รัฐสภา เดินหน้าอภิปรายร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง “เพื่อไทย”  ขอให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ 

รัฐสภา เดินหน้าอภิปรายร่างพ.ร.ป.เลือกตั้ง มาตรา24/1 แล้ว “สมชัย” บอกออกแบบเพื่ออุดปัญหาการเลือกตั้ง  พบ มีสมาชิกแสดงตนเกินองค์ประชุม แต่  “เพื่อไทย”  ดิ้นสู้ให้นับองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ หวั่นมีคนกดบัตรแทนกัน

ในการประชุมร่วมรัฐสภา วาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตัง ส.ส. (ฉบับที่…) พ.ศ…. วาระสอง ต่อเนื่องในมาตรา 24/1  ซึ่งกมธ.ได้เพิ่มขึ้นใหม่ โดยมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ 

ทั้งนี้ในการพิจารณานั้น กมธ. เสียงข้างน้อย ได้อภิปรายโต้แย้ง ทั้ง นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา, นายชูศักดิ์ ศิรินิล กมธ., นายพงษ์เทพ เทพกาญจนา กมธ., นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่เห็นด้วยกับเนื้อหาที่กมธ.เสียงข้างมากเพิ่มเติมเนื้อหา เพราะมองว่าเป็นบทบัญญัติที่เขียนขึ้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม ฉบับที่1 พ.ศ.2564 ซึ่งแก้ไขมาตรา 83 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง , มาตรา 91 ว่าด้วยวิธีคำนวณส.ส.บัญชีรายชื่อ และ มาตรา 92 ว่าด้วยการคำนวณส.ส.ในกรณี ที่เขตเลือกตั้งนั้นคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นส.ส. (โหวตโน) ชนะ ผู้สมัคร ส.ส.เขต และอาจจะขัดต่อในหลักการของการเสนอร่างพ.ร.ป.เลือกตั้งที่เสนอให้รัฐสภารับหลักการ

ทั้งนี้นายชูศักดิ์ กล่าวย้ำว่า มาตราที่กมธ.เสียงข้างมากซึ่งเสนอต่อที่ประชุมนั้นสุ่มเสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ และส่วนตัวมองว่ายิ่งกว่าสุ่มเสี่ยง

ขณะที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กมธ.เสียงข้างมาก ชี้แจงยืนยันว่าการเพิ่มมาตราดังกล่าวทำงานด้วยความรอบคอบ และเป็นร่างกฎหมายที่สมบูรณ์มากที่สุด เพราะการเขียนกฎหมายที่สอดคล้องกับการลงมติไปแล้วต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย รวมถึงความสอดคล้องของรัฐธรรมนูญ  และคำนึงถึงการแก้ปัญหาในทางปฏิบัติให้กับ กกต. ที่อาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยระบบเลือกตั้งมีความไม่สมบูรณ์ 

นายสมชัย กล่าวย้ำว่า เนื้อหาที่ปรับเพิ่มใหม่ นั้นไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 91 เพราะนำคะแนนของพรรคการเมืองที่ได้รับรวมกันทั้งประเทศ และเป็นสัดส่วนโดยตรงที่สัมพันธ์ เพราะใช้จำนวน 500 คนหาค่าเฉลี่ย   ส่วนที่สมาชิกบอกว่า กกต. จะปฏิบัติไม่ได้ และมีความเห็นแย้ง ควรรอให้กกต.ทำความเห็นมายังสภา หรือมองว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ควรรอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ

“ที่บอกว่าบัตร 2 ใบ ไม่สามารถจัดสรรปันส่วนไม่ได้ เข้าใจผิด เพราะระบบ MMP ของเยอรมันใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และใช้วิธีจัดสรรปันส่วน แต่ออกแบบบัตรเลือกตั้งพิมพ์ในใบเดียว คือ มีเขตและบัญชีรายชื่อ ส่วนข้อกังวลของสมาชิกที่บอกว่าจะทำให้ส.ส.เขตมาก และโอกาสที่พรรคไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อ  การออกแบบเลือกตั้งไม่ว่าระบบใดก็แล้วแต่มีดีและเสียและคนได้ประโยชน์ เสียประโยชน์ แต่ประโยชน์ที่ได้รับกับประเทศชาติและประชาชนส่วนรวมคืออะไร”  นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวด้วยว่า กรณีที่เป็นระบบบัตร 2 ใบนับแบบคู่ขนาน จะเป็นการส่งเสริมการเมืองไทย เกิดระบบพรรคการเมืองใหญ่ 2-3 พรรค จะทำให้เกิดการแข่งขันน้อยลงประชาชนเลือกภายใต้พรรคที่จำกัด  ส่วนการจัดสรรปันส่วนผสม ทำให้รัฐสภามีพรรคการเมืองหลากหลาย แต่ทำให้เกิดพรรคมาก ไม่เกิดประโยชน์กับเสถียภาพของรัฐบาล 

“กรณีจัดปันส่วนผสม ดูสิ่งที่พึงมี ว่าพรรคการเมืองแต่ละพรรคได้คะแนนเสียงภาพรวมทั้งประเทศเท่าไร จะได้ส.ส.ในสภากี่คนหากได้เขตมาก การได้สมทบจากบัญชีรายชื่อ เป็นธรรมชาติ ดังนั้นรัฐสภาต้องเลือกว่าแนวทางใดจะเป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน” นายสมชัย กลาว

ต่อจากนั้นนายพิเชษฐ เชื้อเมืองพาน ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย ลุกประท้วงนายสมชัยและขอคำอธิบายที่ระบุว่า การเลือกตั้งที่พรรคไหนได้เขตเยอะ จะได้บัญชีรายชื่อน้อย เป็นธรรมชาติหรือ หาก ประชาชนที่ชอบพรรคการเมือง ลงคะแนนเลือกตั้ง 10 ล้านเสียง แต่ไม่ได้ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย ความยุติธรรม ความสมบูรณ์ร่างพ.ร.ป. นี้มีจริงหรือไม่

อย่างไรก็ดีบรรยากาศช่วงดังกล่าวเป็นไปด้วยความสับสน เมื่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย รองประธานรัฐสภา ไม่อนุญาตให้ซักถามและอธิบาย รวมถึงจะขอปิดการอภิปราย จนการประท้วงพาดพิงระหว่าง นายครูมานิตย์ สังข์พุ่ม ส.ส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย กับ นพ.ระวี มาศฉมาดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังธรรมใหม่ ที่มีการปะทะคารมจนต้องขอให้ถอนคำพาดพิงและคำที่ไม่เหมาะสม

จากนั้นนายสมชัย ได้ชี้แจงว่า หลังการเลือกตั้งไม่รู้ว่าพรรคใดจะเป็นพรรคขนาดใหญ่หรือพรรคขนาดเล็กเพราะประชาชนต้องตัดสินใจ ทั้งนี้ในการประชุมสภาฯ ที่ขาดประชุมเยอะ ประชาชนไม่เลือกก็ได้  ดังนั้นกติกาเลือกตั้งตนถือว่ารัฐสภาช่วยออกแบบ เมื่อออกแบบแล้วต้องยอมรับและเดินหน้าสู่กติกาดังกล่าว

หลังจากนั้นเมื่อไม่มีผู้อภิปรายแล้ว นายพรเพชร ได้ขอตรวจสอบองค์ประชุมก่อนที่จะลงมติ โดยกดสัญญาณเรียกสมาชิก เมื่อ   13.35 น.  และใช้เวลาพอสมควร ขณะเดียวกันส.ส.เพื่อไทย เรียกร้องให้รีบประกาศผลตรวจสอบองค์ประชุม  พร้อมแสดงความกังวลว่าจะมีการกดบัตรแทนกัน  อย่างไรก็ดีเมื่อแสดงผลพบว่ามี  ผู้แสดงตนรวม  367 คน 

แต่ก่อนจะลงมติ นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย  ใช้เอกสิทธิ์สมาชิกรัฐสภาเสนอให้ตรวจสอบองค์ประชุมด้วยการขานชื่อ  โดยมีสมาชิกรัฐสภาไม่เห็นด้วย เพราะจะใช้เวลานาน แต่นายพรเพชร ยืนยันว่าเมื่อมีผู้เสนอต้องปฏิบัติตาม

แสดงความเห็น