“สุริยะ” ชี้ เจรจาเลื่อนคำชี้ขาด ในชั้นอนุญาฯ เป็นความเท็จ บอก “ทักษิณ” อนุญาตให้สำรวจทำเหมืองแร่

“สุริยะ” ออกโรงป้องนายกฯ ชี้เจรจา เลื่อนคำชี้ขาด ในชั้นอนุญาโตตุลาการ เป็นความเท็จ บอก “ทักษิณ” อนุญาตให้สำรวจ ทำเหมืองแร่

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า กรณีที่นางสาวจิราพร สินธุไพร ส.ส.ร้อยเอ็ด พรรคเพื่อไทย กล่าวหาว่าการเจรจาเลื่อนคำชี้ขาดในชั้นอนุญาโตตุลาการทุกครั้ง ไทยจะมีสิทธิประโยชน์ให้บริษัทคิงส์เกตนั้น เป็นความเท็จทั้งนั้น ส่วนเรื่องที่อ้างว่าคิงส์เกตนำข้อมูลในชั้นอนุญาฯมาเปิดเผยได้ แต่ฝ่ายไทยกลับไม่เปิดเผย ขอเรียนว่าตามหลักการตราบใดที่ยังไม่ออกคำชี้ขาดทั้งสองฝ่ายไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ ส่วนข้อมูลที่คิงส์เกตนำมาเปิดเผยนั้นไม่ใช่ข้อมูลในคดี หรือจากการไต่สวน แต่เป็นข้อมูลในการยุติข้อพิพาทที่บริษัทอยากได้และเรียกร้อง ไม่ใช่ข้อตกลงของทั้งสองฝ่าย  ยืนยันหน่วยงานของกระทรวงอุตสาหกรรมก็เปิดเผยข้อมูลเช่นกัน โดยออกเป็นข่าวประชาสัมพันธ์

นายสุริยะ กล่าวว่า นอกจากนี้ ยังมีการกล่าวหาว่ามีการอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ 44 แปลง และอนุญาตให้ใช้ผงเงินผงทองที่ถูกอายัดไว้แต่แรก เพื่อแลกกับการให้คิงส์เกตถอนฟ้องไทยนั้น ก็ไม่เป็นความจริง อย่างไรก็ตาม การอนุญาตสำรวจและทำเหมืองแร่ เริ่มเปิดเหมืองตรงกับยุครัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร โดยบริษัท อัคราฯ ยื่นขอสำรวจเมื่อปี 2546 – 2548 ต่อมาปี 2549 คำขออยู่ระหว่างการพิจารณาเตรียมเสนอขออนุมัติแต่เกิดรัฐประหารก่อน กระทั่งปี 2550 สมัยพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เป็นนายกฯ มีมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ชะลอการอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษสำรวจแร่ทองคำไว้ก่อน เพื่อจัดทำนโยบายทองคำให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศและประชาชน กระทั่งปี 2557 ประชาชนรอบเหมืองประสบปัญหาสุขภาพจากการทำเหมือง และความขัดแย้งของประชาชนในพื้นที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จึงส่งหน่วยงานจาก 4 กระทรวงลงไปตรวจสอบ และมีข้อเสนอให้ยุติการทำเหมืองไว้ก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จึงมีคำสั่งคสช.ที่ 72/2559 เมื่อวันที่ 3 ธ.ค.59 ให้ยุติการทำเหมืองชั่วคราว และให้กระทรวงอุตสาหกรรม ไปปรับปรุงการทำเหมืองทองคำใหม่ ต่อมาวันที่ 1 ส.ค.60 ครม.มีมติรับทราบนโนบายทองคำ มีผลให้บริษัท อัคราฯ ยื่นขออนุญาตอาชญาบัตรพิเศษที่เคยยื่นค้างไว้ และที่บริษัท อัคราฯ ยังไม่กลับมาเดินเรื่องต่อทันที เพราะมีการฟ้องร้องคดีกันอยู่เกรงว่าจะกระทบรูปคดีในช่วงนั้น

“ช่วง 5 ปีที่ผ่านมาราคาทองคำสูงขึ้น เป็นเหตุให้บริษัท อัคราฯ กลับมาขอสำรวจแร่ กระทรวงอุตสาหกรรม จึงดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง จนอนุญาตอาชญาบัตรสำรวจแร่ให้ในเดือน พ.ย.63 หากสำรวจเจอแหล่งแร่ และประกอบการทำเหมืองทองคำได้ รัฐจะได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวง และค่าภาษีเงินได้นิติบุคคล รวมถึงมีการจ้างงานในพื้นที่ ที่สำคัญการออกอาชญาบัตร 4 แสนไร่ เป็นการให้สิทธิสำรวจแร่ในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่งพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่าไม่อนุญาตให้มีการสำรวจ ยืนยันว่า การอนุญาตอาชญาบัตรพิเศษพื้นที่ 44 แปลง เป็นการดำเนินการตามระเบียบกฎหมายทุกประการ ไม่มีการแทรกแซงเร่งรัดแลกเปลี่ยนกับการถอนฟ้องคดีแต่อย่างใด”  นายสุริยะ กล่าว

นายสุริยะ กล่าวอีกว่า ส่วนที่กล่าวหาว่าการอนุญาตให้บริษัท อัคราฯ เอาผงทองไปขายเพื่อแลกเปลี่ยนการถอนฟ้องคดีนั้น ในอดีตบริษัท อัคราฯ จะนำผงทองคำ และเงิน ที่ได้จากการทำเหมืองมาหลอมเป็นแท่งโลหะทองผสมเงินส่งออกต่างประเทศ แต่ช่วงที่คสช.ระงับการทำเหมืองตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.60 บริษัท อัคราฯ มีผงทอง ผงเงิน ค้างอยู่ ต่อมาวันที่ 9 ส.ค.60 มีการยกเลิกการระงับการประกอบกิจการชั่วคราว ดังนั้น ในหลักการบริษัท อัคราฯ สามารถนำผงทองคำ และเงิน ที่เหลือไปหลอมส่งออกต่างประเทศได้ ซึ่งไม่ใช่การนำทรัพยากรของชาติไปแลกแต่อย่างใด

แสดงความเห็น