดังนั้น ถ้าไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ มันก็ยากที่จะมีส.ส.-ส.ว. จำนวนหลายร้อยคนเอาด้วย ยิ่งกับส.ว.เอง ก็อาจบอกว่า กฎหมายเลือกตั้งส.ส.ดังกล่าวเป็นเรื่องของส.ส. พวกส.ว.ไม่ควรไปยุ่ง ก็อาจทำให้ส.ว.ก็ไม่อยากไปยุ่งอะไรมาก เสียงส่วนใหญ่ว่ายังไง ก็เอาแบบนั้น ให้ยึดร่างกมธ.เป็นหลัก ก็อาจทำให้ส.ว.ไม่อยากมายุ่งกับการล้มสูตร 100 หาร ในวาระสอง

ดังนั้น ถ้าจะมีบางฝ่ายพยายามล้มสูตร 100 หาร คงต้องมีคำตอบที่ดีให้กับส.ส.-ส.ว. จำนวนมากที่จะไปโน้มน้าวมาว่า ถ้าล้มสูตร 100 หารไปแล้ว จะใช้สูตรไหน แลวสูตรดังกล่าว ขัดรธน.หรือไม่ ถ้าตอบตรงนี้ไม่ได้ ก็ยากที่จะไปล้มสูตร 100 หาร หากพรรค อย่าง เพื่อไทย พลังประชารัฐ ภูมิใจไทย ก้าวไกล ประชาธิปัตย์ ไม่เล่นด้วย

กับอีกทางที่กลุ่มหวังล้มสูตร 100 หาร คาดหวังไว้ว่าอาจจะทำให้ สูตร 100 หารสะดุดก็คือ “คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ” ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว เรื่องนี้ไม่ต้องมีการเข้าชื่อให้ศาลรธน.วินิจฉัย ศาลก็ต้องวินิจฉัยอยู่แล้ว เพราะตามรัฐธรรมนูญบัญญัติว่า กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ยกร่างและมีการแก้ไขและผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภาในวาระสามแล้ว  ต้องส่งให้องค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาก่อน นำขึ้นทูลเกล้าฯ

ดังนั้น ยังไง ศาลรธน.ก็ต้องพิจารณากฎหมายเลือกตั้งส.ส.ฯอยู่แล้ว และยิ่งประเด็นแบบนี้ที่มีการถกเถียงกันกว้างขวาง มีข้อถกเถียงกันมากมาย ว่าสูตร 100 หาร ก็อาจขัดรธน.เช่นกัน เรื่องแบบนี้ ศาลไม่พลาดแน่นอนที่จะวินิจฉัย ว่าสุดท้ายแล้ว หากรัฐสภา เห็นชอบให้ใช้สูตร 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ สูตรดังกล่าว ศาลมองว่า ขัดหรือไม่ขัดรธน. ซึ่งหากศาลเห็นว่าไม่ขัด และส่วนอื่นๆที่ยกร่างมาไม่มีอะไรมีปัญหา ก็จบ ก็รอนำขึ้นทูลเกล้าฯต่อไป แต่หากศาลรธน.เห็นว่า เนื้อหาในร่างพ.ร.บ.เลือกตั้งส.ส.ฯ บางส่วนโดยเฉพาะเรื่องสูตร 100 หาร ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ ศาลก็จะตีกลับ แล้วรัฐสภา ก็ต้องมาพิจารณากันอีกทีว่าจะเอายังไง ถ้าเป็นแบบนี้ ก็เท่ากับสูตร 100 หาร สะดุด นั่นเอง

ดังนั้น พรรคเล็ก-พรรคขนาดกลางรวมถึงพรรคการเมืองตั้งใหม่จำนวนมากในเวลานี้ ที่หวังสัดส่วน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ก็ยังมีให้ลุ้นอีกสองยก คือในชั้นการพิจารณาของรัฐสภาวาระสอง กับในชั้นศาลรธน. แม้จะเป็นการลุ้นที่โอกาส จะได้เฮ อาจลุ้นยากสักหน่อย แต่ก็ดีกว่า ไม่ได้ลุ้นอะไร

เพราะอย่างที่เห็น หากใช้สูตร 100 หารปาร์ตี้ลิสต์ พรรคเล็ก-พรรคตั้งใหม่ ที่ยังไม่มีฐานเสียง โอกาสจะเบียดสู้ เอาสัดส่วนส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ในสภาฯ  ก็เหนื่อย บางพรรค ดูแล้ว เห็นอนาคตตั้งแต่ตอนนี้แล้วว่า เสี่ยงสูญพันธุ์สูง

แสดงความเห็น