ทร. ยัน ซื้อเรือดำน้ำ แบบ จีทูจี ย้ำ ยังต้องการ เครื่องยนต์ MTU ของเยอรมัน

ทร. ยัน ซื้อเรือดำน้ำ แบบรัฐบาลต่อรัฐบาล ระบุ เครื่องยนต์ อยู่ระหว่างพิจารณาร่วมกัน เพื่อหาทางออก ย้ำความต้องการ ยังเป็นเครื่องยนต์ MTU ของเยอรมัน

พล.ร.ท.ปกครอง  มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ กล่าวถึงกรณีที่นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร ส.ส.มหาสารคามและรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย แถลงความไม่โปร่งใสในการจัดซื้อเรือดำน้ำ โดยกล่าวหาในหลายประเด็น โดยกองทัพเรือขอชี้แจงในประเด็นที่ว่าการจัดซื้อแบบจีทูจี เป็นการจัดซื้อจีทูจีที่ไม่จริงนั้น ขอเรียนว่าการดำเนินการจัดหาเรือดำน้ำ ระยะที่ 1 ของกองทัพเรือนั้น เป็นการดำเนินการโดยรัฐบาลต่อรัฐบาล (G to G ) และมีการดำเนินการตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับของทางราชการในทุกขั้นตอน เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี และได้ผ่านการพิจารณาความถูกต้องด้านกฎหมายจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ ทั้งกระทรวงการต่างประเทศ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนที่จะเสนอให้ ครม. อนุมัติให้ ผู้บัญชาการทหารเรือหรือผู้แทน เป็นตัวแทนรัฐบาลไทยไปลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือดำน้ำลำที่ 1 ดังกล่าว สำหรับฝ่ายรัฐบาลจีน โดย The State Administration of Science, Technology and Industry for National Defense (SASTIND) ในฐานะหน่วยงานของรัฐบาลจีนสำหรับการบริหารงานด้านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและการส่งออกอาวุธ ได้มอบอำนาจให้บริษัท China Shipbuilding & Offshore International Co., Ltd. (CSOC) เป็นตัวแทนรัฐบาลจีนในการมาหารือเรื่องเทคนิคและราคา/เจรจาต่อรอง รวมทั้งลงนามในข้อตกลงจ้างสร้างเรือฯ กับกองทัพเรือไทย ในโครงการจัดหาเรือดำน้ำลำที่ 1 ในรูปแบบรัฐบาลต่อรัฐบาล

พล.ร.ท.ปกครอง กล่าวอีกว่า ส่วนประเด็นเรื่องความคืบหน้าในการก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำและข้อสงสัยที่ว่าผู้แทนบริษัท CSOC ที่เข้ามารับผิดชอบโครงการสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งโดยถูกต้องหรือไม่ กองทัพเรือขอชี้แจงให้ทราบว่า การก่อสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการบริหารสัญญา โดยกรมช่างโยธาทหารเรือ ในวงเงินทั้งสิ้น 857 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างเมื่อวันที่ 28 เม.ย.64 และสิ้นสุดวันที่ 17 เม.ย.66 รวม 720 วัน ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว 307 วัน โดยทางบริษัทได้เบิกล่วงหน้า 15 % เป็นเงิน 128 ล้านบาท ซึ่งได้มีการเร่งรัดเพื่อให้เป็นไปตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้ จากการตรวจสอบปัจจุบันมีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้วส่วนหนึ่ง ซึ่งหากบริษัทไม่สามารถก่อสร้างเสร็จตามสัญญาก้อจะถูกปรับหรือยกเลิกสัญญา ในส่วนของผู้แทนบริษัท CSOC ที่เข้ามารับผิดชอบโครงการสร้างท่าจอดเรือดำน้ำ เป็นผู้ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบโครงการฯ จากบริษัท CSOC โดยถูกต้องโดยมีเอกสารสัญญาที่ชัดเจน โดยมี นาย Lang Qingxu เป็นผู้บริหารโครงการ และมีนายจักรพงษ์ วงศ์ธนปกรณ์ เป็นวิศวกรโครงการ มีคุณวุฒิวิศวกรโยธาระดับสามัญ ส่วนบุคคลอื่น ๆ นั้น กรมช่างโยธาทหารเรือไม่อนุญาตให้เข้ามาในพื้นที่โครงการก่อสร้าง

โฆษกกองทัพเรือ กล่าวต่อว่า สำหรับประเด็นเรื่องการจัดซื้อเรือดำน้ำโดยไม่มีเครื่องยนต์ดีเซลขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเรือดำน้ำที่เยอรมันเป็นผู้ผลิต เนื่องจากเยอรมันไม่ออกใบอนุญาตการขายให้กับทางจีน แสดงว่ากองทัพเรือโดนหลอกทำสัญญาหรือไม่นั้น ขอชี้แจงว่าในการทำข้อตกลงจ้างฯ นั้น กำหนดให้เรือดำน้ำแบบ S26T มีเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รุ่น MTU396 จากเยอรมันได้ จำนวน 3 เครื่อง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของชุดเครื่องกำเนิดไฟฟ้า (Diesel Generator Set) ชัดเจน แต่เนื่องจากภายหลังเยอรมัน มีนโยบายการระงับการส่งออก(Embargo Policy) ซึ่งกำหนดให้เครื่องยนต์ดีเซลของเรือดำน้ำ เป็นสินค้าที่อยู่ในรายการควบคุมการส่งออก ส่งผลให้การจำหน่ายเครื่องยนต์ อะไหล่ หรือเครื่องยนต์ที่ผลิตด้วยเทคโนโลยีเยอรมัน ต้องได้รับอนุมัติจากรัฐบาลเยอรมัน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทางจีนต้องดำเนินการแก้ไข เนื่องจากกองทัพเรือได้ยืนยันความต้องการเครื่องยนต์ดีเซลสำหรับขับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า รุ่น MTU396 จากเยอรมัน ตามข้อตกลงไปแล้ว จึงเป็นสิ่งที่ทางจีนจะต้องทำตามข้อตกลง โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกันระหว่างกองทัพเรือกับบริษัท CSOC ในการหาทางออกแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกัน ทั้งนี้การดำเนินการต่าง ๆ ต้องเป็นไปตามข้อตกลงจ้างฯ รวมทั้งระเบียบ กฎหมาย ที่เกี่ยวข้องทุกประการ โดยกองทัพเรือคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ

“ขอยืนยันว่า กองทัพเรือมุ่งมั่นในการเป็นกองทัพเรือที่ประชาชนเชื่อมั่นและภาคภูมิใจ  เป็นที่พึ่งของประชาชน และบริหารจัดการด้วยความโปร่งใสสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งกระบวนการจัดหายุทโธปกรณ์เป็นไปตามระเบียบราชการทุกประการ โดยยึดถือประโยชน์ของกองทัพเรือและประเทศชาติเป็นหลัก” โฆษกกองทัพเรือ กล่าว

แสดงความเห็น